อาเซียนบรรลุข้อตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

อาเซียนบรรลุข้อตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

อาเซียนบรรลุข้อตกลง 3 ฉบับ หวังขยายการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

เมื่อวันที่ 13 พ.ย.61 น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 33 สิงคโปร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจจาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ร่วมกันลงนามความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (ASEAN Agreement on Electronic Commerce) โดยมีเป้าหมายให้เกิดการอำนวยความสะดวกการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนสร้างสภาพแวดล้อมที่จะทำให้เกิด ความเชื่อมั่นในการทำธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ผ่านกลไกต่างๆ เช่น การคุ้มครองผู้บริโภค การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ตลอดจนมุ่งให้เกิดการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดความแตกต่างของระดับการพัฒนาประเทศ โดยผ่านความร่วมมือต่างๆ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การส่งเสริมการศึกษาและเทคโนโลยี และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดช่องว่างด้านดิจิทัล และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกอาเซียน

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า ความตกลงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ฉบับนี้ถือเป็นฉบับแรกของอาเซียน ซึ่งหลังจากการลงนามในวันที่ 12 พ.ย. 2561 ก็คาดว่าสามารถจะมีผลใช้บังคับในช่วงต้นปี 2562 หลังจากสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศให้สัตยาบันความตกลงฉบับนี้ เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วจะทำให้อาเซียนมีกลไกการค้าขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเร่งให้อาเซียนที่ยังไม่มีกฎระเบียบในด้านนี้ อาทิ กัมพูชา เมียนมา และ สปป. ลาว มีกฎระเบียบด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมาตรฐานทัดเทียมประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภคของไทย และช่วยให้การค้าผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียนขยายตัวมากขึ้น

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า นอกจากนี้ยังได้ทำความตกลงอีก 2 ฉบับคือ ความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) และเอกสารปรับปรุงความตกลงการลงทุนอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) โดย ATISA จะใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบันที่จัดทำมาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งได้ปรับปรุงให้เป็นความตกลงที่ทันสมัย โดยเพิ่มหลักเกณฑ์ที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานการจัดทำกฎระเบียบด้านบริการของสมาชิกอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่เป็นอุปสรรคทางการค้าเกินความจำเป็น รวมทั้งยังช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการทางการค้าบริการของสมาชิกอาเซียน เพราะกำหนดให้สมาชิกอาเซียนต้องเผยแพร่ระเบียบกฎเกณฑ์ด้านการลงทุนต่อสาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจของนักลงทุน

ส่วน ACIA ฉบับปรับปรุงมีสาระสำคัญ คือ การขยายขอบเขตการห้ามกำหนดเงื่อนไขต่อนักลงทุนในการที่จะเข้าไปลงทุนในอีกประเทศ แต่ก็ยังเปิดช่องให้สมาชิกอาเซียนสามารถบริหารจัดการนโยบายของตนได้ โดยสามารถสงวนมาตรการที่มีความอ่อนไหว ซึ่งเป็นหนึ่งในการดำเนินการที่จะเป็นพื้นฐานที่จะช่วยส่งเสริมการลงทุน สร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน และอำนวยความสะดวกการลงทุนในภูมิภาคต่อไป

น.ส.ชุติมา กล่าวว่า สำหรับการทำงานของเสาเศรษฐกิจของอาเซียนใน 13 ในรอบปี 2561 เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ 5 ด้าน อาทิ การส่งเสริมนวัตกรรมและความเชื่อมโยงด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การใช้งานระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ การรวมกลุ่มการค้าบริการและการลงทุน การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นพ้องให้อาเซียนเตรียมความพร้อมรับมือการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4IR) และแสวงประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค โดยไทยได้แสดงความตั้งใจที่จะสานต่อการดำเนินการเรื่องนี้ในปี 2562 ในช่วงที่ไทยจะเป็นประธานอาเซียน อาทิ การเตรียมความพร้อมบุคลากรเพื่อรองรับ 4IR สำนักเลขาธิการอาเซียนออกผลการศึกษาจัดไทยอยู่ในกลุ่มประเทศผู้นำ (Leading) ของอาเซียนที่มีรากฐานทางเศรษฐกิจแข็งแกร่งและมีศักยภาพในการรองรับทิศทางในอนาคต เช่นเดียวกับสิงคโปร์ และมาเลเซีย รวมทั้งยังเห็นว่าในการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ยุคใหม่ ได้มีการนำประเด็นใหม่ๆ เช่น แรงงานและสิ่งแวดล้อม พลังงาน อีคอมเมิร์ซ มาหารือกัน อาเซียนจึงควรมีแนวทางและกำหนดท่าทีร่วมกัน เพื่อใช้ในการเจรจาความตกลงกับประเทศต่างๆ ในอนาคตต่อไป