บีอีเอ็มรับเงื่อนไขแลกสัมปทานทางด่วน

บีอีเอ็มรับเงื่อนไขแลกสัมปทานทางด่วน

“บีอีเอ็ม” ยอมรับทุกข้อเสนอยุติข้อพิพาททางด่วน กทพ.ยืนยันตัดโปรเจคสร้าง Double Deck เคาะขยายสัมปทาน 15 ปี 3 เดือน เดินหน้าจัดทำร่างสัญญา เตรียมชงเข้า ครม.ภายในเดือน ม.ค.นี้ ชี้เงื่อนไขต่ออายุสัญญา 2 ครั้ง ต้องเจรจาใหม่ ไม่เอื้อต่ออัตโนมัติ

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่มีการหารือร่วมกับตัวแทนจากบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) กรณีการเจรจาแนวทางยุติข้อพิพาททางด่วน โดยระบุว่า ภายหลังการหารือวานนี้ (6 ม.ค.) ทางบีอีเอ็มยอมรับทุกเงื่อนไข ที่ทางกระทรวงคมนาคมได้เสนอไว้ คือแนวทางยุติข้อพิพาทรวม 17 คดี มูลค่าข้อพิพาท 58,873 ล้านบาท เพื่อแลกกับการต่ออายุสัมปทานทางด่วน 3 สัญญาไปอีก 15 ปี 8 เดือน หมดอายุวันที่ 31 ต.ค.2578

ซึ่งเงื่อนไขของการเจรจาครั้งนี้ จะเป็นเพียงการยุติข้อพิพาท โดยไม่มีเงื่อนไขของการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 (Double Deck) รวมทั้งทางบีอีเอ็ม ยังยอมรับเงื่อนไขการปรับขึ้นค่าผ่านทาง ที่กำหนดให้ปรับขึ้นค่าผ่านทางทุกปี ปีละ 1 บาท โดยจะสามารถปรับขึ้นได้ในปีที่ 10 ดังนั้นตลอดอายุสัญญา 15 ปี 8 เดือน จะมีการปรับขึ้นค่าผ่านทาง 1 ครั้ง ในอัตรา 10 บาท ช่วงปี 2573 และบีอีเอ็มยังยอมรับในข้อเสนอของกระทรวงคมนาคม ที่ขอความร่วมมือให้ยกเลิกจัดเก็บค่าผ่านทางในวันหยุดตามประกาศของสำนักนายกรัฐมนตรี

“บีอีเอ็มตกลงตามที่มีการเจรจากันไปก่อนหน้านี้แล้ว ยอมรับทุกเงื่อนไขที่เราตกลงกันไว้ โดยจะต้องตัดการก่อสร้าง Double Deck ออกไปก่อน เอาเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อพิพาท เพราะโครงการ Double Deck ค่อนข้างยุ่งยาก ต้องมีการจัดทำผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อน กระทรวงฯ จึงมีนโยบายให้ตัดออกไป แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก็ได้สั่งการให้การทางฯ ไปศึกษาแนวทางแก้ไขจราจรทั้งระบบ อาจจะต้องมีการก่อสร้าง Double Deck เพิ่มขึ้นหลายส่วน เช่น บริเวณท่าเรือ อาจต้องมี Double Deck เพื่อระบายปริมาณการจราจรจากสะพานพระราม 9 ไปยังคลองเตย เป็นต้น”

สำหรับแนวทางการดำเนินการหลังจากนี้ กทพ.จะต้องทำงานคู่ขนาน คือ 1. เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกำกับตามมาตรา 43 ที่มีนายชยธรรม์ พรหมศร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธาน เพื่อพิจารณาเห็นชอบการแก้ไขสัญญา โดยเบื้องต้นคาดว่าจะเสนอให้พิจารณาภายในสัปดาห์นี้ และ 2. เสนอสัญญาส่วนเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาท ให้อัยการสุงสุดพิจารณา หากทั้งสองส่วนเห็นชอบจึงจะเสนอเรื่องกลับมายังกระทรวงคมนาคม เพื่อเตรียมนำเข้าที่ประชุม ครม.พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะเสนอ ครม.ได้ภายในเดือน ม.ค.นี้

นายสุรงค์ ยังกล่าวอีกว่า หลังจากการหารือในครั้งนี้ ฝ่ายบริหารของ กทพ.จะต้องกลับไปทำความเข้าใจกับพนักงานส่วนที่ยังไม่เข้าใจแนวทางยุติข้อพิพาท ซึ่งภายหลังจากการหารือร่วมกับตัวแทนของสหภาพการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) มาก่อนหน้านี้ ตนรับทราบว่าสหภาพฯ เป็นห่วงองค์กร และได้ฝากให้บอร์ดทำงานอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของ กทพ. โดยตนยืนยันว่าหลักการทำงานของบอร์ดจะทำให้ดีที่สุด

สำหรับกรณีของรายละเอียดสัญญาที่จะทำร่วมกับบีอีเอ็มครั้งนี้ มีการระบุในข้อที่ 21 ว่าด้วยเรื่องของการต่อสัญญาสัมปทาน โดยให้สิทธิคู่สัญญาเดิม คือบีอีเอ็มก่อนนั้น ตนยืนยันว่าข้อกำหนดดังกล่าว ระบุไว้ว่า เอกชนรายเดิมมีสิทธิได้รับการขยายสัมปทาน 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี แต่จะต้องมีการเจรจาอีก ไม่ใช่การต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ รวมทั้งจะต้องมีการเจรจาภายใต้เงื่อนไขใหม่ จึงไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ในการรับสิทธิต่อสัญญาแน่นอน

ส่วนกรณีของการแปลงภาระหนี้สินทางบัญชีที่เกิดขึ้นจากข้อพิพาท 4.3 พันล้านบาท หลังจากนี้ กทพ.จะต้องไปหารือในรายละเอียดร่วมกับสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. เพื่อบันทึกจากรายจ่ายให้กลับไปเป็นรายได้แทน

ทั้งนี้ รายละเอียดของการขยายอายุสัมปทานทางด่วน จะมีการขยายระยะเวลาสูงสุดอยู่ที่ 15 ปี 8 เดือน แบ่งออกเป็น 3 สัญญา ประกอบไปด้วย 1. ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน AB และ C เป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน จากเดิมจะหมดอายุสัญญาในวันที่ 29 ก.พ.2563 ขยายออกไปหมดอายุสัญญาในวันที่ 31 ต.ค.2578 2.ต่อสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D เป็นระยะเวลา 8 ปี 6 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 22 เม.ย.2570 ขยายออกไปเป็น 31 ต.ค.2578 และ 3.ต่อสัญญาทางด่วนบางปะอิน – ปากเกร็ด หรือส่วน C+ เป็นระยะเวลา 9 ปี 1 เดือน จากเดิมหมดอายุสัญญา 27 ก.ย. 2569 ขยายเป็น 31 ต.ค.2578