'ดีอี'มั่นใจติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐเสร็จตามแผน

'ดีอี'มั่นใจติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐเสร็จตามแผน

"รมว.ดีอี" สั่งเร่งติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐ มั่นใจแล้วเสร็จทั้ง 24,700 หมู่บ้านภายในสิ้นปีนี้ เตรียมลงนาม MOU ไทย-ญี่ปุ่น ใน 6 สาขา

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ ถึงการดำเนินงานของหน่วยงานในสังกัดนั้น บมจ. ทีโอที ได้เร่งดำเนินการติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้และแล้วเสร็จทั้ง 24,700 หมู่บ้านภายในสิ้นปีนี้

ด้านบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้พัฒนาเว็บไซต์เพื่อการจำหน่ายสินค้าภายใต้ชื่อ www.thailandpostmart.com สนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจชุมชนที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าคุณภาพแต่ยังขาดความชำนาญในการหาช่องทางจำหน่าย การตลาด การรับชำระเงิน และการขนส่ง โดยเว็บไซต์ดังกล่าว จะมีระบบ Payment Gateway เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการชำระเงินค่าสินค้าและบริการ อีกทั้งยังได้เปิดพื้นที่ที่ทำการสาขาไปรษณีย์ทั่วประเทศ ในการรองรับสินค้าชุมชนให้มีช่องทางการจำหน่าย เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนแต่ละชุมชนอีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าการเตรียมการจัดงาน Digital Thailand Big Bang 2017 ระหว่างวันที่ 21-24 ก.ย.60 ณ อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งกระทรวงฯ ได้มอบหมายให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการประสานกับทุกหน่วยงานในสังกัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนร่วมจัดงานครั้งนี้ ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของแต่ละส่วนงานเป็นไปตามเป้าหมาย โดยได้เรียนเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงาน ในวันที่ 21 ก.ย.60 รวมทั้งยังได้เชิญ มร.เจฟ เบซอส ผู้ก่อตั้งเว็บ amazon.com และ มร.โจนาธาน ออร์ทมาน ประธานผู้ร่วมก่อตั้ง Global Entrepreneur Network (GEN) เข้าร่วมงานในครั้งนี้ด้วย

สำหรับรูปแบบการจัดงานจะแบ่งเป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซนแรก “Digital Ecosystem Thailand" แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ Digital startup, Digital services, Digital Entrepreneur และ Global Network โซนที่สอง “Digital Playground" แบ่งเป็น Co-working space, Maker space และ New Innovation โซนที่สาม “Digital Park" แบ่งเป็น Quality of Living, Digital Industry Investment, Digital Innovation Service และ University และโซนสุดท้าย “Digital Community and Smart City" แบ่งเป็น ๓ มิติชุมชน ได้แก่ ชุมชนเมืองที่อยู่ในเมือง ชุมชนที่อยู่ในชนบท และชุมชนอนาคตที่กำลังจะอยู่บนโลกไซเบอร์ สำหรับ Smart City จะแบ่งเป็น 3 ด้านหลัก ๆ คือ Economy (เศรษฐกิจ ) Environment (สิ่งแวดล้อม) และ Society (สังคม) ซึ่งในแต่ละโซนจะมีไฮไลท์ของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัยและน่าสนใจมาจัดแสดงให้ผู้เข้าร่วม ชมงานได้สัมผัสอย่างหลากหลาย

นายพิเชฐ กล่าวว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสาร ประเทศญี่ปุ่น และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ว่าด้วยความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัล บนหลักการของความเท่าเทียมกัน การตอบแทนกันและกัน การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างผู้เข้าร่วมทั้งสองฝ่าย

โดยมีขอบเขตความร่วมมือในสาขาต่างๆ รวม 6 สาขา ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ 2) การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการตรวจอากาศและการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 3) การแบ่งปันความรู้ในด้านเทคโนโลยีนวัตกรรม การบริการและแอปพลิเคชันด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัล 4) การพัฒนาบุคลากรในสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และดิจิทัล 5) ความร่วมมือด้านไปรษณีย์ และ 6) ความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกัน กรอบระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการเตรียมดำเนินการลงนามความร่วมมือฯ ครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากการหารือระหว่างนายกรัฐมนตรีของไทยกับนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นสมัยนั้น เมื่อวันที่ 9 ก.พ.58 ในการประชุม Thailand-Japan Summit ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้มีการลงนามความร่วมมือด้านดิจิทัลกับนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ สาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อร่วมกันศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในยุค 4.0 ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องให้ความสำคัญ