ท่องเที่ยวจี้แบงก์พยุงจ้างงาน เพิ่มสภาพคล่องก่อนเลย์ออฟ!

ท่องเที่ยวจี้แบงก์พยุงจ้างงาน เพิ่มสภาพคล่องก่อนเลย์ออฟ!

ด้วยมูลค่าการกู้ยืมเงินจากระบบธนาคารของภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่มีไม่ต่ำกว่า 6.5 แสนล้านบาท และแนวโน้ม “หนี้เสีย” จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล หากภาครัฐไม่มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างเร่งด่วน

นี่คือหนึ่งใน“ใจความหลัก”ของแถลงการณ์จากสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หนุนรัฐดำเนินมาตรการขั้นสูงสุด แม้ต้อง “ล็อคดาวน์” ประเทศ ยุติกิจกรรมท่องเที่ยวเพื่อฟื้นความเชื่อมั่น ก็ต้องทำแม้จะเจ็บแต่จบ!

หลังวิกฤติโควิด-19 ลามหนักทั่วโลก และมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่รัฐบาลทยอยประกาศออกมาหวังพยุงการจ้างงาน ดูเหมือนจะไม่ถึงมือผู้ประกอบการท่องเที่ยวอย่างที่ควรจะเป็น เงินสดในมือก็ร่อยหรอลงทุกวันได้แต่รอว่าเมื่อไหร่ Cash” จะ “Landing on Me” มาเติมเต็มสภาพคล่องแก่ธุรกิจ!

ชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธาน สทท. ย้ำว่า ภาคท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องจักรสำคัญของเศรษฐกิจไทยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี2562ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ประเมินกันว่ามีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 20%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) มีการจ้างงานไม่น้อยกว่า 4 ล้านตำแหน่ง และมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องไม่น้อยกว่า 5 หมื่นราย

ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ยังไม่สามารถควบคุมได้ในวงจำกัด และชัดเจนแล้วว่ากำลังส่งผลกระทบต่อเนื่องอย่างรุนแรง ตั้งแต่กลาง ก.พ.2563 เป็นต้นมา โดยสทท.คาดการณ์ว่าความเสียหายที่เกิดกับจีดีพีจากภาคธุรกิจท่องเที่ยว ตัวเลขจะพุ่งถึง 1 ล้านล้านบาทหากสถานการณ์ยังดำเนินเช่นนี้ต่อไป แน่นอนว่าย่อมไม่เป็นผลดีกับทุกภาคส่วน

“รัฐบาลขอเอกชนว่าห้ามเอาคนออก เอกชนเองก็มองว่าการเลย์ออฟคือวิธีสุดท้ายที่จะเลือก แต่ความจริงคือภาคธุรกิจท่องเที่ยวตอนนี้อยู่ไม่ไหว เราจำเป็นต้องลดงานลง ด้วยการให้พนักงานลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้าง หรือจ่ายเงินเดือนแค่50%เพื่อให้บริษัทเอาตัวรอดได้”

ทั้งนี้ สทท.ได้ประเมินด้วยว่าโควิด-19จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว คาดว่าจะมีผู้ถูกเลิกจ้าง (เลย์ออฟ) ไม่ต่ำกว่า25-30%หรือคิดเป็น1-1.2ล้านตำแหน่ง และมีผู้ถูกลดรายได้จากการถูกลดเงินเดือน พักงาน ลางานโดยไม่รับเงินเดือนกว่า3ล้านตำแหน่ง

อีกปัญหาสำคัญคือ ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือทางการเงินตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทยอยอนุมัติก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือ “ซอฟต์โลน” วงเงิน1.5แสนล้านบาทมาช่วยเสริมสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ สำหรับเป็นทุนใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างน้อย6เดือนที่วงเงินไม่เกิน20ล้านบาทต่อราย

“เราเข้าไม่ถึงเงินก้อนนี้เลย ทุกสมาคมท่องเที่ยวยืนยัน เพราะได้ไปคุยกับทุกธนาคารแล้ว พบว่ามีแต่นโยบาย ยังไม่มีคำสั่งชัดเจนมายังธนาคารโดยตรง จึงอยากให้รัฐบาลเร่งติดตามเพื่อให้มาตรการนี้เห็นผลจริง เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวเดือดร้อนหนักมาก”

วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า)​ กล่าวเสริมว่า สำหรับหนี้เก่าของผู้ประกอบการ อยากจะขอยืดระยะเวลาการชำระเงินกู้แก่ธนาคาร เพื่อให้ผู้ประกอบการเอาตัวรอดได้ในช่วง6-12เดือนนี้ โดยเฉพาะการพักชำระเงินต้นและเลื่อนการชำระดอกเบี้ยออกไป 50% เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 12 เดือน รวมถึงการขอลดดอกเบี้ย 50% และขอกู้เพิ่มให้เต็มวงเงินเดิม เพราะสถานการณ์โควิด-19ตอนนี้อาจมีแนวโน้มไม่ต่ำกว่า6-12เดือน

ผู้ประกอบการต้องการขอกู้ยืมเงินมาใช้จ่ายเสริมสภาพคล่อง ไม่ได้ขอเงินมาเปล่าๆ เราขอเรื่องนี้ไป2เดือนแล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เลย”

ภูริวัจน์ ลิ้มถาวรรัตน์ นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลติดตามผลการดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงินให้เป็นรูปธรรม เพราะผู้ประกอบการได้เข้าไปติดต่อธนาคารแล้ว แม้แต่ธนาคารออมสินของรัฐเอง แต่กลับได้รับคำตอบว่ายังไม่มีคำสั่งจากรัฐบาล ไม่ต้องรอนานถึง3เดือน แค่เดือน มี.ค.นี้ก็แย่แล้ว เริ่มเห็นภาพผู้ประกอบการทยอยปิดตัวแล้วในปัจจุบัน

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ผู้ประกอบการท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีกว่า80%น่าจะอั้นค่าใช้จ่ายได้แค่3เดือนตั้งแต่ ก.พ.-เม.ย.นี้ ทำให้ในช่วง พ.ค.-มิ.ย.นี้ต้องเริ่มเลิกจ้างพนักงาน และตอนนี้หลายๆ รายก็ได้เริ่มลดพนักงานกันแล้ว

ททท.พร้อมให้ความช่วยเหลือภาคเอกชนอย่างเต็มที่ โดยจะหารือร่วมกับธนาคารออมสินและบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เกี่ยวกับการผ่อนปรนหลักเกณฑ์ปล่อยสินเชื่อใหม่ของวงเงินซอฟต์โลนก้อน1.5หมื่นล้านบาท พิจารณาจากเกณฑ์อื่นๆ เช่น ค่าใช้จ่ายประจำ การตรวจสอบรายได้จากระบบการจ่ายภาษี เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม หวังช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวให้เร็วที่สุด

“สิ่งที่ทุกคนคิดตอนนี้คือการแพร่ระบาดจะลากยาวถึงเมื่อไร จะทนกันได้ถึงเมื่อไร เพราะในช่วง3เดือนตั้งแต่ ก.พ.ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเหนื่อยแล้ว และไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะถลำลึกไปถึงจุดไหน หากสภาพคล่องของเอกชนท่องเที่ยวไม่เพิ่มและมีคนตกงานมากขึ้น ก็จะกลายเป็นหนี้เสียทั้งระบบ” ผู้ว่าการ ททท.กล่าว