'กอช.' กองทุนการออมแห่งชาติ ตัวช่วยสะสมเงินบำนาญของกลุ่ม 'อาชีพอิสระ'

'กอช.' กองทุนการออมแห่งชาติ ตัวช่วยสะสมเงินบำนาญของกลุ่ม 'อาชีพอิสระ'

ทำความรู้จักกับ "กอช." หรือ กองทุนการออมแห่งชาติ กับบทบาทและหน้าที่สร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับคนไทย "กลุ่มอาชีพอิสระ" และวิธีเข้าร่วมกองทุน กอช.

"กองทุนการออมแห่งชาติ" หรือ "กอช." เป็นหน่วยงานที่รัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นกองทุนกลางที่ช่วยสนับสนุนการสะสมเงินเพื่อชีวิตวัยเกษียณของคนไทยที่ประกอบอาชีพอิสระจัดตั้ง ตาม พ.ร.บ. เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคน เข้าถึงสวัสดิการแห่งรัฐได้อย่างทั่วถึงและสร้างเงินบำนาญโดยสมัครใจ กอช. เปิดรับสมัครสมาชิกครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ภายใต้คอนเซ็ปต์ คุณออม รัฐช่วยออม คุณได้บำนาญ

สำหรับกติกาในการออมเงินกับ กอช. นั้น ผู้สมัครจะต้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย อายุ 15-60 ปี มีอาชีพอิสระ เช่น ค้าขาย รับจ้างทั่วไป ขับรถรับจ้าง เกษตรกร รวมถึงนักเรียนนักศึกษา โดยปัจจุบัน กอช. มีสมาชิกรวม 2,357,993 คน

158884391623

  •  หน้าที่ของ "สมาชิก กอช."

สมาชิกจะต้องส่งเงินสมทบสะสมขั้นต่ำ 1,200 บาทต่อปี สูงสุดไม่เกิน 13,200 บาทต่อปี โดยการส่งเงินสมทบแต่ละงวดไม่จำเป็นต้องเป็นจำนวนที่เท่ากัน แต่ไม่ต่ำกว่า 50 บาทต่อครั้ง เช่น เดือนมกราคม ส่งเงินสมทบ 300 บาท เดือนกุมภาพันธ์อาจจะส่งเงินสมทบ 100 บาท เดือนมีนาคมอาจจะส่งเงินสมทบ 200 บาท และเดือนอื่นๆ ต่อเนื่องไปในอัตราที่แตกต่างกัน แต่รวมกันไม่ต่ำกว่า 1,200 บาทต่อปี

  •  หลักเกณฑ์การสมทบเงินสะสมของ กอช. 

การวางแผนเกษียณกับ กอช. คือทุกครั้งที่ส่งเงินสะสม รัฐฯจะช่วยสมทบตามอัตราที่กำหนดในแต่ละช่วงอายุ โดยผู้สมทบเงินเข้ากองทุนมีโอกาสได้รับเงินบำนาญทุกเดือนไปตลอดชีวิต 6xx-7,xxx บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการสมทบ

158884317935

  • ช่วงอายุระหว่าง 15-30 ปี รัฐช่วยสมทบ 50% ของเงินสะสม สูงสุด 600 บาทต่อปี
  • ช่วงอายุ 31-50 ปี รัฐช่วยสมทบ 80% ของเงินสะสม สูงสุด 960 บาทต่อปี
  • ช่วงอายุ 51-60 ปี รัฐช่วยสมทบ 100% ของเงินสะสม สูงสุด 1,200 บาทต่อปี

จากข้อมูลที่ กอช. ลองคำนวณที่ผลตอบแทนที่ 3.5% หากส่งเงินสมทบ ตั้งแต่อายุ 15-60 ปี เต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องทุกเดือนเป็นเวลา 45 ปี จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 7,xxx บาทต่อเดือน

ขณะที่คนที่สมทบช่วงโค้งสุดท้าย อายุ 50-60 ปี แต่ส่งเงินสมทบเต็มจำนวน (13,200 บาทต่อปี) ต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสรับเงินบำนาญประมาณ 6xx บาทต่อเดือน

ทั้งนี้จากทั้ง 2 กรณียกตัวอย่างมาในข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการจ่ายเงินบำนาญสูงสุด และต่ำสุดเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงสัดส่วนของแต่ละคนจะแตกต่างกันออกไปตามจำนวนเงินที่สมทบ และช่วงอายุที่แตกต่างกันไปนั่นเอง

กติกาที่สำคัญคือ รัฐจะสมทบเงินให้เฉพาะคนที่สะสมจนครบอายุ 60 ปีเท่านั้น หากนำเงินออกจาก กอช. ก่อนอายุ 60 ปีจะไม่ได้รับเงินสมทบจากรัฐ เนื่องจากรัฐต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นเงินบำนาญสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ

และไม่สามารถขอรับเป็นเงินก้อนแบบ “บำเหน็จได้เพราะหลักการของ กอช. ต้องการให้คนไทยมีเงินใช้ตลอดชีวิต ซึ่งที่ผ่านมาการรับเงินก้อนใหญ่ก้อนเดียวมีโอกาสหมดตั้งแต่เกษียณยังไม่ถึงปี จากการลงทุนกิจการด้วยเงินก้อนสุดท้าย แบ่งปันลูกหลาน หรือใช้จ่ายอย่างเพลิดเพลิน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้ชีวิตหลังเกษียณเข้าสู่วังวนเกษียณจนอย่างที่ไม่ควรจะเป็น

ตัวเลขที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน สะท้อนว่าการสะสมเงินในระยะยาว และวางแผนเกษียณตั้งแต่เนิ่นๆ แม้จะสะสมเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนที่มากกว่า เพียงพอกับชีวิตวัยเกษียณที่มากกว่าด้วย

  •  กอช. เอาเงินไปทำอะไรบ้าง 

กอช. จะนำเงินสะสมของสมาชิกไปลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ เช่น พันธบัตร ตราสารหนี้ เงินฝาก ตราสารทุน(หุ้น) และอื่นๆ เพื่อให้เงินของสมาชิกงอกเงย โดยผลตอบแทนการลงทุนจะเป็นไปตามหน่วยลงทุน และมูลค่าตลาด ซึ่งรัฐบาลจะค้ำประกันผลตอบแทนให้สมาชิกที่ออมถึงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ ในอัตราไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนเฉลี่ย 7 ธนาคาร

158884346016

 

กองทุน กอช. อัพเดทสัดส่วนของประเภทหลักทรัพย์ที่ลงทุน เมื่อช่วงต้นปี 2563 ว่า เงินสะสมเงินสมทบจำนวน 6,579 ล้านบาท มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิจําแนกโดยผู้ออกตราสารสูงสุด 5 อันดับ (เงินสะสมเงินสมทบ) ณ 29 กุมภาพันธ์ 2563 ดังนี้

1. ธนาคารทิสโก้
2. กระทรวงการคลัง
3. ธนาคารธนชาต
4. ธนาคารอาคารสงเคราะห์
5. ธนาคารแห่งประเทศไทย

  •  สมัครสมาชิก กอช. ต้องทำอย่างไร 

ประชาชนที่เข้าเกณฑ์ของ กอช. สามารถสมัครได้ฟรี และสามารถสะสมเงินผ่าน กอช. ได้ที่กรมบัญชีกลาง สำนักคลังจังหวัดทั่วประเทศ สถาบันการเงินชุมชนที่เข้าร่วม และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เคาน์เตอร์เซอร์วิส ธนาคารกรุงไทย เทสโก้ โลตัส ธนาคารออมสิน ตู้บุญเติม ฯลฯ

หรือใช้บริการ แอพพลิเคชั่น กอช. แอพฯ จากกองทุนการออมแห่งชาติโดยตรง ที่สามารถดาวน์โหลดผ่านระบบ iOS และ Android ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่มีบริการทั้งข่าวสารเกี่ยวกับ กอช. เช็คเงินสมทบได้แบบเรียลไทม์ รวมถึงสามารถตัดเงินสมทบอัตโนมัติจากธนาคารต่างๆ เข้าสู่ระบบได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว

158884439886

ที่มา: กองทุนการออมแห่งชาติ