รฟท.เข้มลดหุ้นไฮสปีด ต้องผ่านบอร์ดคุมสัญญา-ครม.

รฟท.เข้มลดหุ้นไฮสปีด  ต้องผ่านบอร์ดคุมสัญญา-ครม.

รัฐเข้มเงื่อนไขลดสัดส่วนถือหุ้นรถไฟฟ้าความเร็วสูง หลัง “ซีพี” ประกาศลดเหลือ 40% “วรวุฒิ” ลั่นลดทันทีไม่ได้ ต้องผ่านบอร์ดคุมสัญญา กพอ.-ครม.

หลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) มีภารกิจที่ต้องส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี 3 เดือน และการส่งมอบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ภายใน 2 ปี ให้บริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จํากัด ซึ่งเป็นบริษัทที่กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร (กลุ่มซีพี) จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นคู่สัญญากับรัฐ

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เห็นชอบการส่งมอบพื้นที่ไว้แล้ว ซึ่ง ร.ฟ.ท.จะทยอยส่งมอบใน 3 ส่วน คือ 1.ช่วงดอนเมือง-พญาไท เป็นส่วนที่ยากที่สุด กำหนดส่งมอบภายใน 2 ปี 3 เดือน 

2.ช่วงพญาไท-สุวรรณภูมิ หรือแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และพร้อมส่งมอบได้เลย 3.ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ส่งมอบภายใน 1 ปี 3 เดือน เพราะบางส่วนต้องเวนคืน และกำลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาร่าง พรฎ.กำหนดพื้นที่เวนคืนที่ดิน และพื้นที่บางส่วนคู่สัญญาเริ่มเข้าไปดูพื้นที่ได้ตั้งแต่ พ.ย.-ธ.ค.นี้ ได้

รวมทั้ง ร.ฟ.ท.ต้องเตรียมความพร้อมในการรวบรวมทรัพย์สินในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เพื่อส่งมอบให้กับกลุ่มซีพีไปบริหารงานด้วย ซึ่งการดำเนินการทุกอย่างถูกกำหนดไว้ในเอกสารการเสนอโครงการ (อาร์เอฟพี) ไว้หมด

นายวรวุฒิ กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่มีผลต่อการดำเนินโครงการใน 2 ส่วน คือ 1.ถ้ามีการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าก็อาจเสนอให้รัฐพิจารณาขยายเวลาก่อสร้าง ซึ่งต้องมาหารือกันว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากทุกฝ่ายจนแก้ไขไม่ได้หรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นภาครัฐก็จะพิจารณาขยายเวลาให้ 

เงื่อนไขบอกเลิกสัญญา

2.กรณีที่ภาครัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้เลย ซึ่งที่ผ่านมามีการพูดถึงการบอกเลิกสัญญา เพื่อป้องกันไม่ให้รัฐไม่ดำเนินการใดเลยแล้วกระทบโครงการ แต่ไม่ใช่ว่ารัฐไม่ส่งมอบพื้นที่เพียงไม่กี่กิโลเมตรแล้วมาขอบอกเลิกสัญญาได้ โดยคาดว่ากรณีที่รัฐไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้เลยจะเกิดขึ้นได้ยาก

นายวรวุฒิ กล่าวว่า หลังจากนี้จะมีคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสัญญาหลังจากนี้จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับดูแลสัญญา กพอ.และ ครม. ซึ่งการที่คู่สัญญาจะลดสัดส่วนหุ้นลง แต่การที่ภาครัฐรับข้อเสนอให้รายนี้เป็นผู้ชนะการประมูล เป็นไปตามข้อเสนอที่ซีพีเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สัดส่วน 70% ซึ่งภาครัฐไม่ได้กำหนดว่าผู้นำในกิจการร่วมค้าจะต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นเท่าใด แต่การที่จะเสนอเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นทันทีคงไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะยังไม่ได้เริ่มโครงการเลย

ทั้งนี้ สัญญาโครงการดังกล่าวมีอายุ 50 ปี โดยถือว่าเป็นระยะเวลาที่ยาวจึงต้องมีความยืดหยุ่นให้มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นได้ เพียงแต่ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขระยะเวลาว่าต้องคงสัดส่วนการถือหุ้น ณ วันลงนามสัญญาไหนนานแค่ไหนจึงจะเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นได้

เผยลดหุ้นต้องเสนอ ครม.

นายวรวุฒิ กล่าวว่า หากคู่สัญญาต้องการเปลี่ยสัดส่วนผู้ถือหุ้นก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง กพอ.และ ครม. โดยการเสนอขอเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นจะต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ อาทิ 1.พันธมิตรที่ร่วมถือหุ้นไม่สามารถทำธุรกิจต่อไปได้ 2.เมื่อเปลี่ยนสัดส่วนผู้ถือหุ้นแล้วทำให้การดำเนินโครงการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นการดึงพันธมิตรที่มีศักยภาพในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพิ่มเข้ามาร่วมถือหุ้น

“การที่กลุ่มซีพีออกมาชี้แจงถึงการลดสัดส่วนการถือหุ้นลง คงเป็นการกล่าวถึงแผนธุรกิจในอนาคต แต่ถ้าเสนอมาเลยตอนนี้ก็คงไม่ผ่านการพิจารณา และถ้าหากในอนาคตเอกชนจะเสนอเข้ามาก็ต้องมาพิจารณาเหตุที่ยื่นเข้ามาว่าเหมาะสมที่จะให้เปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นได้หรือไม่”นายวรวุฒิ กล่าว

นายวรวุฒิ กล่าวว่า หลังจากลงนามสัญญาแล้วเอกชนคู่สัญญาจะต้องไปร่างแบบโครงการ ซึ่งภาครัฐกำหนดกรอบเวลาการทำงานไว้ 3 เดือน และเมื่อครบกำหนดจะมาดูว่าการออกแบบก่อสร้างมีปัญหาในจุดใดหรือไม่ ก่อนที่จะสรุปเป็นแบบก่อสร้างโครงการ ซึ่งการออกแบบดังกล่าวจะทำให้รับทราบว่า

“ซีพี”เผยลดหุ้นเหลือ40%

รายงานข่าวระบุว่า หลังการลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงการถือหุ้น ซึ่งปัจจุบันซีพีถือหุ้นในบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ในสัดส่วน 70% 

รวมทั้งที่ผ่านมาได้หารือกันว่าซีพีพร้อมจะถือหุ้นอย่างน้อยที่ 40 % แต่ในช่วงที่มีการก่อสร้าง อยากจะให้การถือหุ้นอยู่ที่ 51% เพราะต้องการการตัดสินใจที่เด็ดขาด โดยอาจต้องทำหลายวิธีการรวมทั้งเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้ได้เงินลงทุนเข้ามาช่วงที่มีการก่อสร้างครบ 2.2 แสนล้านบาทในช่วง 6 ปี

สำหรับบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด จดทะเบียน 21 ต.ค.2562 ทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 25,000 ล้านบาท เมื่อเริ่มเดินรถ

โดยบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด ถือหุ้น 70% รองลงนามเป็นไชน่า เรลเวย์ คอนสตรั๊คชั่น ลิมิเต็ดถือหุ้น 10% บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ถือหุ้น 10% บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 5% และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 5%