รัฐบาลโรดโชว์ศักยภาพพื้นที่ อีอีซี

รัฐบาลโรดโชว์ศักยภาพพื้นที่ อีอีซี

รัฐบาลโรดโชว์ศักยภาพพื้นที่ อีอีซี เชิญทูตต่างประเทศขานรับพร้อมเดินหน้าลงทุน

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2561 นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวบรรยายสรุปให้แก่คณะผู้แทนทางการทูตและกงสุลที่ประจำการในประเทศไทย เกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ในหัวข้อ “The Eastern Economic Corridor (EEC) : Taking Off” โดยมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) และนางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ร่วมบรรยาย ณ กระทรวงต่างประเทศ ถนนศรีอยุธยา

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า รัฐบาลโดยกระทรวงต่างประเทศ ได้เชิญเอกอัครราชทูตต่างประเทศประจำประเทศไทย กว่า 56 ประเทศ และสื่อมวลชนทุกแขนงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศเพื่อเข้ามารับฟังนโยบายของรัฐบาลด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ในระยะ 20 ปี ข้างหน้าภายใต้ยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ที่รัฐบาลมุ่งที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของไทยในอนาคตอย่างยั่งยืน

"พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของโครงการที่สะท้อนถึงความตั้งใจของรัฐบาลไทยในการพัฒนาอีอีซีให้นำพาประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 โครงการอีอีซีจะเกิดขึ้นในพื้นที่ 3จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โครงการอีอีซียึด 3 หลักการในการพัฒนา 1. “Connectivity”: โครงการอีอีซีจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาที่เชื่อมโยงและสอดคล้องกับการพัฒนาอื่นๆ ทั้งในและนอกเขตอีอีซี เช่น ในพื้นที่อื่นๆของประเทศไทย หรือแม้กระทั่งในต่างประเทศ 2. “Inclusivity”: โครงการอีอีซีให้ความสำคัญและรับฟังประขากรในพื้นที่ ประชากรในพื้นที่จะต้องได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างที่ควร, และ 3. “Sustainability”: โครงการอีอีซีมีการวางแผนและดำเนินการที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่อง และนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่ทันสมัยระดับนานาชาติ

สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลมุ่งที่จะให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเบื้องต้น 10 อุตสาหกรรมแบ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต่อยอดจากอุตสาหกรรมเดิม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารและอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล และ 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร ซึ่ง 10 อุตสาหกรรมนี้จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยไปสู่อุตสาหกรรม 4.0

"ขณะนี้เทคโนโลยีโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไทยแลนด์ 4.0 คือการยกระดับการพัฒนาให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยการมุ่งยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ 4.0 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่วางไว้ในเบื้องต้นที่จะสนับสนุนให้ลงทุนในอีอีซี เพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และทำให้ไทยหลุดพ้นประเทศกับดักรายได้ปานกลางในอนาคต" นายอุตตม กล่าว