วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 ม.ค.62)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (17 ม.ค.62)

เบรนท์และเวสต์เทกซัสปรับเพิ่มจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ และข้อตกลงลดกำลังผลิตของกลุ่มโอเปค

+ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เทกซัสปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยได้รับแรงหนุนจากดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 141.6 จุดขึ้นไปแตะระดับ 24,207.2 จุดซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน หลังตลาดตอบรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนที่มีแผนจะปรับลดภาษีและอัดฉีดการใช้จ่ายของภาครัฐมากขึ้น

+ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากข้อตกลงลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคและพันธมิตร ที่ตั้งเป้าหมายลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 1.2 ล้านบาร์เรลตั้งแต่ ม.ค. 62 นี้ ล่าสุดกระทรวงพลังงานของรัสเซียได้เปิดเผยว่า การลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบของรัสเซียจะถึงเป้าหมายภายในเดือน เม.ย. 62

+/- สถาบันสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง 2.7 ล้านบาร์เรลลงไปแตะระดับ 437 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.5 ล้านบาร์เรลขึ้นไปแตะระดับ 256 ล้านบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่ ก.พ. 60

- ราคาน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงกดดันจากการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 11.9 ล้านบาร์เรลต่อวันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ทั้งนี้ EIA คาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบสุทธิภายในปี 2563 นี้

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศมาเลเซีย อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันเบนซินยังคงถูกกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่ล้นตลาด

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่ยังคงล้นตลาดจากอัตราการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาคที่อยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดีเซลยังได้รับแรงหนุนจากการส่งออกน้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยังยุโรป

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 49-54 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 57-62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • หลังการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน เพื่อหาข้อสรุปของข้อพิพาทการค้าระหว่างสองประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. 62 ณ กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ส่งสัญญาณดีต่อตลาด เนื่องจาก นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจ
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของซาอุดิอาระเบียมีแนวโน้มปรับลดลง โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียในเดือน ก.พ. 62 จะอยู่ที่ระดับ 7.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งลดลงจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบในเดือน ม.ค. 62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 7.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ คาดปรับเพิ่มขึ้น จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลง สวนทางกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ซึ่งกลับมาอยู่ที่ระดับสูงสุดในประวัติการณ์ หรือ 11.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน

---------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)        

         โทร.02-797-2999