'กรุงศรี' สานฝันพนักงาน ปั้นเป็นเจ้าของ 'สตาร์ทอัพ'

“กรุงศรีคอนซูมเมอร์” มุ่งสร้างนวัตกรรมเสริมแกร่งธุรกิจ ผุดโครงการ “กรุงศรี ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพ สตูดิโอ “ แปลงร่างพนักงานสู่สตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น สานฝันพนักงานอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ เปิดเผยว่า บริษัทวางกลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมใหม่ในปีนี้ ภายใต้โครงการ “กรุงศรี ยูนิคอร์น สตาร์ทอัพ สตูดิโอ" มุ่งสร้างพนักงานในเครือธนาคารกรุงศรีฯให้ก้าวไปเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์ วางเป้าหมายเสริมธุรกิจแบงก์ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น
โดยในปีแรกนี้ บริษัทเตรียมงบพัฒนาสตาร์ทอัพโครงการนี้กว่า 20 ล้านบาท โดยเปิดรับสมัครผู้ร่วมโครงการตั้งแต่ 3ก.พ.-31มี.ค.นี้ ให้นำเสนอไอเดีย โดยไม่จำกัดว่าต้องเกี่ยวข้องกับธุรกิจของกรุงศรี ก่อนประกาศ8ทีมที่ผ่านการคัดเลือกในต้นเดือน เม.ย.นี้ ปัจจุบันมีพนักงานสมัครแล้ว 600-700 คน จากพนักงานทั้งหมด5,000 คน
โครงการนี้ แบ่งเป็น3 ช่วง คือ ช่วงแรก หรือ “Pony Stage” สตาร์ทอัพที่ได้ถูกเลือก จะได้ลงมือทดสอบว่า ไอเดียและผลิตภัณฑ์ที่สนใจ มีความต้องการในตลาดหรือไม่ (Idea Validation) แต่ละทีมจะได้รับ 10,000 Krungsri Coins ต่อทีม และต้องเข้าร่วม Bootcamp เป็นเวลา 4 เดือน ทุกๆ ทีมจะได้รับเทรนนิ่ง เรื่องการสร้างธุรกิจและสร้างผลิตภัณฑ์ พร้อมรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบการระดับผู้บริหารและผู้สร้างสตาร์ทอัพชั้นนำระดับประเทศ
หลังจากนั้นทีมที่มีไอเดียและมีความต้องการในตลาดจะได้รับคัดเลือก เพื่อเข้าสู่กระบวนการถัดไป คือ” Centaur Stage “ โดยทีมที่ได้รับเลือก จะย้ายมาเป็นผู้ประกอบการเต็มตัว (Full-time founder) ย้ายทำสตาร์ทอัพแบบเต็มเวลาโดยยังได้รับเงินเดือนเหมือนเดิมอิงจากฐานเงินเดือนปัจจุบัน อีกทั้งได้รับเงินทุนจากกรุงศรีฯ 2-4 ล้านบาท เพื่อพัฒนาธุรกิจต่อ 10-12 เดือน โดยกรุงศรี ยูนิคอร์นฯ จะเป็นผู้สนับสนุนด้านทรัพยากรต่างๆ
สุดท้ายจะเลือกทีมที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่มีโอกาสเติบโตและขยายเข้าสู่ตลาดได้ เข้าสู่ช่วง” Unicorn Stage” โดยทีมสตาร์ทอัพสามารถถือสิทธิ์ในการตัดสินใจเป็นเจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพนี้ และสามารถนำไปดำเนินธุรกิจนอกธนาคารกรุงศรีฯ ได้เช่นกัน โดยมีทางเลือก ดังนี้ 1. ทีมสตาร์ทอัพ สามารถถือสิทธิ์ส่วนมากในการเป็นเจ้าของ และสามารถนำออกไปดำเนินธุรกิจต่อด้วยตัวเอง 2. ทีมสตาร์ทอัพ สามารถร่วมถือสิทธิ์เป็นเจ้าของร่วมกับธนาคารกรุงศรีฯ ได้ และ3. ทีมสตาร์ทอัพสามารถเลือกให้ธนาคารกรุงศรีฯ ถือสิทธิ์การเป็นเจ้าของ และเป็นพนักงานภายใต้ธุรกิจสตาร์ทอัพนี้ ทั้งนี้จะขึ้นกับการตัดสินใจของผู้สมัคร และ ทางทีมกรุงศรี ยูนิคอร์นฯ
“ตอนนี้มีพนักงานหลายๆคนอยากออกไปทำสตาร์ทอัพ เราก็ต้องการ หากมีไอเดียที่ดี หากสตาร์ทอัพรายไหนมีศักยภาพในการพัฒนาให้เป็นบริษัทได้ ก็จะแยกออกมาเป็นบริษัท และมีธนาคารกรุงศรีฯ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้นๆ ส่วนสตาร์ทอัพรายไหนที่ยังไม่สามารถพัฒนาเป็นโมเดลเพื่อหารายได้ด้วยตัวเอง แต่สามารถเติมเต็มอีโคซิสเต็มให้กับธนาคารได้ ก็จะเป็นแผนกใหม่ โดยทีมสตาร์ทอัพ จะเป็นหัวหน้าแผนกใหม่แผนกนั้น ซึ่งหากเราไม่วางแผน ตั้งแต่ตอนนี้เราก็จะไม่มีสตาร์ทอัพใหม่ๆ เพราะตอนนี้เหมือนเป็นสุญญากาศไม่มีคนที่จะขึ้นมาทำสตาร์ทอัพดีๆให้กับประเทศ”