ชนะโหวต! 'อาทิตย์ นันทวิทยา' เป็นสุดยอดนักธุรกิจ ปี2560

ชนะโหวต! 'อาทิตย์ นันทวิทยา' เป็นสุดยอดนักธุรกิจ ปี2560

สังคมออนไลน์โหวตเลือก "อาทิตย์ นันทวิทยา" บิ๊กบอสไทยพาณิชย์ เป็นสุดยอดนักธุรกิจ ปี2560

"อาทิตย์ นันทวิทยา" กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้รับเลือกจากผู้อ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” ให้เป็น “สุดยอดนักธุรกิจแห่งปี 2560” ด้วยคะแนน 250,939 คะแนน

ต้องบอกว่า ในปี2560 นับเป็นปีที่ “ยาก” และ “ท้าทาย” สำหรับผู้นำในหลายธุรกิจที่ต้อง “คิด” และ “นำ” องค์กรฝ่ากระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจ ไปสู่เป้าหมายการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน
โดยเฉพาะในธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ที่มีสารพัดปัจจัยเข้ามากระทบ หรือ “Disturb” ทั้งโลกของเทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนพฤติกรรมของคนไทย และโครงสร้างอุตสาหกรรมให้เป็น “ยุคดิจิทัล”มากขึ้น เพื่อก้าวไปสู่สังคม “ไร้เงินสด” หรือ “Cashless Society” ในอนาคต

ชนะโหวต! \'อาทิตย์ นันทวิทยา\' เป็นสุดยอดนักธุรกิจ ปี2560

อาจเพราะเหตุนี้ทำให้ “อาทิตย์” ได้รับการโหวตด้วยคะแนนสูงสุดจากผู้อ่าน “กรุงเทพธุรกิจ” เพราะความโดดเด่นของ “อาทิตย์” ในรอบปีที่ผ่านมา อยู่ที่การกล้าตัดสินใจ ประกาศผ่าโครงสร้างองค์กร ปรับธุรกิจครั้งใหญ่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนไปทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยอาศัยจังหวะที่ธุรกิจยังอยู่ในช่วง “เสือนอนกิน” เร่งปรับเปลี่ยน เริ่มตั้งแต่การสลับสับเปลี่ยน ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เพื่อหวังให้เกิดไอเดียใหม่ๆทางธุรกิจ

“ไทยพาณิชย์” ภายใต้การนำของ “อาทิตย์” ประกาศทุ่มเงินลงทุนถึง 4 หมื่นล้านบาทในช่วง 3 ปี (2560-2563) ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี พร้อมกับมีการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ทั้ง Digital ventures และ SCB Abacus เพื่อค้นหา พัฒนา และนำเทคโนโลยี และนำนวัตกรรมใหม่ๆมาใช้ในการให้บริการลูกค้า โดยมีเป้าหมายก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในเรื่องของดิจิทัลแบงกิ้ง และเป็น “The Most Admired Bank” หรือ “ธนาคารที่น่าชื่นชมที่สุด”

การจะไปสู่เป้าหมายนั้น สิ่งสำคัญ คือ “ความพึงพอใจ”ของลูกค้า ซึ่งจะมาจาก “ผลิตภัณฑ์” และ “บริการ” ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ด้วยเหตุนี้ไทยพาณิชย์จึงได้ “ปฏิวัติ” ธุรกิจ ทำการแยก “งานขาย” ออกจากการบริการ เพื่อแก้ปัญหาการขายแบบ “ยัดเยียด”ให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาของธุรกิจธนาคารโดยส่วนใหญ่

ชนะโหวต! \'อาทิตย์ นันทวิทยา\' เป็นสุดยอดนักธุรกิจ ปี2560

นอกจากนี้ธนาคารได้หยุดตั้งเป้าหมาย หรือเคพีไอ จากยอดขายผลิตภัณฑ์ ปรับมาตั้งเป้าหมายจากความพึงพอใจการใช้บริการของลูกค้า ด้วยหวังว่าเมื่อลูกค้าพอใจแล้ว จะเลือกใช้บริการ และเลือกผลิตภัณฑ์ของธนาคารไปตลอด ซึ่งจะเป็นจุดที่ทำให้ธนาคารเติบโตอย่างยั่งยืนได้

อย่างไรก็ตาม “อาทิตย์” บอกว่า การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงองค์กรในครั้งนี้ “ไม่ใช่ความกล้า ” แต่มาจาก “ความเข้าใจธุรกิจ” ซึ่งหากศึกษาดีๆ ก็จะรู้ว่าธุรกิจธนาคารก็คล้ายกับ 4-5 ธุรกิจอื่นๆที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และอุตสาหกรรม ในส่วนของธุรกิจธนาคารในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นทิศทางชัดเจนว่า ว่าเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรรมผู้บริโภค ทำให้ ความคาดหวังต่อการบริการและผลิตภัณฑ์ของธนาคารเปลี่ยน

ที่สำคัญการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ “ฉับไว” จึงเป็นภาวะที่ทุกคนต้อง “หนีตาย” และ “ รอไม่ได้”

“เป็นความเชื่อ และ Vision ส่วนตัว ที่มองว่าถ้าไม่เปลี่ยนก็หนีตายไม่ได้ ที่สำคัญการค่อยๆปรับเปลี่ยนทีละนิด ไม่สามารถเปลี่ยนแนวคิด และวัฒนธรรมขององค์กรได้ และสิ่งมี่เคยนำมาพาองค์กรประสบความสำเร็จในอดีต อาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับอนาคต ถามว่าทำไมถึงต้องทำแบบเร็ว และแรง ก็เพราะว่า ถ้าไม่ทำก็ทำองค์กรขยับไม่ได้”

ชนะโหวต! \'อาทิตย์ นันทวิทยา\' เป็นสุดยอดนักธุรกิจ ปี2560

เขาบอกอีกว่า เป็นเรื่องดีที่การตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งได้ ทั้งผู้ถือหุ้น และกรรมการเอาด้วย เพราะแน่นอนว่าการปรับโครงสร้างในครั้งนี้ ต้องทำใจว่า แม้กำไรไม่ได้หายไป แต่ไม่สามารถเอากำไรระยะสั้นมาเป็นตัวตั้งได้ ซึ่งทุกคนก็มองไปในทิศทางเดียวกันว่าถ้าจะให้องค์กรแข็งแรง และเติบโตอย่างยั่งยืนจะต้องเปลี่ยน มองผลระยะยาวมากกว่าผลกำไรระยะสั้น

สิ่งที่จะทำให้องค์กรยั่งยืนได้ หลักๆ จะต้องทำให้องค์กร “ตัวเบา” มีต้นทุนในการให้บริการถูกกว่าปัจจุบัน คิดเป็น 30-50% โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนกระบวนการมนุษย์ ถ้าทำได้ในปริมาณมาก ก็จะทำให้ต้นทุนการให้บริการถูกลง ส่วนที่สองคือ จะต้องเป็นองค์กรที่สามารถปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ๆได้เร็วและนำเทคโนโลยีมาช่วยในการสร้างประสบการณ์ที่ดี และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค

"องค์กรในอนาคต จะ "กลับข้าง" หรือ "ตีลังกา"กับรูปแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หมายความว่า สิ่งที่ใหญ่จะต้องเล็ก นั่นก็คือจำนวนสาขา และจำนวนพนักงาน สิ่งที่จะเคยใหญ่จะต้องเล็ก นั่นก็คือความพึงพอใจของลูกค้า เราต้องทำให้ลูกค้ารู้สึกว่า จะต้องมีเอสซีบี ไม่มีไม่ได้ เหมือนกับการใช้เฟซบุ๊คและไลน์ของคนไทยในปัจจุบัน

หลังจากลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยี และลงแรงปรับโครงสร้างองค์กร จัดวางกำลังคนในปีนี้ไปแล้ว “อาทิตย์”บอกว่าในปี2561 ถึงเวลาที่เอสซีบีจะเดินหน้าทำธุรกิจ และสร้างรายได้จากสิ่งที่ได้ลงทุนลงแรงไปทั้งหมด แน่นอนว่าจะได้เห็น “การเปลี่ยนแปลง” และ “ธุรกิจรูปแบบใหม่” ของธนาคารออกมาในปีนี้

ต้องติดตามดูว่าทิศทางธุรกิจของเอสซีบีภายใต้การนำของ “อาทิตย์ นันวิทยา” จากนี้ไปจะเป็นอย่างไร และนำพาองค์กรก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุด คือการเป็น “The Most Admired Bank” ได้หรือไม่