'พัฒน์กล' ดันธุรกิจใหม่่ เสริมพอร์ตรายได้ 'พันล้าน'

'พัฒน์กล' ดันธุรกิจใหม่่ เสริมพอร์ตรายได้ 'พันล้าน'

ติดเครื่องธุรกิจ...!! ตามเศรษฐกิจฟื้นตัว รับดีมานด์ลูกค้าขยับกำลังการผลิตเพิ่ม 'แสงชัย โชติช่วงชัชวาล' นายใหญ่ บมจ.พัฒน์กล โชว์พันธกิจ ดัน 3 ผลิตภัณฑ์ 'ดาวรุ่ง' พร้อมเติบโตนอกบ้าน

แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว ส่งผลบวกต่อความต้องการ (ดีมานด์) ใช้เครื่องจักรกลในภาคอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศไทยและทั่วโลก เร่งขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการเพิ่มขึ้น ซึ่งกำลังเป็น 'แรงผลักดัน' อัตราการเติบโตในอนาคต...!!

หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับปัจจัยบวก นั่นคือ บมจ. พัฒน์กล หรือ PK เป็นผู้นำด้านเครื่องผลิตน้ำแข็ง และหนึ่งในผู้นำด้านธุรกิจวิศวกรรมเครื่องจักรผลิตบรรจุภัณฑ์ให้กับสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของไทย รวมทั้งยังเป็นผู้ผลิตเครื่องทำน้ำแข็งรายใหญ่ระดับโลก

'แสงชัย โชติช่วงชัชวาล' ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร PK บอกสตอรี่ใหม่ ๆ ผลักดันฐานะทางการเงินกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า

หากย้อนไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา 'เศรษฐกิจทั่วโลกและเมืองไทย' ค่อนข้างชะลอตัว แต่ปัจจุบันการฟื้นตัวของภาคส่งออกและการอุปโภคบริโภคฟื้นตัว เป็น 'ปัจจัยบวก' ดึงดูดผู้ประกอบการลงทุนขยายกำลังการผลิตรองรับความต้องการที่สูงขึ้น

ปัจจุบันแบ่งธุรกิจหลักออกเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 'กลุ่มเครื่องทำความเย็น' แบ่งเป็น เครื่องทำความเย็นขนาดใหญ่สำหรับอุตสาหกรรม เครื่องทำความเย็นขนาดกลางและขนาดเล็ก และ เครื่องทำความเย็นสำหรับเครื่องจักรเพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ

'กลุ่มแปรรูปอาหาร' แบ่งออกเป็น เครื่องจักรในการผลิตนมและเครื่องดื่มไม่ว่าจะเป็นน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชา เบียร์ ฯลฯ และ เครื่องจักรแปรรูปของเหลวอื่นๆที่รับประทานได้ เช่น น้ำปลา ซีอิ๊ว และของเหลวที่รับประทานไม่ได้ เช่น สีทาบ้าน ยาสระผม สบู่เหลว เป็นต้น และ 'กลุ่มเครื่องทำน้ำแข็ง' ซึ่งมีจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยปัจจุบัน 3 กลุ่มธุรกิจยังใช้โรงงานผลิตร่วมกัน

ทว่า ตอนนี้บริษัทมี 'ธุรกิจดาวรุ่ง' 3 ผลิตภัณฑ์ นั่นคือ 1.แผ่นชนวนห้องเย็น 2.ชนวนที่ใช้ในงานก่อสร้างซึ่งมีทั้งแบบที่กันไฟและไม่กันไฟ และ 3.เครื่องระบายความร้อนสแตนเลสที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว ซึ่งได้แยกออกมาจัดตั้งเป็นบริษัทย่อยและให้บริหารงานกันเอง

โดยเฉพาะบริษัทผลิตเครื่องระบายความร้อนสแตนเลสที่ใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสินค้าที่น่าจับตามอง ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ที่บริษัทผลิตขึ้นเป็นรายแรกของโลก โดยล่าสุดได้ลงทุนไป 300 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงงานแห่งใหม่ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตได้ในช่วงปลายปี 2561 เพื่อรองรับความต้องการทั้งจากในประเทศและต่างประเทศโดยเบื้องต้นคาดว่าจะรับรู้รายได้ราว 500 ล้านบาท ภายในช่วง 5 ปีแรก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตเพียงพอที่จะแยกออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ได้ บริษัทจะแยกออกมาจัดตั้ง ซึ่งกลุ่มผลิตถังสแตนเลสที่ใช้ในอุตสหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยา และเคมีภัณฑ์ ซึ่งถือเป็นที่มีสินค้าที่มีมาตรฐานพิเศษเฉพาะตัว และกลุ่มพัฒน์กลเทรดดิ้ง จัดจำหน่ายอุปกรณ์สแตนเลสที่ในในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และยา ซึ่งบริษัทกำลังมองอยู่

'เรามีแนวคิดว่าถ้าผลิตภัณฑ์ไหนเติบโตเพียงพอก็จะแยกออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่เพื่อจัดการให้เกิดความเป็นเลิศ แต่เราไม่ได้ถือหุ้น 100% ให้ผู้บริหารในบริษัทมาถือด้วย เขาต้องบริหารธุรกิจได้ด้วยตัวเอง ต้องรู้ในทุกๆ เรื่องเหมือนเป็นบริษัทของเขาเอง นี่คือหลักการที่เราพยายามสร้างการเติบโตให้กับผู้ทำงาน'

ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บอกต่อว่า บริษัทวางเป้าหมายแผนธุรกิจใน 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) เน้นเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็น 50% จาก 20% แต่เบื้องต้นในแผนระยะ 3 ปี ขยับสัดส่วนรายได้เป็น 35% ก่อน โดยใช้ 'กลยุทธ์สำคัญ' คือ การพัฒนาสินค้าร่วมกับลูกค้าแต่ละรายที่มีความต้องการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในกลุ่มอาเซียนก็จะใช้โมเดลธุรกิจที่คล้ายๆกับเมืองไทย แต่นำไปปรับให้สอดคล้องกับแต่ละประเทศมากขึ้น

'ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 20% ในประเทศ 80% ตลาดต่างประเทศส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในกลุ่มอาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่กำลังเติบโต ทำให้มีความต้องการเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมต่างๆเข้ามาค่อนข้างเยอะ' 

สำหรับ 'การเติบโตในต่างประเทศ' บริษัทได้จัดตั้งกลุ่มธุรกิจขึ้นมาใหม่ เพื่อขยายตลาดในเชิงรุกมากขึ้นใน 4 พื้นที่หลัก ประกอบด้วย กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง , มาเลเซีย ,อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่มีประชากรจำนวนมาก ,ฟิลิปปินส์ กลุ่มสหรัฐฯ ยุโรป และออสเตรเลียซึ่งเป็นตลาดใหญ่ระดับโลกที่บริษัทต้องการเข้าไปเจาะตลาดให้ได้ โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะเน้นเรื่องของมาตรฐานสินค้าเป็นหลัก

'ตลาดต่างประเทศตอนนี้เราจัดโครงสร้างใหม่คือในหนึ่งประเทศต้องดูสินค้าทุกตัวจะได้เชี่ยวชาญในพื้นที่นั้นๆ ไปเลย ไม่ได้แยกทีมเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราต้องการคนที่มีศักยภาพ รวมทั้งเปิดโอกาสให้กับคนที่อยากออกไปทำ และที่สำคัญคือต้องพัฒนาคนในพื้นที่ขึ้นมาให้ได้'

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับเรื่องของเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการพัฒนาเครื่องจักรและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ผ่านหน่วยงานศูนย์นวัตกรรม หรือ Innovation Center ที่จะมีหน้าที่วิจัยและพัฒนา คิดค้นนวัตกรรม เครื่องจักรกลใหม่ๆ และฝึกอบรมทักษะให้กับพนักงาน

'สำหรับวิสัยทัศน์ของเราตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทมาเลยก็คือ คุณภาพ เครื่องจักรที่ผลิตออกมาทุกชิ้นต้องไม่เสีย มีอายุยาวเพียงพอที่ลูกค้าจะประกอบธุรกิจได้ของเสียทุกอย่างต้องเป็นศูนย์เราจึงให้ความสำคัญมากๆกับการวิจัยและพัฒนาเพื่อให้ได้สินค้าที่ดีที่สุด'

เขา บอกว่า บริษัทได้มีการผลิตและนำหุ่นยนต์ รวมทั้งระบบออโตเมชั่นมาใช้ในโรงงานเป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมทั้งยังรับจ้างผลิตหุ่นยนต์และระบบควบคุมอัตโนมัติตามความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย อย่างเช่นการจัดทำระบบควบคุมอุณหภูมิในตู้แช่อาหารและเครื่องดื่มตามห้างสรรพสินค้า ซึ่งระบบจะทำงานโดยอัตโนมัติและสามารถควบคุมได้จากโรงงานของบริษัทผ่านเครือข่าย 4จี

นอกจากนี้ มองว่าในอนาคตอุตสาหกรรมต่างๆ จะมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้มากขึ้น เนื่องจากมีความแม่นยำสูง ช่วยลดของเสียในกระบวนการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและยาซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนไหวสูง ต้องปราศจากการปนเปื้อน และมีอายุการใช้งานที่จำกัด ประกอบกับหลายอุตสาหกรรมกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่งการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตถือว่าคุ้มค่ามากขึ้น เพราะปัจจุบันค่าแรงสูงขึ้น แรงงานก็มีการหมุนเวียน (Turnover) มากขึ้น ดังนั้นการลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์แม้ว่าต้นทุนสูงแต่มองว่าจะคุ้มค่าในระยาว

'เราสร้างหุ่นยนต์ขึ้นมาใช้เองในโรงงานกว่า 20 ปีแล้ว และก็มีที่พัฒนาร่วมกับลูกค้าแต่ละราย มีลูกค้าที่มาจ้างให้เราดูแลระบบโรงงานของเขาเลย ที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่าการทำงานมีประสิทธิภาพขึ้น ของเสียลดลง แม้ว่าจะต้องลงทุนเยอะแต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะเดี๋ยวนี้ค่าแรงไม่ได้ถูกเหมือนเมื่อก่อนแรงงานก็หาได้ยากขึ้น'

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในอนาคตหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจะเข้ามามีบทบาทต่อภาคการผลิตของไทยมากขึ้น แต่ในบางอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ยังมีความต้องการใช้แรงงานคนเป็นหลักอยู่ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้หุ่นยนต์เข้ามาแทนที่แรงงานอย่างสมบูรณ์ แรงงานก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน ด้วยการพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถของตัวเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นแรงงานมีฝีมือซึ่งค่าตอบแทนก็จะเพิ่มขึ้นด้วย

อีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้บริษัทอยู่มาได้กว่า 50 ปี จนได้รับการยอมรับและความไว้วางใจจากลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก็คือ 'ความจริงจังและจริงใจ' ตั้งใจพัฒนาเครื่องจักรกลทุกชนิดอย่างเต็มความสามารถ มีการพูดคุยและร่วมพัฒนาสินค้ากับลูกค้าโดยตลอด เพราะมองว่าการที่บริษัทจะประสบความสำเร็จนั้น ต้องทำให้ลูกค้าประสบความสำเร็จก่อน สิ่งที่บริษัทสร้างให้กับลูกค้าก็เปรียบเสมือนเครื่องมือทำเงินของเขา ดังนั้นต้องเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อทำให้เขาอยู่รอดและแข่งขันได้

ส่วนแนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปีนี้บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีที่ผ่านมาที่มีรายได้4,796.11 ล้านบาท โดยได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง ทำให้ภาคธุรกิจมีการลงทุนมากขึ้น หนุนความต้องการใช้เครื่องกลในการผลิต ขณะที่ตลาดต่างประเทศก็ยังสดใสโดยเฉพาะในกลุ่มอาเซียนซึ่งถือเป็นลูกค้าหลักของบริษัท

ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างองค์ภายในใหม่ โดยมีการจัดกลุ่มธุรกิจเพื่อให้การบริหารจัดการคล่องตัวมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เน้นงานรับเหมาซึ่งมีจำนวนมาก แต่โอกาสผิดพลาดเยอะและกำไรต่ำ ก็หันมารับงานที่บริษัทมีความชำนาญมากขึ้น รวมทั้งออกผลิตภัณฑ์ของบริษัทเองมากขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับตลาดเพิ่มขึ้น

'ตอนนี้เราหันมาเน้นสิ่งที่เราถนัดจริงๆ เพื่อไปชิงแชมป์โลกให้ได้ มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของเราเอง เราต้องเชื่อว่าเราจะเป็นที่หนึ่งให้ได้ถ้าเราตั้งใจ นำสิ่งที่ประสบความสำเร็จมาเรียนรู้และปรับปรุงให้ดีขึ้น ควบคู่ไปกับการแก้ไขข้อบกพร่องเพื่อให้เราผลิตได้เร็วขึ้นและผิดพลาดน้อยลง'

โดยในแต่ละปีบริษัทจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่ ปรับปรุงและบำรุงรักษาเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิการทำงาน และลงทุนในบริษัทย่อยซึ่งเป็นการลงทุนต่อเนื่องเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับสินค้าในกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้านวัตกรรมที่มีอนาคตและความต้องการสูง

ขณะที่ 'ปัจจัยเสี่ยง' ที่เขามองว่าจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทมากที่สุดก็คือ 'พนักงาน' เพราะถือเป็นทรัพยากรพื้นฐานของธุรกิจวิศวกรรม แม้ว่าปัจจุบันเทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่พนักงานก็ยังมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ เนื่องจากงานบางอย่างยังต้องอาศัยแรงงานคนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน ซึ่งในแต่ละปีบริษัทจะมีการฝึกอบรมพนักงานอย่างสม่ำเสมอเพื่ออัพเดทเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งสร้างวัฒนธรรมองค์กรเพื่อเป็นบรรทัดฐานในการทำงานและการอยู่ร่วมกันของทุกคน

ท้ายสุด 'แสงชัย' ทิ้งท้ายไว้ว่า ในแต่ละปีเราลงทุนเรื่องคนค่อนข้างเยอะ มีการเทรนนิ่งอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงเรื่องของการดำรงชีวิตและวัฒนธรรมในองค์กร อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เราไม่ได้ทำเพื่อเงินเดือนอย่างเดียว เรากำลังสร้างเอ็นจิเนียริ่งวิศวกรรมของคนไทยขึ้นมาเพื่อส่งต่อไปในระดับโลก