วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (25 ต.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (25 ต.ค.61)

WTI ปรับเพิ่มหลังสต็อกเบนซิน-ดีเซลสหรัฐฯ ลด ส่วนเบรนท์ปรับลดจากความกังวลเศรษฐกิจโลก

+ ราคาน้ำมันดิบเวสท์เทกซัสของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังปริมาณน้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 4.8 ล้านบาร์เรลและ 2.3 ล้านบาร์เรลตามลำดับ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า  อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.3 ล้านบาร์เรลขึ้นมาแตะระดับ423 ล้านบาร์เรล

+ จากผลของมาตรการคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันดิบอิหร่านของสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย. 61 นี้ โรงกลั่นน้ำมันรัฐวิสาหกิจของจีนอย่างน้อย 2 โรงไม่มีแผนที่จะใช้น้ำมันดิบของอิหร่านในการดำเนินการผลิตน้ำมันในเดือน พ.ย. 61 นี้

- ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณเงินทุนที่ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง หลังดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 608.01 จุด แตะระดับ 24,583.42 จุด ประกอบกับนักลงทุนมีความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของความต้องการใช้น้ำมันโลกตามการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจที่ลดลง

- รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย ได้เปิดเผยว่า พร้อมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำมันดิบในตลาดโลก โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ 1-2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยจะมีการหารือเกี่ยวกับการควบคุมปริมาณการผลิตของกลุ่มโอเปกในช่วง ธ.ค.61 นี้ที่ประเทศออสเตรีย

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังประเทศจีนมีการส่งออกน้ำมันเบนซินลดลงร้อยละ 42.1 ในเดือนกันยายน ประกอบกับอุปสงค์ในภูมิภาคอยู่ในระดับดี ถึงแม้ว่าอุปทานในตลาดยังคงอยู่ในระดับสูง

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์เพิ่มเติมจากประเทศแอฟริกาใต้ ถึงแม้ว่าจะมีการส่งออกเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็ตาม

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

           ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 64-69 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

           ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 74-79 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • ตลาดน้ำมันดิบยังคงได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มจะตึงตัวมากขึ้น หลังปริมาณการผลิตและการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง
  • ความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มชะลอตัวลง หลังเศรษฐกิจโลกคาดจะเจริญเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก โดยล่าสุด IEA ปรับลดคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันทั้งในปีนี้และปีหน้าลงกว่า 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังผู้ผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ เริ่มปรับเพิ่มการขุดเจาะขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 สัปดาห์ เนื่องจากกำลังการขนส่งของท่อขนส่งน้ำมันดิบจากแหล่งผลิตมายังแหล่งจ่ายน้ำมันดิบคุชชิ่งในสหรัฐฯ คาดจะเพิ่มขึ้นกว่า 500,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ย. นี้

------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999