เปิดมุมคิด 'คณิศ แสงสุพรรณ' ดอกเบี้ยขึ้นได้ศก.ต้องโตมั่นคง

เปิดมุมคิด 'คณิศ แสงสุพรรณ' ดอกเบี้ยขึ้นได้ศก.ต้องโตมั่นคง

เปิดมุมคิด “คณิศ แสงสุพรรณ” กนง. คนใหม่ “สายพิราบ” มองนโยบายการเงินปัจจุบันผ่อนคลายเพียงพอแล้ว ย้ำ ดอกเบี้ย “ปรับขึ้นได้” ต่อเมื่อเศรษฐกิจโตมั่นคง กระจายตัวมากขึ้น ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยน ไม่ใช่เครื่องมือหลักที่ใช้ดูแลเงินเฟ้อ

คณิศ แสงสุพรรณ หนึ่งในคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) คนใหม่ ให้สัมภาษณ์พิเศษทีมข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง กนง. เมื่อเร็วๆ นี้ ...โดยเขามองว่า ดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันที่ 1.5% ถือว่าผ่อนคลาย “เพียงพอ” แล้ว

“ผมคิดว่า เราทำนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายพอสมควรในช่วงนี้ และสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้พอสมควร ไม่ได้ตึงตัวเกินไป”

ปัจจุบันดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.5% ส่วนเงินเฟ้ออยู่ที่ประมาณ 0.9% เท่ากับว่า “ดอกเบี้ยแท้จริง” ยังเป็นบวกอยู่ราวๆ 0.6% ซึ่ง คณิศ มองว่า เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะถ้าดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ ภาพจะเป็นอีกแบบทันที โดยคนจะยิ่งแสวงหาผลตอบแทนที่สูงมากขึ้น ทำอะไรที่พิศดารมากขึ้น เกิดการแสวงหากำไรที่ผิดปกติจนเกินไป

ส่วนประเด็นเรื่องกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ หลุดกรอบมา 3 ปีติดต่อกันนั้น คณิศ มองว่า สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น “บางเรื่อง” ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไม่สามารถควบคุมได้ 100% เช่น กรณีดอกเบี้ยที่เชื่อมโยงกับเงินเฟ้อ บางช่วงก็เชื่อมโยงได้ แต่บางช่วงก็ไม่สามารถเชื่อมโยงได้

ช่วงที่เศรษฐกิจร้อนแรงมากๆ คณิศ มองว่า แบบนี้ดอกเบี้ย “ดึงได้” แต่ช่วงที่เงินเฟ้อต่ำ การลดดอกเบี้ยลงเพื่อดันเงินเฟ้อขึ้นอาจไม่ได้ผลนัก ขณะเดียวกันยังไม่สามารถช่วยดันเศรษฐกิจได้ด้วย ยกเว้นจะลดดอกเบี้ยลงมากๆ แต่ถ้าทำแบบนั้นผลที่ได้อาจไม่คุ้มค่า จึงถือเป็นข้อจำกัดของเครื่องมือ

“ในด้านการเงิน เขามักจะบอกกันว่า เงินดึงได้ แต่ผลักไม่ได้ เวลาที่เอาเงินใส่เข้าไปแต่เศรษฐกิจไม่โต แบบนี้ผลักเงินเข้าไปก็เท่านั้น”

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังอยากเห็นเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-4% นั้น คณิศ บอกว่า ต้องดูว่าเป้าหมายที่ตั้ง เป็นเป้าที่คิดขึ้นมาในช่วงไหน เวลานี้เงินเฟ้อทั่วโลกถือว่าอยู่ระดับต่ำ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจ โดยเฉพาะเมื่อธนาคารกลางหลายประเทศพยายามปั๊มเงินเข้าสู่ระบบเพื่อดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น แต่กลายเป็นว่าเงินเฟ้อกลับไม่เพิ่มขึ้นอย่างที่คิด

“เงินเฟ้อเราผูกโยงกับเงินเฟ้อโลกพอสมควร เพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์เราโยงกับตลาดโลก เวลาที่เงินเฟ้อขึ้นหรือลงโดยเกิดจากฝั่งของซัพพลาย ดอกเบี้ยมักทำอะไรได้ไม่มาก โดยธรรมชาติ จึงพูดกันว่า ดอกเบี้ยดูแลได้ ในกรณีที่เงินเฟ้อเกิดจากดีมานด์ แต่จะทำอะไรได้ไม่มากนัก ถ้าเกิดจากฝั่งซัพพลาย”

ส่วนคำถามว่าเมื่อเงินเฟ้อไทยผูกโยงกับเงินเฟ้อโลกมากขึ้น ในขณะที่ดอกเบี้ยทำอะไรได้ไม่มากนัก แล้วเครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนสามารถเข้ามาช่วยดูแลเงินเฟ้อได้หรือไม่นั้น คณิศ บอกว่า วัตถุประสงค์ของเครื่องอัตราแลกเปลี่ยนไม่ได้ถูกนำมาใช่เพื่อดูแลเงินเฟ้อ แต่ใช้เพื่อดูแลความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค เครื่องมือนี้จึงไม่ได้เชื่อมโยงกับเงินเฟ้อเท่าไรนัก

“อัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่เครื่องมือที่จะดันให้เงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมาย เพราะถ้าจะทำอย่างนั้น คงต้องทำให้ค่าเงินอ่อนลงมากๆ”

คณิศ ยังบอกด้วยว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในเวลานี้ คนชอบพูดว่า “บาทแข็ง” แต่จริงๆ แล้ว เป็นสถานการณ์ “ดอลลาร์อ่อน” เพราะนักลงทุนผิดหวังกับนโยบายของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ จึงทำให้เงินไหลออกจากสหรัฐ และถ้าดูค่าเงินบาทแม้จะแข็งค่า แต่ไม่ได้แตกต่างจากสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคมากนัก

อีกส่วนที่ทำให้เงินบาทแข็งค่า คือ ประเทศไทยมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ส่วนใหญ่จะขาดดุล ทำให้สกุลเงินเขาไม่แข็งค่ามากนัก ดังนั้นสิ่งที่ ธปท. ต้องพยายามดูแล คือ ดูให้สกุลเงินของเราไม่แตกต่างจากสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคมากเกินไปจนทำให้สูญเสียความสามารถการแข่งขัน

คณิศ บอกว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่สูงมากของไทย ไม่ใช่ว่าเราส่งออกเก่ง แต่เป็นเพราะเรา “นำเข้า” น้อย สาเหตุที่นำเข้าน้อยก็เพราะมีการลงทุนน้อย แต่หลังจากภาครัฐผลักดันโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) เชื่อว่าจะทำให้การลงทุนภาคเอกชนกลับมาเติบโตได้ ในอนาคตโตได้ถึง 10% จากปัจจุบันที่ยังขยายตัวเพียงแค่ 3%

“เมื่อมีการลงทุนมาก ก็มีการนำเข้ามาก ดุลบัญชีเดินสะพัดจะค่อยๆ ลดการเกินดุล ค่าเงินที่แข็งก็จะเริ่มอ่อนลง เคลื่อนไหวใกล้เคียงกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคมากขึ้น จีดีพี เพิ่มขึ้น กลายเป็น happy growth”

ส่วนคำถามที่ว่าดอกเบี้ยนโยบายจะปรับเพิ่มขึ้นได้เมื่อไหร่นั้น คณิศ มองว่า ดอกเบี้ยจะขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจที่มั่นคง คือ มีอัตราการขยายตัวที่ต่อเนื่องและกระจายตัวมากขึ้น ถ้าเศรษฐกิจยังเติบโตไม่ทั่วถึง ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นจะไปชะลอการเติบโตทันที

“ต้องเห็นการเติบโตที่หนักแน่นและมั่นคง ที่สำคัญต้องกระจายตัวด้วย เพราะถ้าใช้เครื่องมือเพื่อเบรกเศรษฐกิจ ผลกระทบของแต่ละกลุ่มไม่เท่ากัน ดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่ คนที่เป็นหนี้จะโดนผลกระทบก่อน การทำนโยบายการเงินจึงต้องทำด้วยความระมัดระวัง ชั่งน้ำหนักให้ดี ต้องไม่ช้าไปและไม่เร็วเกินไป”

คณิศ บอกด้วยว่า การดูแลเศรษฐกิจให้กระจายตัวมากขึ้น ดอกเบี้ยนโยบาย เปรียบเหมือน “มีดใหญ่” ที่ดูแลทั้งระบบ ไม่สามารถไปดูเป็นจุดๆ ได้ แต่นโยบายการคลังเป็นเครื่องมือที่นำมาช่วยเสริมในจุดเหล่านั้นได้

“ที่เราอยากเห็นการกระจายตัวมากขึ้น เพราะถ้าเศรษฐกิจยังไม่กระจาย ผลของคนกลุ่มล่างที่ไม่ได้มีรายได้มากขึ้น จะไปดึงเศรษฐกิจเมืองไม่ให้เติบโตด้วย คนโบราณจึงพูดกันว่า “ไฟไหม้นาควันมาตลาด” ในความหมายก็คือ หากเกิดปัญหาภาคเกษตร ภาคในเมืองก็จะได้รับผลกระทบด้วย สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ”