'ทะเบียนซ้อน' ปมหิน 'เยียวยาภาคเกษตร'

'ทะเบียนซ้อน' ปมหิน 'เยียวยาภาคเกษตร'

ผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ไม่ได้เกิดขึ้นแต่ธุรกิจการค้าภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ปัญหานี้ลุกลามไปถึงภาคการเกษตรด้วย ดังนั้น รัฐบาลจึงมีแผนการจ่ายเงินเดือนละ 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือนให้กับเกษตรกรตามมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบทะเบียน ของทุกกรมที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงอุตสาหกรรม และเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงการคลัง ที่ต้องนำทะเบียนทั้งหมดมารวมไว้ที่กระทรวงเกษตรฯทำหน้าที่จ่ายเงินเยียวยาเพียงหน่วยงานเดียว

เบื้องต้น มีเกษตรกรที่เข้าเกณฑ์จะได้รับเงินเยียวยาประมาณ 10 ล้านครัวเรือน ทั้งหมดจะตรวจสอบตามหมายเลขบัตรประชาชน 13 หลักว่าซ้ำซ้อนกับทะเบียนที่ขึ้นไว้กับหน่วยงานต่างๆของกระทรวงเกษตรหรือไม่ จากนั้นจะส่งทะเบียนทั้งหมดให้กับกระทรวงการคลังตรวจสอบอีกครั้ง ว่าซ้ำซ้อนกับรายชื่อที่ได้รับเงินเยียวยาไปแล้วก่อนหน้านี้อีกครั้ง ซึ่งการตรวจสอบจะใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากข้อมูลมีอยู่ครบ

คาดว่าจะทราบภายในกลางเดือน พ.ค.นี้ หากไม่มีข้อผิดพลาด การจ่ายเงินเยียวยาเกษตรกรชุดแรกที่ตรวจสอบทะเบียนจะแล้วเสร็จในสัปดาห์นี้จะสามารถโอนเงินเข้าบัญชี ได้ทันที

158842103389

“ เงินที่ให้ไปนี้จะเป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนให้สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้ในช่วง โควิดนี้เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะนำไปช่วยเหลือเพื่อการลงทุนด้านการเกษตรใดๆ กระทรวงเกษตรฯจะดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างโปร่งใส เพื่อให้เงินถึงมือเกษตรกรครบถ้วนตามจำนวน ไม่มีขาดตก และไม่ต้องมาแขวนคอตายใต้ต้นมะขามหน้ากระทรวงฯ”

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า มีเกษตรกรจำนวนมากได้เดินทางไปที่สำนักงานของกรมส่งเสริมการเกษตรในต่างจังหวัด เพื่อสอบถามความชัดเจนว่าเมื่อไหร่จะได้เงิน จะใช้เวลามากน้อยเพียงใด ขณะนี้ต้องยอมรับว่าทะเบียนเกษตรกร ยังมีความซ้ำซ้อนกันอยู่มาก จึงอยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์

ทั้งนี้เรื่องของสิทธิ์การได้รับการเยียวยา เกษตรกรต้องกลับไปดูเล่มทะเบียนสีเขียว ซึ่งออกโดยกรมส่งเสริมการเกษตร หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทะเบียนเกษตรกร ว่ามีการอัพเดท หรือปรับปรุงข้อมูลหรือไม่ หากไม่มีการปรับปรุงข้อมูล อาจจะไม่มีสิทธิรับเงินเยียวยา ตามระเบียบหากไม่มีการติดต่อ หรือปรับปรุงทะเบียน แสดงว่าไม่มีการยืนยันตัวตน ว่ายังประกอบอาชีพเกษตรกร หากเกิน 3 ปีอาจสูญเสียโอกาสรับเงินเยียวยา

158842104773

“เกษตรกรต้องกลับไปดูเล่มทะเบียนหากไม่เคยปรับปรุงตั้งแต่ปี 2560 เสี่ยงมากที่จะไม่ได้รับเงิน แต่ หากมีการปรับปรุงทะเบียน ในปี 2561-ปัจจุบันไม่น่ามีปัญหา ส่วนเกษตรกรที่ทำการเกษตรจริงๆ แต่ไม่เคยลงทะเบียนสามารถดำเนินการขึ้นทะเบียนกับเกษตรจังหวัด เพื่อยืนยันตัวตนได้ว่าประกอบอาชีพเกษตรกรรม และสามารถรับเงินเยียวยาได้เช่นกัน”

ด้านอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรเพื่อความถูกต้องและไม่ซ้ำซ้อน ภายใต้โจทย์ ต้องไม่เกิน 10 ล้านครัวเรือน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค. นี้ เพื่อจะสามารถโอนเงินให้เกษตรกรในงวดแรกได้ในเดือนพ.ค.

รายงานข่าวจากกระทรวงเกษตรฯ แจ้งว่า การขึ้นทะเบียนเกษตรกร ปัจจุบันมีความสับสนระหว่างทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชโดยกรมส่งเสริมการเกษตรที่ระบุเป็นครัวเรือน ในขณะที่การขึ้นทะเบียนของกรมปศุสัตว์ และกรมประมงระบุเป็นรายคน ซึ่งจะส่งให้กลุ่มผู้ปลูกพืชไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้นรมว.เกษตร จึงเรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกันเพื่อหาข้อสรุปโดยเร็วที่สุด

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัตินั้น การขึ้นทะเบียนจะดำเนินการกับ 4 หน่วยงานหลัก เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ เช่น หากจะกำหนดให้เพียงทะเบียน “ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกร” จากข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร มีผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรทั้งหมดจำนวน 7,520,254 ครัวเรือน โดยนิยามเกษตรกรคือ 5 พืชหลัก 400 กว่าชนิด เช่น กลุ่มชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ส่วนที่เหลือต้องมาจากทะเบียนเกษตรกรจาก ประมง และปศุสัตว์ จึงจะรวม ประมาณ 10 ล้านครัวเรือน

“เกษตรฯมักเกิดปัญหา ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ต้องตรวจสอบหลักฐานข้อมูลให้ชัดเจนซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเจอปัญหารายชื่อซ้ำซ้อนและต้องยอมรับว่าเกษตรไม่มีฐานดาต้าที่ชัดเจน”

เบื้องต้น มีเกษตรกรทั้งหมดทุกประเภทมีทั้งหมดเกือบ 13 ล้านทะเบียน ซึ่ง ยังไม่รวมเกษตรกรที่ยังไม่เคยลงทะเบียน แต่กระทรวงเกษตรฯเปิดให้ยืนยันสิทธิ์โดยให้ลงทะเบียนใหม่ได้ ภายใน 15 พ.ค. ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนเพิ่มจากทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 1 แสนรายต่อวันทำให้ ทำให้ทะเบียนเกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยา จะเป็นเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีเล่มทะเบียน ทบก. แต่การลงทะเบียนของเกษตรกร ที่ผ่านมา ชาวนา จะลงทะเบียนเป็น ครัวเรือน หมายถึงครัวเรือนเกษตรกร ผู้ที่ถือ ทบก.จะเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่รวมสมาชิกในบ้าน ในส่วนนี้จะจ่ายเฉพาะหัวหน้าครัวเรือน เท่านั้น 158842108372

ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกพืชอื่น ได้แก่ชาวไร่ยาสูบ ปลูกหม่อน ไร่อ้อย ที่ผ่านมาลงทะเบียนเป็นราย กลุ่มนี้จะจ่ายเฉพาะหัวหน้าครัวเรือน เช่นเดียวกับกลุ่มชาวนา ส่วนเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ลงทะเบียนไว้กับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะได้รับเงินเยียวยาทั้ง ชาวสวน ผู้เช่า คนกรีดยาง และกลุ่มที่ทำสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รวม ประมาณ 1.8 ล้านราย

โดยการลงทะเบียนของชาวสวนยาง จะนับเป็นราย ซึ่งหนึ่งครัวเรือนมีการลงทะเบียนหลายคน กลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด สำหรับ ผู้ที่มี ทบก. และเป็นหัวหน้าครอบครัว มีเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นข้าราชการบำนาญ ที่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ทำงานในระบบประกันสังคม ทำงานเอกชน จำนวนมากที่ขึ้นทะเบียน ทบก. 2 กลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงินเยียวยา แม้จะเป็นเกษตรกรตัวจริงก็ตาม เพราะถือเป็นอาชีพอื่น

ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรหน่วยงานอื่นกับมาซ้อนกับทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร(ทบก.)ปี 2562-63 แยกหัวหน้าครัวเรือน 6.196 ล้านครัวเรือน สมาชิก 10.136 ล้านครัวเรือน จากก่อนการตรวจความซ้ำซ้อน มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 2.239 ล้านราย แบ่งเป็น ทะเบียนเกษตรกรที่พบเลขประจำตัวประชาชน 1.83 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นหัวหน้าครอบครัว 1.354 ล้านราย เป็นสมาชิก 4.76 แสนราย ในจำนวนนี้ไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 4.09 แสนราย และยังมีทะเบียนของกรมปศุสัตว์ จำนวน 2.69 ล้านราย กรมประมง 4.36 แสนราย

สำหรับทะเบียนยางพารา จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีเกษตรกรลงทะเบียน 1.756 ล้านราย ในจำนวนนี้ เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 1.478 ล้านราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 1.114 ล้านราย เป็นสมาชิก 3.63 ล้านราย ในจำนวนทั้งหมดไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 2.781 แสนราย .ทะเบียนชาวไร่อ้อย จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 4.384 แสนราย เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 3.135 แสนราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 2.181 แสนราย เป็นสมาชิก 9.54 หมื่นราย

ทะเบียนชาวไร่ยาสูบ จากการยาสูบแห่งประเทศไทย มี 3.35 หมื่นราย เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 3.06 หมื่นราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 2.01 หมื่นราย เป็นสมาชิก 1.04 หมื่นราย ในจำนวนทั้งหมดไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 2,943 ราย และกรมหม่อนไหม มี 3.96 หมื่นราย เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 3.51 หมื่นราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 2.01 หมื่นราย เป็นสมาชิก 1.15 หมื่นราย ในจำนวนทั้งหมดไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 4,430 ราย