"Economic" (1 เม.ย.63)

"Economic" (1 เม.ย.63)

เศรษฐกิจเดือนกุมภาพันธ์หดตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานเศรษฐกิจไทยในกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นวงกว้างชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หดตัวสูง นอกจากนี้ การส่งออกและการนำเข้าสินค้าได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากมาตรการปิดเมืองของจีน ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวต่อเนื่อง มีเพียงการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวได้จากการเร่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น ทั้งนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หดตัวทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวสอดคล้องกัน

ดัชนีเศรษฐกิจหลัก

i) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานรายได้ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 3.7% YoY ผลผลิตภาคเกษตรลดลง 4.5% YoY ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น 8.7% YoY

ii) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมรายงานการผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดลง 5.2% YoY และ 1.4% MoM อัตราการใช้กำลังการผลิต (ไม่ปรับฤดูกาล) ลดลงมาอยู่ที่ 65.3%

iii) ดัชนีการบริโภคภาคเอกชน (PCI) เพิ่มขึ้น 3.4% YoY แต่ลดลง 2.2% MoM

iv) ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ลดลง 10.1% YoY และ 3.4% MoM

v) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง 42.8% YoY เหลือ 2.062 ล้านคน

vi) รายได้ภาครัฐลดลง 1.7% YoY ในขณะที่รายจ่ายภาครัฐลดลง 6.9% YoY

vii) การส่งออกเพิ่มขึ้น 3.6% YoY เป็น 2.0288 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ในขณะที่การนำเข้าลดลง 7.8% YoY เหลือ 1.4894 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ ทำให้เกินดุลการค้า 5.394 พันล้านดอลลาร์ฯ และเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 5.382 พันล้านดอลลาร์ฯ

Impact

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยยังมีแค่ 42 รายเท่านั้น และสถานการณ์ยังอยู่ในระดับ "ความกลัวต่อการติดเชื้อ" ที่ควบคุมได้ ไม่ได้แพร่ระบาดเป็นวงกว้างเหมือนหลังช่วงกลางเดือนมีนาคมที่สถานการณ์เปลี่ยนเป็น "การติดเชื้อแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้น นอกเหนือการควบคุม" ดังนั้น ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกุมภาพันธ์จึงถูกกระทบเล็กน้อยเพียงบางส่วนจากความกลัวต่อการติดเชื้อ และ กิจกรรมส่วนใหญ่ก็ยังดำเนินไปตามปกติ

แต่อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ติดเชื้อเร่งตัวขึ้นอย่างมากเป็น "การติดเชื้อแพร่กระจายในวงกว้างมากขึ้นนอกเหนือการควบคุม" จาก 42 รายในต้นเดือนมีนาคมเป็น 1,651 รายในสิ้นเดือนมีนาคม นอกจากนี้หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พรก. ฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมถึง 30 เมษายน และ กทม.และผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ ประกาศปิดสถานชุมนุมชน และจำกัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงจำกัดพฤติกรรมการใช้ชีวิต และการเคลื่อนไหวของคนในกรุงเทพ และต่างจังหวัด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจทั้งทางกว้างไปจนถึงวันที่ 30 เมษายน

เนื่องจากการระบาดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น และยังห่างไกลจากระดับสูงสุดซึ่งคาดว่าจะอยู่ในเดือนพฤษภาคม และคาดว่าจะมีการขยายเวลาการบังคับใช้พรก. ฉุกเฉินไปจนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม โดยรัฐบาล และผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจในการประกาศมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น รวมถึงการปิดพื้นที่บางแห่งในเดือนเมษายนซึ่งเราคาดว่าอาจจะยาวไปจนถึงปลายเดือนพฤษภาคมเพื่อคุมการติดเชื้อ

ดังนั้น เราจึงคาดว่าการบริโภค และการลงทุนภาคเอกชนจะลดลงอย่างหนักไปจนถึงเดือนมิถุนายน ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐและการโอนเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจะเร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัวลงอย่างหนัก มากกว่าที่จะช่วยกระตุ้นการเติบโต

เศรษฐกิจยังคงมีปัญหาที่ต้องแก้อีกมาก เท่าที่นโยบายการเงินทำมาแล้วยังไม่พอ และยังไม่สามารถชี้นำทิศทางดอกเบี้ยได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีกำไรจากการปล่อยกู้สูงผิดปกติ โดยต้นทุนในการปล่อยกู้ของธนาคารลดลงมาใกล้เคียง 1% มากขึ้น แต่ธนาคารยังคิดดอกเบี้ยจากสินเชื่อภาคครัวเรือนสูงถึง 10-20% นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ย MLR เอาไว้เท่าเดิมแม้ว่ากนง. ลดดอกเบี้ยลงดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง แสดงถึงความผิดปกติในตลาดสินเชื่อ ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ดูและสถาบันการเงินในการกำกับดูแลเพื่อให้ธนาคารต่างๆ ทำธุรกิจตามแนวปฏิบัติที่ดี

ภายใต้สถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและการรระบาดของไวรัสจำเป็นต้องประสานความร่วมมือระหว่างนโยบายการเงินและนโยบายการคลังไปพร้อมกัน และต้องดำเนินนโยบายเชิงรุกมากกว่านี้เพื่อบรรเทาปัญหาแทนที่ออกมาตรการตามแก้หลังจากปัญหาเกิดขึ้นแล้ว คาดว่าจะเห็นการผ่อนคลายเกณฑ์ทางการเงินและการคลังเพิ่มขึ้นอีก เพื่อประคับประคองตลาดการเงิน และภาวะเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์ที่วิกฤติทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม เราจะปรับลดประมาณ GDP ปี 2563 ลง หลังจากมีรายละเอียดมากขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยในเบื้องต้น ประมาณการใหม่ของเราจะติดลบหนักกว่ากรณีเลวร้ายที่สุดของเราในปัจจุบันที่ -3.8% นอกจากนี้ เราก็เชื่อว่า กนง. จะต้องลดดอกกเบี้ยนโยบายลงอีกอย่างน้อย 25 bps เหลือ 0.5% ก่อนการประชุมวันที่ 24 มิถุนายน