'อโกด้า' หนุนรัฐ-ธุรกิจ-ทัวริสต์ฟื้นท่องเที่ยวยั่งยืน

'อโกด้า' หนุนรัฐ-ธุรกิจ-ทัวริสต์ฟื้นท่องเที่ยวยั่งยืน

“อโกด้า” หนุนท่องเที่ยวยั่งยืน ชูทุกฝ่าย “ภาครัฐ-ธุรกิจ-ทัวริสต์” ร่วมมือฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หลังพิษโควิด-19 กระทบเป็นวงกว้างล้มเป็นโดมิโน สะเทือนตำแหน่งงานกว่า 75 ล้านคน และรายได้ 10% ของเศรษฐกิจโลก

นายเดเมียน เฟิร์ช รองประธานฝ่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และโปรแกรม อโกด้า (Agoda) กล่าวว่า หลังจากโรคโควิด-19 แพร่ระบาด สั่นคลอนเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างรุนแรง ส่งผลต่ออุตสาหกรรมการเดินทางและท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่รับผลกระทบมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 10% ของเศรษฐกิจโลก เกิดผลกระทบแบบโดมิโนในระบบนิเวศทางธุรกิจ

“วิกฤติโควิด-19 ไม่ได้กระทบแค่ธุรกิจการบินและโรงแรมเท่านั้น แต่อีก 80% ของภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่พักขนาดเล็ก ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม ธุรกิจการทำความสะอาด ธุรกิจนำเที่ยว ไปจนถึงการขนส่ง ต่างก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยสภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (World Travel and Tourism Council) คาดการณ์ไว้ว่า ตำแหน่งงานมากถึง 75 ล้านตำแหน่งจะต้องเผชิญความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความรุนแรงของการแพร่ระบาด”

อโกด้าจึงมองว่าอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวจะสามารถฟื้นตัวได้ ด้วยการอาศัยความร่วมมืออย่างจริงจังของทุกฝ่าย ได้แก่ 1.การสนับสนุนจากภาครัฐ เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวคิดเป็น 1 ใน 10 ตำแหน่งงานของแรงงานในเอเชียแปซิฟิก อเมริกา และยุโรป และคิดเป็น 13.3% ของการจ้างงานทั้งหมดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายรัฐบาลได้ปล่อยแพ็คเกจการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ และร่วมมือกับผู้เล่นรายใหญ่ในอุตสาหกรรมและเหล่าธุรกิจเอสเอ็มอีเพื่อพัฒนาและส่งเสริมมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัยให้ธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวอีกครั้ง

2.ผู้เล่นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถใช้โอกาสนี้ปรับปรุงสินค้าและบริการ เตรียมพร้อมรับมือนักท่องเที่ยวในอนาคต โดยองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) ได้แนะนำให้ธุรกิจท่องเที่ยวให้ความสำคัญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พร้อมปรับตัวให้เข้ากับความคาดหวังใหม่ที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19

ทั้งนี้ผลการวิจัยของอโกด้าระบุว่านักท่องเที่ยวมีความคาดหวังมากขึ้นต่อประสบการณ์ที่ได้รับจากการเดินทางในช่วงทศวรรษ 2020 (ปี 2020-2029) รวมถึงเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่าเดิมเพื่อการจองห้องพักที่รวดเร็วและการเดินทางที่สะดวกสบาย นอกเหนือจากการปรับปรุงตัวเลือกในการชำระเงินและกระบวนการจองแล้ว พบว่า 1 ใน 2 ของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คาดหวังว่าการเช็คอินโดยใช้แอปพลิเคชั่นจะกลายเป็นบรรทัดฐานทั่วไปของโรงแรมหรือที่พักตากอากาศ โดยการเช็คอินแบบนี้อาจแพร่หลายมากขึ้นหลังสถานการณ์โควิด-19 เนื่องจากผู้คนอาจต้องการจำกัดการสัมผัสกับผู้อื่นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

และ 3.นักท่องเที่ยว แม้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป แต่หากรัฐบาลเริ่มยกเลิกข้อจำกัดด้านการเดินทางโดยที่ประชาชนยังไม่มีความเข้าใจร่วมกันในการเดินทางอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็จะเป็นไปอย่างเชื่องช้าและยากลำบาก

การระบาดของไวรัสครั้งนี้อาจทำให้เราหันมามองการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างจริงจังมากขึ้น นักท่องเที่ยวอาจตระหนักได้ว่าการเดินทางของตน รวมถึงการกระทำซึ่งอาจเกิดจากความเคยชินมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งอาจนำไปสู่การค้นหาโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หรือเลือกจุดหมายปลายทางในเมืองรองที่ไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก เพื่อช่วยกระจายรายได้และสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น”