'กรุงศรี' ตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยโต11%

'กรุงศรี' ตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยโต11%

ตั้งเป้า "สินเชื่อรายย่อย" โต11% กรุงศรีฯลุยเวียดนาม-พม่า

ธนาคารกรุงศรีมองหาโอกาสลงทุนในเวียดนามและพม่าต่อเนื่อง หลังจับมือพันธมิตรทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในเวียงจันทน์ไปแล้ว พร้อมขยายสาขาเพิ่มไปปากเซในเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปีนี้ ตั้งเป้าสิ้นปีธุรกิจในสปป.ลาวเติบโต 15% พร้อมรายย่อยในไทยขยายตัว 11%

นายแดน ฮาร์โซโน่ ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้ารายย่อยและลูกค้าบุคคล ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธนาคารมองหาโอกาสการลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวีต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม และพม่าเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่มีธุรกิจไมโครไฟแนนซ์ใน สปป.ลาว และกัมพูชาแล้ว

อย่างไรก็ตาม อาจจะยังไม่เห็นภายในปีนี้ เพราะในพม่ามีกฎกติกาค่อนข้างเคร่งครัด ขณะที่ในเวียดนามก็มีบริษัทใหญ่ที่ทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยอยู่แล้ว

“กรุงศรีก็ยังมองหาโอกาสลงทุนต่อเนื่อง แต่ในพม่า และเวียดนามก็ไม่ได้ง่าย การซื้อกิจการก็ไม่ใช่จังหวะที่จะได้ราคาดี เพราะไม่ได้มีปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ เราต้องการซื้อ แต่ไม่มีคนขาย หรือหากขายก็ไม่ได้ราคาดี เราเองก็ไม่ต้องการซื้อในราคาที่แพง”

ในส่วนของสปป.ลาวนั้น ธนาคารมีแผนจะเปิดสาขาของบริษัท กรุงศรีบริการเช่าซื้อ จำกัดเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีสาขาในเวียงจันทน์แล้ว โดยจะไปเปิดที่ปากเซภายในเดือนพ.ค.-มิ.ย.นี้ เพื่อรองรับลูกค้าในปากเซและจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีแผนให้บริการธุรกิจคาร์ฟอร์แคชในลาวเพิ่มเติมในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ทั้งนี้กรุงศรีได้เริ่มเข้าไปทำธุรกิจสินเชื่อรายย่อยในลาวตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งสิ้นปี2559 มีสินทรัพย์ในลาวแล้ว 1.8 พันล้านบาท ปีนี้ตั้งเป้าโต 15%

นายแดนกล่าวว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรายย่อยทุกประเภทโต 11% ซึ่งต่ำกว่าปี 2559 ที่สินเชื่อรายย่อยเติบโต15.9% เนื่องจากปีก่อนมีฐานที่ต่ำกว่าปีนี้ อีกทั้งยังมีการซื้อกิจการในกัมพูชาเข้ามา และมองว่าปีนี้การแข่งขันจะรุนแรงขึ้น ธนาคารต่างๆ จะพยายามรักษาส่วนแบ่งการตลาดของตนเองไว้

ส่วนเป้าหมายอื่น ตั้งเป้าเพิ่มฐานลูกค้าอีก 5 แสน ถึง 1 ล้านราย จากปัจจุบัน 9 ล้านราย  เงินฝากรายย่อยเพิ่ม 2.2% และมูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) โต 11.7% โดยประเมินเศรษฐกิจปีนี้โต 3.3% จากปีก่อนที่โต 3.2% ดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.5%

ผลการดำเนินงานปีที่ผ่านมา สินเชื่อรายย่อยเติบโต15.9% สินเชื่อเชื่อเช่าซื้อโต 10.4% สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเติบโตสูงถึง 22% ส่วนบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลโต 18.9% 

ด้านเงินฝากลูกค้ารายย่อยเติบโต 2.3% ขณะที่มูลค่าทรัพย์สินภายใต้การบริหารจัดการโตราว 12.7% ความสำเร็จในช่วงปีที่ผ่านมา มาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่สูงถึง 6 หมื่นล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาดสินเชื่อยานยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 24% ส่วนแบ่งตลาดบัตรเครดิต 14% และส่วนแบ่งสินเชื่อส่วนบุคคล 26%