'สุริยะ' สั่งรื้อแผนหนุน 'อีวี'

'สุริยะ' สั่งรื้อแผนหนุน 'อีวี'

สั่งสศอ.เร่งขับเคลื่อน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ทบทวนมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้ากดราคาให้ต่ำกว่า 8 แสนบาท หนุนจักรยานยนต์ไฟฟ้า 3 ล้อไฟฟ้า

หนุนคนเข้าถึงรถไฟฟ้า เล็งเปิดสำนักงานอุตสาหกรรมที่จีน ดันความร่วมมือลงทุน พร้อมดึงนักลงทุนจีน 300 ราย ลุยอีอีซี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ว่า มอบหมายให้ สศอ.ขับเคลื่อน 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อต่อยอดนโยบายที่ดำเนินการไปแล้ว

รวมทั้งเดินหน้าเสนอนโยบายอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขยายผลการพัฒนา และผลักดันมาตรการใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งจะทบทวนมาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าภายในประเทศเพื่อสนับสนุนให้เกิดการเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
ในขณะที่อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะนำเสนอบริการของแพลตฟอร์ม Industry Transformation Platform และขยายผลการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมมากขึ้น

\'สุริยะ\' สั่งรื้อแผนหนุน \'อีวี\'

ส่วนอุตสาหกรรมชีวภาพ จะร่วมกับกระทรวงการคลังได้ออกมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ และได้เตรียมประชาสัมพันธ์ให้ จ.อุบลราชธานี จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.ลพบุรี เป็นพื้นที่ลงทุนไบโอฮับเพิ่มเติม

รวมทั้งอุตสาหกรรมอาหารจะเสนอให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาแผนก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยจะยกระดับผู้ประกอบการให้เป็นนักรบพันธุ์ใหม่ด้านต่างๆ เช่น ออโตเมชั่น นวัตกรรม การตลาด ดิจิทัล

ตั้งสำนักงานที่จีนดึงลงทุน

นายสุริยะ กล่าวว่า มอบหมายให้ สศอ.ศึกษาข้อมูลเชิงลึกแนวทางจูงใจการลงทุนรายประเทศและผลิตภัณฑ์เป้าหมาย ปรับมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve เดิมและผลักดันมาตรการใหม่เพื่อดึงดูดการลงทุน เร่งแก้ไขปัญหา Non-Tariff Barrier ป้องกันการย้ายฐานการผลิต รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตกับผู้ประกอบการประเทศเป้าหมาย โดยเฉพาะการตั้งสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศเพิ่มเติมที่จีนและเกาหลีใต้ จากปัจจุบันมีที่ญี่ปุ่นและออสเตรีย

ทั้งนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะมามอบนโยบายให้กระทรวงอุตสาหกรรมวันที่ 14 ส.ค.นี้ ซึ่งจะนำประเด็นที่ สศอ.เสนอตั้งสำนักงานที่ปรึกษาด้านอุตสาหกรรมในต่างประเทศ ณ ประเทศจีน เพิ่มเติม เพราะจีนเป็นประเทศใหญ่ที่มีศักยภาพและมีนักธุรกิจมาลงทุนไทยมาก จากปัจจุบันมีที่ประเทศออสเตรีย และญี่ปุ่น ขณะนี้กำลังเลือกที่ตั้งระหว่างกรุงปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ เพื่อทำหน้าที่ดูแลความร่วมกันกับหน่วยงานในจีน

“เดือน ก.ย.นี้ จะเชิญนักลงทุนจีน 300 ราย มารับทราบนโยบายของรัฐบาลใหม่ในการสนับสนุนมาตรการการลงทุน รวมถึงดูพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อให้เห็นสถานที่จริง ซึ่งเป็นการทำงานเชิงรุกเพื่อกระตุ้นการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง”

ปรับส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า

นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ศสอ.กำลังพิจารณาปรับมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ตอบโจทย์การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าให้เข้มแข็ง โดยมาตรการส่งเสริมที่ผ่านมาเกือบ 2 ปี ไม่สามารถแก้ปัญหาหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1. รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาสูงเกินไป ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้

ดังนั้นต้องออกมาตรการเข้ามาเสริมเพื่อให้รถยนต์ไฟฟ้ามีราคาต่ำกว่า 8 แสนบาทต่อคัน ซึ่งมาตรการใหม่จะเพิ่มการส่งเสริมเพื่อให้เกิดรถยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก รวมไปถึงรถสามล้อไฟฟ้า และรถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า เพื่อให้มีราคาต่ำลงและคนทั่วไปเข้าถึง ซึ่งรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าก็ต้องใช้เทคโนโลยีมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ไฟฟ้าเหมือนรถยนต์ 4 ล้อ ซึ่งหากในส่วนนี้ขยายตัวจะเกิดอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า

“ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ามีราคาตั้งแต่ 1.2 ล้านบาทขึ้นไป เป็นราคาที่สูงทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ในวงแคบ ไม่ดึงดูดให้เกิดฐานการลงทุนขนาดใหญ่ในไทย แต่ถ้าตลาดต้องการมากขึ้นจะเกิดการลงทุนผลิตชิ้นส่วนในประเทศ และราคารถยนต์ไฟฟ้าจะลดต่ำลงทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่เข็มแข็งในภูมิภาค”

ดันลงทุนมอเตอร์-แบต

2.มาตรการเดิมไม่สามารถดึงดูดเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้าหลักเข้ามาลงทุน โดยมาตรการใหม่จะปรับกฎเกณฑ์ให้ดึงดูดการลงทุนชิ้นส่วน เช่น มอเตอร์ไฟฟ้า แบตเตอรี่่ ระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่่และระบบควบคุมการขับรถ เพื่อยกระดับให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

3.ส่งเสริมให้เกิดการตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้ามากขึ้น โดยส่งเสริมให้เน้นการผลิตรถยนต์ที่มีระบบชาร์จไฟฟ้า เช่น รถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ที่เสียบปลั๊กชาร์จไฟฟ้า และใช้น้ำมันเชื้อเพลิงได้ และรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบ
“ที่ผ่านมาค่ายรถยนต์ส่วนใหญ่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์ไฮบริดเป็นหลัก ทำให้มีปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าที่มีปลั๊กเสียบชาร์จไฟฟ้าน้อย ดังนั้นต้องปรับมาตรการส่งเสริมให้เกิดการผลิตรถยนต์ที่มีปลั๊กชาร์จไฟฟ้าให้มาก จึงจะเกิดการสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าตามมา รวมทั้งจะต้องหารือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้อาคารจอดรถในคอนโดมิเนียม สามารถชาร์จไฟฟ้าได้”

ห่วงกระทบรถยนต์สันดาป

แหล่งข่าวจากภาคอุตสาหกรรม กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการด้านภาษีและมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง แต่รถยนต์ไฟฟ้ายังมีราคาแพง เพราะค่ายรถยนต์หันไปนำเข้าหรือผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาสูง เพื่อไม่ให้แข่งตลาดรถยนต์สันดาปภายในและไม่ให้กระทบการผลิตรถยนต์แบบเดิม

ดังนั้นภาครัฐควรปรับมาตรการส่งเสริมเพื่อให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าต่ำลง รวมถึงการออกไปดึงดูดบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหม่ เพื่อมาลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยแข่งขันกับผู้ผลิตรายเดิม ซึ่งราคารถยนต์ไฟฟ้าไม่ต่างจากรถยนต์ทั่วไปและที่ผ่านมาเทสลาร์ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโมเดล 3 มาสู้กับรถยนต์บีเอ็มดับบลิวซีรี 3 ได้ในราคาเท่ากัน

“ค่ายรถในไทยพยายามคัดค้านนโยบายส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของไทย โดยเฉพาะอีโคอีวีเพราะกังวลมีรายใหม่มาแข่งขัน รวมทั้งสิทธิประโยชน์นอกเหนือสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ทำให้รถยนต์ไฮบริดได้รับสิทธิประโยชน์สูง รวมทั้งไม่ต้องลงทุนสร้างฐานการผลิตใหม่เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า”