‘หุ้นนิคม’ รับอานิสงส์ 2 เด้ง โควิดคลาย-เทรดวอร์คุกรุ่น

‘หุ้นนิคม’ รับอานิสงส์ 2 เด้ง  โควิดคลาย-เทรดวอร์คุกรุ่น

สถานการณ์แพร่ระบาดของ "โควิด-19" ในประเทศไทย ดูเหมือนจะทุเลาลงไปพอสมควร จนสามารถผ่อนคลายมาตรการ ‘ล็อกดาวน์’ ในระยะที่สอง และลุ้นว่าอาจจะผ่อนคลายระยะที่สามได้อีกในเดือน มิ.ย. นี้ หากตัวเลขของผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 10 รายต่อวัน

ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้ราคาหุ้นโดยภาพรวมของตลาดหุ้นไทยสามารถฟื้นตัวกลับมาได้ต่อเนื่อง

สำหรับหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีหุ้นหลักในกลุ่มอย่าง บมจ.ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น หรือ WHA และ บมจ.อมตะ คอร์ปอเรชั่น หรือ AMATA ล่าสุดยังคงปรับตัวขึ้นคึกคัก ซึ่งนอกจากแรงบวกดังกล่าวแล้ว หุ้นในกลุ่มนี้ดูเหมือนจะได้แรงหนุนจากการที่สงครามการค้าระหว่าง ‘สหรัฐฯ’ และ ‘จีน’ กลับมาคุกรุ่นอีกครั้ง

สรพงษ์ จักรธีรังกูร ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การที่นักลงทุนเริ่มกลับมาให้น้ำหนักกับหุ้นกลุ่มนิคมฯ มากขึ้น โดยหลักแล้วมีลักษณะเหมือนกับเมื่อปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นเพราะความคาดหวังต่อยอดขายที่ดินของบริษัทเหล่านี้น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ช่วยผลักดันให้ผู้ประกอบการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนมากขึ้น

“ที่ผ่านมา ผู้บริหารของทั้ง WHA และ AMATA ก็ยังคงสื่อสารในทำนองเดียวกันว่าการย้ายฐานการผลิตออกจากจีนยังมีต่อเนื่อง และไทยก็น่าจะเป็นหนึ่งในเป้าหมาย ด้วยจุดเด่นในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบกับราคาหุ้นในกลุ่มนิคมฯ ที่ปรับตัวลดลงมามากก่อนหน้านี้ ทำให้แรงซื้อกลับเข้ามามากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวรอบนี้ อาจจะต้องรอดูต่อไปในช่วงไตรมาส 2 และไตรมาส 3 นี้ ว่ายอดขายที่ดิน หรือความสนใจในการซื้อที่ดินจะเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ เพราะนักลงทุนจากจีนก็มีทางเลือกในการย้ายฐานนอกเหนือจากไทย อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย หากตัวเลขยอดขายที่ดินของไทยไม่เพิ่ม แต่เวียดนามเพิ่มขึ้น ก็อาจจะสะท้อนให้เห็นได้ว่านักลงทุนที่ย้ายฐานออกจากจีนเลือกไปเวียดนามแทนก็เป็นได้

ด้าน เบญจพล สุทธิ์วนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.เอเชีย เวลท์ เปิดเผยว่า ปัจจัยหนุนต่อหุ้นกลุ่มนิคมฯ มาจากทั้งสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุเลาลง และโอกาสย้ายฐานการผลิตเข้ามาในไทย หลังจากสงครามการค้าตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของกลุ่มนี้น่าจะชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยไตรมาส 2 นี้ น่าจะยังเห็นการหดตัวลงจากไตรมาสแรก

“ภาพรวมเรายังคงแนะนำซื้อสำหรับหุ้น AMATA และ WHA โดยคาดหวังการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งสงครามการค้าน่าจะเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็มีข้อได้เปรียบในเรื่องของโลเคชั่นและโครงสร้างพื้นฐานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว”

ด้าน บล.โนมูระ พัฒนสิน เปิดเผยว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์ของ WHA เมื่อวันที่ 18 พ.ค. ที่ผ่านมา บริษัทยังคงเป้าหมายปี 2563 แบ่งเป็นยอดขายที่ดิน 1,400 ไร่ และพื้นที่เช่า 250,000 ตร.ม. แต่เราคาดว่าการขายที่ดินอยู่ที่ 400 ไร่ จากความท้าทายค่อนข้างเยอะ เพราะได้รับแรงกดดันจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และยอดผลิตรถยนต์ที่ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งลูกค้ากลุ่มยานยนต์เป็นฐานลูกค้าหลัก นอกจากนี้ ในระยะสั้นยังได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากโควิด-19 ที่ทำให้นักลงทุนชะลอการเดินทางมาดูพื้นที่

ในส่วนของพื้นที่ให้เช่าเราไม่กังวลต่อเป้าหมายที่ 250,000 ตร.ม. เห็นได้จาก WHA อยู่ระหว่างการเจราจากับลูกค้าที่มีความเป็นไปได้หลายราย โดยรวม WHA ยังมีจุดเด่นจากลูกค้ากลุ่ม E-commerce ที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 ทำให้ความต้องการพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้น และคาดกำไรสุทธิครึ่งปีหลังจะเติบโตได้จากปีก่อน จากรับรู้รายได้จากการขายทรัพย์เข้ากองรีท ประกอบกับการปรับแผนการใช้น้ำไปในช่วงครึ่งหลังของปี ประเมินกำไรสุทธิปี 2563 อยู่ที่ 3,210 หดตัว 1% น้อยกว่ากลุ่มนิคมฯ ที่หดตัว 7% แนะนำ ซื้อ และคงราคาเป้าหมายที่ 3.3 บาท

สำหรับราคาหุ้นของกลุ่มนิคมฯ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา WHA เพิ่มขึ้น 24% มาอยู่ที่ 3.28 บาท AMATA เพิ่มขึ้น 11.5% มาอยู่ที่ 14.50 บาท ขณะที่ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2563 ต่างหดตัวทั้งคู่ โดย WHA กำไรสุทธิหดตัวแรงกว่า ทำได้ 99.25 ล้านบาท ลดลง 75.6% ส่วน AMATA มีกำไรสุทธิ 222.46 ล้านบาท ลดลง 19.6%