'สกพอ.' ลุยเกษตรสมัยใหม่

'สกพอ.' ลุยเกษตรสมัยใหม่

หารือ "สศก." เร่งแผน ปรับการเกษตร "อีอีซี"

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเขตพิเศษภาค (สกพอ.) เปิดเผยว่า ภาครัฐผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ 5 อุตสาหกรรม ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) คือ หุ่นเพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมการขนส่งและการบิน เชื้อเพลิงชีวภาพ-เคมีชีวภาพ และอุตสาหกรรมดิจิทัล

ทั้งนี้ ภาคเกษตรจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายเดิม คือ อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร รวมทั้งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ คือ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ และเชื่อมโดยกับอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นการต่อยอดในอุตสาหกรรมเดิม ดังนั้น สกพอ.จะหารือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เพื่อหาข้อมูลในภาพรวมทั้งหมดของทั้ง 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ว่ามีสินค้าชนิดใดบ้างที่มีศักยภาพอยู่แล้ว พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร
นายคณิศ กล่าวว่า การดำเนินงานจะพิจารณาว่าสินค้าชนิดใดที่ต้องพัฒนา เพื่อสร้างผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้นเพียงพอกับความต้องการของตลาด และสินค้าชนิดใดบ้างที่ต้องพัฒนาด้านคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นให้ความสนใจมากที่จะเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารเพื่ออนาคต

นายกฯเร่งแผนเกษตรสมัยใหม่

“สกพอ.กำลังมองเรื่องโครงสร้างการลงทุนและพัฒนาการศึกษาเมืองก่อน ส่วนแผนเกษตรจะอยู่ลำดับสุดท้ายที่ยังไม่ได้ทำ และนายกรัฐมนตรีได้สั่งเร่งให้ สกพอ.ทำมาแล้ว 3 ครั้ง ซึ่งในเบื้องต้นได้หารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เพื่อทราบข้อมูลพื้นฐาน โดยประเด็นที่ต้องการทราบข้อมูลคือการเตรียมการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งหลายอุตสาหกรรมเกี่ยวข้องกับเกษตร”

สำหรับ สินค้าที่น่าสนใจในจ.ฉะเชิงเทรา คือ มะม่วง ส่วนจ.ชลบุรี คือ มันสำปะหลังและยางพารา ในขณะที่จ.ระยอง คือ สับปะรดและยางพารา โดยปัจจุบันสินค้าเหล่านี้จะเริ่มจากการใช้เมล็ดพันธุ์ ที่ซื้อจากตลาดหรือที่เกษตรกรเก็บไว้ใช้ การเตรียมแปลงเพาะปลูก นำไปบริโภคโดยตรง หรือเข้าสู่อุตสาหกรรมแปรรูป การค้าและบริโภค

"แต่ตามแผนการผลิตในเขตอีอีซีที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาจะแนะนำให้เปลี่ยนวิธีคิด โดยต้องทราบความต้องการของผู้บริโภคก่อน ทั้งปริมาณความต้องการและรูปลักษณ์สินค้า ซึ่งผู้บริโภคปัจจุบันมีการปรับตัวเร็วมาก ต้องการสินค้าที่ตรงคามต้องการและรวดเร็ว ยอมเพิ่มราคาสูงกว่าตลาด"

นายคณิศ กล่าวว่า เมื่อปรับแนวคิดการผลิตสินค้าเกษตรใหม่แล้วจะมาผลิตให้ตรงกับความต้องการ โดยในกระบวนการผลิตจะเริ่มจากการคัดพันธุ์ธรรมชาติ (GENE Alteration) การเพาะปลูกจะใช้เครื่องมือ เครื่องจักร Robotics Drone GPS ควบคุมการใช้สารเคมี เน้นการผลิตแบบออร์แกนิค Gene Alteration ซึ่งเกษตรกรสามารถลงทุนเองหรือจ้างผลิต แต่จะต้องมีระบบการประกันภัยคุ้มครอง
ใช้ระบบอัตโนมัติคุมเพาะปลูก

ทั้งนี้ เมื่อได้ผลผลิตแล้วส่วนหนึ่งจะนำไปเพื่อการบริโภค และอีกส่วนจะเข้าสู่กระบวนการแปรรูปที่ใช้ระบบ Automation และ IoT ควบคุมตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งแนวทางนี้จะใช้แรงงานน้อยและคุ้มต้นทุน แต่ระบบการขนส่งโลจิสติกส์ต้องเร็วและเจาะจงเฉพาะตลาด รวมทั้งระบบหีบห่อเหมาะสม เล็ก ประหยัด และมีการติดตามดูแลด้วยระบบ RFID หรือ Tracking System ซึ่งสินค้าสามารถส่งขายผ่านการค้าแบบเดิมได้ทั้งขายส่งและขายปลีก แต่จะเน้นผ่านระบบอีคอมเมิร์ซ

“การขายสินค้าต้องดูตลาดก่อน หากผลิตโดยไม่รู้ สุดท้ายมีปัญหาแน่ ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคมีเลือกซื้อมากขึ้นและคุณภาพต้องมาก่อน ดังนั้นจะมีนวัตกรรมบ่งที่จะบอกว่าทุเรียนสุกแค่ไหน และมีแถบสีให้ผู้บริโภคเลือกซื้อให้ตรงกับความต้องการที่สุด ซึ่งปัจจุบันทำได้แล้วในมะม่วงน้ำดอกไม้ แต่ยังทำได้ในปริมาณไม่มาก”

นายคณิศ กล่าวว่า ตลาดญี่ปุ่นสนใจทุเรียน แต่การส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นยังมีปัญหาเรื่องโรคแมลงติดไปด้วย ซึ่งไทยได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการกำจัดแมลงจากผลทุเรียน เช่น การฉายรังสี แต่ยังไม่ตอบโจทย์ทำให้ญี่ปุ่นส่งเจ้าหน้าที่มาศึกษาวิจัยทุเรียนของไทย เพื่อดูว่าจะปลูกอย่างไรไม่ให้มีแมลงเข้าไปเจาะ โดยเป็นการคิดที่ต่างกับไทยที่แก้ไขที่ปลายเหตุ แต่ญี่ปุ่นจะป้องกันและสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้น

ดังนั้น วันนี้เพื่อผลักดันให้ภาคการเกษตรของไทยเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อก้าวไปสู่ยุคเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วย และภาครัฐต้องส่งเสริมให้ถูก เช่น กรณีข้าวนาปรังที่มีปัญหาในการส่งออกเพราะตลาดไม่ต้องการ แต่รัฐบาลยังยอมให้มีการผลิตถึงปีละ 6 ล้านตันข้าวเปลือก ส่วนยางพาราและปาล์มน้ำมันก็ยังสนับสนุนแบบเดิมเหมือนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว จึงต้องวางแผนปรับเปลี่ยน

ปรับโลจิสติกส์รับอีคอมเมิร์ซ

“ทุกวันนี้ทุกภาคส่วนจะหนีการใช้เทคโนโลยีไม่ได้ รวมทั้งการใช้ระบบอีคอมเมิร์ซน่าสนใจมาก เพราะผู้บริโภคสั่งสินค้าที่บ้านได้เลย ทำให้ต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตการขนส่งทั้งหมด โดยใช้โลจิสติกส์เข้ามาช่วย ซึ่งที่สหรัฐใช้แนวทางนี้คู่กับอีคอมเมิร์ซ จึงต้องการเห็นรูปแบบนี้ในอีอีซีให้เป็นทั้งพื้นที่ปลูก แปรรูป บรรจุและส่งออกเลย"

นายคณิศ กล่าวว่า เพื่อให้สินค้าเกษตรมีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาดต้องนำระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งมาใช้ และกรอบระบบคอนแทรคฟาร์มมิ่งกลางขึ้นมา เพื่อให้ยุติธรรมกับทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร ซึ่งระบบนี้ใช้ในหลายประเทศ แต่ในไทยไม่นิยมเพราะเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ แม้จะมีกฎหมายพันธสัญญาเกษตร ดังนั้นควรมีกรอบที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นชอบด้วยกัน จึงจะทำให้ระบบนี้ประสบผลสำเร็จ

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กล่าวว่า สศก.ยินดีที่จะประสานข้อมูลกับ สกพอ. ซึ่งปัจจุบันภาคตะวันออกมีหลายสินค้าที่ศักยภาพพร้อมจะผลักดันต่อยอดด้วยนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยสินค้าเกษตรที่โดดเด่น คือ มังคุด เงาะ ทุเรียน ลองกอง ซึ่งตลาดต่างประเทศต้องการมาก และเข้ามาตั้งศูนย์ (ล้ง) รับซื้อถึงแหล่งปลูก แต่เกษตรกรไม่ใช่พ่อค้าจึงทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยายามแก้ไขและส่งเสริมให้ขายผ่านอีคอมเมิร์ซที่เกษตรกรตั้งราคาเองได้ แต่ยังไม่แพร่หลาย