สูตรปั้นคน ป้อนองค์กรซามูไร

สูตรปั้นคน ป้อนองค์กรซามูไร

มั่นคง เงินดี โตช้าแต่ชัวร์ นี่คือจุดเด่นของ“องค์กรญี่ปุ่น”แต่คนแบบไหนกัน? ถึงจะถูกใจพวกเขาร่ำว่าแค่“อึด ถึก ทน”สู้งานหนักก็มีชัยไปกว่าครึ่ง

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุน “สูงที่สุด” ในไทย และยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ของอาเซียน โดยมีมูลค่าการลงทุนในภูมิภาคนี้รวมกันทั้งสิ้น 8,386.1 ล้านล้านดอลลาร์ (ศูนย์วิจัยและบริการธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น) การลงทุนจากญี่ปุ่นแม้จะหดตัวไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา 

แต่ก็เรียกว่ายังมีมา “ไม่ขาดสาย”

ปัจจุบันมีคนทำงานในองค์กรญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย สูงถึงประมาณ 8-9 แสนคน กระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต การค้า และบริการสายพันธุ์ญี่ปุ่น ขณะที่แรงงานคุณภาพ และรับได้กับวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น ยังเป็นที่ต้องการในตลาดงานอย่างสูงยิ่ง

“เราเน้นสร้างบุคลากรเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานญี่ปุ่นเป็นหลัก ซึ่งเป็นนิชมาร์เก็ต(ตลาดเฉพาะกลุ่ม) ที่คิดว่าเราเหมาะสมและมีความชำนาญ ปัจจุบันนักศึกษาของเรา 80-90% ก็ทำงานอยู่ในบริษัทญี่ปุ่น แต่ตอนนี้เรากำลังประสบปัญหา เพราะผลิตนักศึกษาไม่พอที่จะป้อนให้กับบริษัทญี่ปุ่น”

คำยืนยันจาก “ผศ.รังสรรค์ เลิศในสัตย์” คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI) สะท้อนถึงสถานการณ์จริงของคนทำงานที่กำลัง “เป็นที่ต้องการ” ขององค์กรญี่ปุ่นในประเทศไทย เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจญี่ปุ่นที่แห่แหนมาลงทุนในบ้านเราอย่างต่อเนื่อง

แม้วันนี้คนรุ่นใหม่จะมีหลายเส้นทางให้เลือก ไม่ว่าจะ ทำธุรกิจส่วนตัว เท่ๆ คูลๆ แบบสตาร์ทอัพ เป็นฟรีแลนซ์ เป็นลูกจ้างบริษัท ลองโฟกัสแค่ “มนุษย์เงินเดือน” ก็ยังมีหลายทางเลือกให้ทำ ไม่ว่าจะร่วมงานกับ องค์กรฝรั่ง องค์กรไทย หรือแม้แต่ “องค์กรญี่ปุ่น”

“ที่ผ่านมาความนิยมในองค์กรญี่ปุ่นของเด็กไทยยังมีอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะ เขามองว่าทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นแล้วมั่นคง อย่างที่รู้ว่า ญี่ปุ่นจะมีระบบการจ้างงานตลอดชีพ จ้างกันไปจนเกษียณ เพียงแต่จะเติบโตช้าหน่อย ไปอย่างช้าๆ ถ้าคนที่ใจร้อนและชอบอิสระอาจอยากทำงานกับบริษัทฝรั่งมากกว่า อย่างงานด้านไอที เป็นต้น แต่ถ้าเป็นพวกโรงงานผลิต งานด้านวิศวกรรม ต้องยอมรับว่า บริษัทญี่ปุ่นก็ยังเป็นที่สนใจอยู่เยอะมาก”  ผศ.รังสรรค์ ชี้ให้เห็นภาพ

ขณะเดียวกัน องค์กรญี่ปุ่นยังต้องการแรงงานไทย ขณะที่เด็กไทยเองก็ยังมีอะไรบางอย่างเป็น “แต้มต่อ” อยู่ เช่น มีใจรักบริการ โอบอ้อมอารี นอบน้อม ยืดหยุ่น และเคารพต่อผู้อาวุโส ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่ดูจะเข้ากันได้ดีกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น คนไทยเลยดูเหมือนทำงานกับคนญี่ปุ่นได้ง่าย เมื่อเทียบกับชนชาติอื่น

ทว่าแต้มต่อเท่านั้นจะเพียงพอหรือไม่?

อย่าฝันหวาน อย่าโลกสวย เห็นอะไรดีงามไปหมด เพราะในสถานการณ์จริง แรงงานไทยไม่ได้เป็นตัวเลือกเดียวขององค์กรญี่ปุ่น

“เรามีแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาจำนวนมาก มีอยู่ช่วงหนึ่งเรารับคนเมียนมาและกัมพูชา มาทำงาน โดยมีหัวหน้าเป็นคนไทย ปรากฏว่า พวกเขาคุยกันด้วยภาษาอังกฤษ หันมาพูดภาษาไทยกับคนไทย ขณะที่หัวหน้าคนไทยกลับสื่อสารกับเขาไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นเรื่องภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเรายังไม่ปรับตัวเป็นไปได้ที่แรงงานจากเพื่อนบ้านอาจจะกลายมาเป็นหัวหน้าเรา และเริ่มมีให้เห็นแล้ว”

คำยืนยันสุดเจ็บจี๊ด จากตัวจริงเสียงจริงของคนทำงานในองค์กรญี่ปุ่น “อดิทรรศน์ โพธิพันธ์ทอง” กรรมการบริษัท และ ผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัท เค.ที.อี. จำกัด บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่อยู่ในประเทศไทย ผู้รู้ลึกรู้จริงและเข้าใจวัฒนธรรมการทำงานแบบญี่ปุ่น

ถ้าสนามนี้ “ไม่หมู” แถมยังมีคู่แข่งตั้งหลายชาติ แล้วต้องปฏิวัติตัวเองเป็นแบบไหน ถึงจะถูกใจองค์กรญี่ปุ่น

ลองดู “ผลสำรวจคุณลักษณะบุคลากรที่เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย” โดยศูนย์วิจัยและบริการธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น (TNI POLL) พวกเขาสำรวจบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น 225 บริษัท ครอบคลุมทั้ง ภาคการผลิต (57.8%) การค้า (25.8%) และบริการ (16.4%)

โดยพบ 4 องค์ประกอบสำคัญ ที่องค์กรญี่ปุ่นใช้พิจารณารับคนเข้าทำงาน นำโด่งมาเป็นอันดับหนึ่งคือ ขยัน เอาใจใส่ในหน้าที่ และสามารถบูรณาการความรู้ที่เรียนมาเข้ากับการทำงานจริงได้ (50%) 

รองลงมาคือ อดทนสูง และสู้งาน (16.66%) ตามมาด้วย การใช้ภาษาญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี(16.66%) และสุดท้าย สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี (ทำงานเป็นทีม) รู้จักบทบาทหน้าที่ กล้าคิด และรับผิดชอบ (16.66%)

“ผู้บริหารในบริษัทญี่ปุ่น ครึ่งหนึ่งเลยบอกว่า เขาต้องการบุคลากรที่ขยัน เอาใจใส่ต่อหน้าที่ และมีความสามารถในการบูรณาการความรู้ที่ตัวเองเรียนมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้ดี ง่ายๆ คือ เราอาจเรียนมาเป็นทฤษฎี แต่เขาสนแค่ว่า เราจะนำทฤษฎีนั้นมาใช้เป็นหรือไม่” ดร.เอิบ พงบุหงอ หัวหน้าศูนย์วิจัยและบริการธุรกิจ TNI อธิบายเพิ่ม

สายชิลไปป้ายหน้า เพราะถ้าอยากทำงานกับองค์กรญี่ปุ่นที่ป้ายนี้ ต้อง อึด ถึก ทน และสู้งาน เท่านั้น ประเภทนั่งมองแต่หน้าจอ (มือถือ) วิ่งเล่นอยู่ในโลกของตัวเอง ไม่แอคทีฟ และไม่อึด 

บอกเลยว่า อยู่องค์กรญี่ปุ่นไม่ได้ !

“เขาต้องการเด็กที่มีความอดทน และรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมาย องค์กรย่อมไม่ต้องการให้คนเปลี่ยนงานบ่อย เมื่อเขาลงทุนลงแรงส่งคนไป อบรมโน่นนี่ ดูงานต่างประเทศมาแล้ว แต่กลับมาทำไม่เท่าไร ลาออก แบบนั้นสิ้นเปลืองงบประมาณของบริษัท เขาไม่อยากได้พนักงานแบบนี้ ฉะนั้นต้องอดทนและสู้งาน”

คนอดทนต่ำ ใจร้อน ร้อนวิชา อยากรู้เร็ว โตเร็ว และชอบ “ทางลัด” อาจไม่เหมาะกับองค์กรแบบญี่ปุ่น ทีมผู้วิจัย TNI บอกว่า สไตล์การทำงานในบริษัทญี่ปุ่น จะไปแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ความรู้แน่นถึงค่อยโต แต่โตแบบนี้มั่นคงและอยู่ยาว

“เด็กไทยรุ่นหลังต้องยอมรับว่า ความอดทนน้อยลง อยากทำอะไรได้เร็วๆ ประเภทร้อนวิชาก็เยอะ แต่สไตล์บริษัทญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เขาจะให้เริ่มทำงานอย่างช้าๆ อย่างบางคน 6 เดือนแรก เขาบอก On the job training ไปก่อน ไปดูว่ารุ่นพี่ทำอะไร แล้วจดรายงานบันทึกการประชุมอย่างเดียวพอ 6 เดือน คุณทนได้ไหม ถ้าทนได้ก็จะอยู่ต่อได้ เสร็จแล้วค่อยสอนงาน”

วิธีคิดแบบญี่ปุ่นคือต้องการปั้นคนให้ความรู้แน่นก่อนถึงค่อยโปรโมทหรือให้ทำงานถัดไป จะไม่มีทางลัดให้ไต่ระดับในเวลารวดเร็วเหมือนบริษัทฝรั่ง อาจเป็นความเนิบช้า แต่แลกมากับ “ผลตอบแทน” และ “ความมั่นคง” เพราะอย่างที่รู้กันว่า 

ญี่ปุ่นเน้นเลี้ยงคน จ้างกันตลอดชีพ ไม่ให้ออกกันง่ายๆ

ใครที่ชอบทำงานแบบฮีโร่ ฉายเดี่ยวในทุกสถานการณ์ พูดเลย! ไม่เหมาะกับองค์กรแบบญี่ปุ่น เพราะที่นี่ต้อง “ทำงานเป็นทีม” เท่านั้น และญี่ปุ่นได้เชื่อว่าเป็นประเทศที่ทำงานเป็นทีมดีที่สุดในโลก! 

งานหนึ่งชิ้นที่ทำออกมาต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย หลายความเชี่ยวชาญ ฉะนั้นคนแบบที่องค์กรญี่ปุ่นต้องการคือ รู้บทบาทหน้าที่ตัวเอง และทำงานเป็นทีมได้

สายอ่อนภาษา สื่อสารผิดๆ ถูกๆ แม้กระทั่ง “ภาษาไทย” ไม่เหมาะจะไปเติบใหญ่ในองค์กรญี่ปุ่น คนที่จะทำงานกับคนญี่ปุ่นได้ ต้องรู้ภาษาที่ 2-3-4 ประดับบารมีไว้ด้วย โดยอันดับหนึ่งคือ ภาษาอังกฤษ รองลงคือ ญี่ปุ่น ต่อด้วย ภาษาจีน และสุดท้าย “ภาษาอาเซียน” โดยเฉพาะ “เมียนมา” เพราะแรงงานส่วนใหญ่ในประเทศไทยคือคนเมียนมา ฉะนั้นอยากเนื้อหอม อยากเข้าตาองค์กรญี่ปุ่น ต้องฝึกทักษะภาษาเหล่านี้ไว้มากๆ

ใครชอบปล่อยสมองให้ว่างเปล่า ยากมากที่จะทำงานในองค์ญี่ปุ่นได้ เพราะคนที่นี่ต้อง คิด วิเคราะห์ และตัดสินใจได้ดี สามารถวิเคราะห์สถานการณ์ และแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ คอนเซ็ปต์ชัดเจนคือ เจอปัญหา ต้องแก้เองก่อน อย่าเพิ่งเอาไปโยนให้หัวหน้างาน แก้ไม่ได้ หมดหนทาง ถึงค่อยมาปรึกษา

“หลักการของญี่ปุ่น คือ ‘ไม่รับปัญหา’ มีปัญหามา ไม่รับ คุณเอาไปแก้เอง ‘ไม่สร้างปัญหา’ คือเราจะไม่สร้างปัญหาใหม่ในกระบวนการ และ ‘ไม่ส่งต่อปัญหา’ คือมีปัญหามาเราไม่ส่งต่อให้หน่วยงานอื่น นี่คือองค์กรญี่ปุ่น” อดิทรรศน์ โพธิพันธ์ทอง แห่ง เค.ที.อี. ช่วยอธิบายให้เห็นภาพ

ฉะนั้นก่อนยื่นใบสมัครไปองค์กรญี่ปุ่น ต้องทบทวนตัวเองให้ดีว่า เป็นเผ่าพันธุ์ที่ ขยัน เอาใจใส่ในหน้าที่ สามารถบูรณาการความรู้มาทำงานได้จริง ชอบทำงานเป็นทีม อดทน สู้งาน กล้าคิด กล้าทำ รับผิดชอบ และไม่อ่อนด้อยเรื่องภาษา “หรือไม่?”

ถ้าขาดจุดไหนไปก็ให้หาทาง “เติมเต็ม” แต่ถ้าชักจะขัดกับ “ตัวตน” ซะเหลือเกิน ก็พออนุมานได้ว่า อาจจะไม่ถูกโฉลกกับองค์กรแบบญี่ปุ่น

ไม่เชื่องานวิจัย ก็ลองไปฟังตัวจริงเสียงจริงในสนามเล่า กับ “อดิทรรศน์ โพธิพันธ์ทอง” กรรมการบริษัท และ ผู้จัดการฝ่ายบริหาร บริษัท เค.ที.อี. จำกัด และ “ณรงค์เดช เหลืองดิลก” หัวหน้าแผนกงานให้คำปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์ เอฟ ดี ไอ กรุ๊ป คนหนึ่งทำงานในบริษัทญี่ปุ่น อีกคนเป็นที่ปรึกษาและคัดเลือกคนป้อนให้องค์กรญี่ปุ่น เลยรู้ลึกรู้จริงทั้งคู่

เริ่มจากง่ายๆ “คุณสมบัติ” คนแบบไหน ที่บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นต้องการมากๆ อดิทรรศน์ ยกให้อันดับหนึ่ง คือ ต้องมี Common Sense (สามัญสำนึก) คือสามารถตัดสินใจในสิ่งที่ควรจะตัดสินใจได้ถูก ต้องเข้าใจในสิ่งที่เข้าใจง่ายๆ เพราะบางเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เหตุผลซับซ้อนมากมาย แค่ใช้ “สามัญสำนึก” ก็สามารถจัดการได้แล้ว

ตามมาด้วย Analysis Thinking (การคิดวิเคราะห์) ต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้ดี และสาม Conceptual Thinking (การคิดเชิงมโนทัศน์) นั่นคือ ต้องมองภาพรวมเป็น เขายอมรับว่า จุดอ่อนของเด็กสมัยนี้คือ คิดแยกส่วนได้ แต่มองภาพรวมไม่เป็น ซึ่งนั่นเป็นปัญหามากกับการทำงานในองค์กรญี่ป่น

ส่วน ณรงค์เดช คนที่อยู่ในสายงานบริการ ก็บอกว่า ขอให้หัวใจบริการ มีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้ ต้องอดทน รองรับความกดดันจากลูกค้าได้ พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาตัวเองไม่หยุดนิ่ง ถึงจะรุ่งได้ในบริษัทญี่ปุ่น

เขาว่าทำงานองค์กรญี่ปุ่นเติบโตช้า กว่าจะไต่ระดับไปเป็นลูกพี่ได้คงต้องใช้เวลานานในการต่อสู้ อย่าพึ่งถอดใจไป มาดูรุ่นพี่เขาแบ่งปันประสบการณ์ทำงานให้เป็น “ดาวเด่น” มีสปอทไลท์ส่องหน้า และโตได้เร็วในองค์กรแบบญี่ปุ่น

อดิทรรศน์ แห่ง เค.ที.อี. บอกเราว่า การจะทำงานให้เติบโตได้เร็วในบริษัทญี่ปุ่นได้นั้น ‘ต้องแย่งงานหัวหน้ามาทำ’ เพื่อเรียนรู้ทักษะของหัวหน้างาน

“ผมใช้วิธีนี้มาตลอด คือ แย่งงานหัวหน้างานมาทำ ถามตลอดว่า พี่มีอะไรให้ผมทำบ้าง อันนี้ผมช่วยพี่ได้ไหม เพื่ออะไร วันหนึ่งถ้าเขาต้องการคนมาทดแทน เขาเลือกคนที่ทำเป็นอยู่แล้วจริงไหม ไม่สรรหาใหม่หรอก ซึ่งถึงตอนนั้นผมทำแทนพี่ได้แล้ว”

สอง ‘ไม่หวงความรู้’ อย่ามีทัศนคติเก่าๆ ว่า ความรู้ทุกอย่างในส่วนงานนั้นต้องอยู่และตายไปกับตัวเราเท่านั้น เพราะถ้าวันหนึ่งเราต้องเลื่อนเป็นหัวหน้า หรือถูกจับไปอยู่ในส่วนงานอื่นที่ดีกว่า บริษัทจะได้ไม่ต้องกังวลว่า จะไม่มีใครมาทำงานแทนที่เราได้ ฉะนั้นความรู้มีเท่าไรบอกลูกน้องไปให้หมด ต้องสอนลูกน้องให้ทำงานแทนเราได้

ส่วน “ณรงค์เดช” ย้ำว่า ถ้ามีโอกาส ต้องแสดงผลงานออกมาให้คนเห็นมากที่สุด ต้องพึงระลึกว่า หัวหน้างานและผู้บริหาร มองดูเราอยู่เสมอ แม้จะพึ่งจบหรือเป็นแค่พนักงานใหม่ แต่ก็ใช่ว่าเขาจะหมางเมิน จำไว้ว่าเราต้องแสดงความสามารถ โชว์ศักยภาพของตัวเอง และจุดเด่นของเราออกมาให้มากที่สุดในทุกครั้งที่มีโอกาส

สอง ต้องเขียนแผนเติบโตให้ตัวเอง อย่ารอแต่เดินตามแผนของบริษัท

“ไม่ต้องรอบริษัท เราทำแผนของเราเองเลย โดยวางแผน เซ็ตเป้าหมายให้กับตัวเองว่า ใน 6 เดือน-1 ปี จากนี้ฉันต้องทำอะไรบ้าง และปีหน้าต้องทำอะไรให้มากกว่าเดิม จากนั้นก็มาทบทวนแผนดูว่าเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงตรงไหนเพื่อให้เป็นไปตามแผน แล้วจะทำอย่างไรต่อไปจากนี้ อยู่ในบริษัทญี่ปุ่นต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป เร็วไปก็จะแย่กับเราเอง แต่ถ้าช้าไปก็จะไม่พัฒนา” เขาย้ำ

เมื่อเห็นความเข้มข้นของการเฟ้นคนในบริษัทญี่ปุ่น ก็อย่าเพิ่งถอดใจ เมื่อเด็กไทยและเด็กรุ่นใหม่ ไม่ได้แย่เสียทีเดียวในสายตาขององค์กรญี่ปุ่น ก่อนจะชนะในเกมได้ ก็ควรรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเอง เพื่อหยิบจุดแกร่งมาใช้ และสกัดจุดอ่อนไม่ให้โผล่มาให้ใครเห็น

อดิทรรศน์ ชี้จุดอ่อนของเด็กไทยยุคใหม่ที่บริษัทญี่ปุ่นมอง คือเรื่อง ความอดทนต่ำ และ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น อย่างเวลาเด็กไทยอยู่ในที่ประชุมก็มักจะเงียบ แต่ญี่ปุ่นจะเน้นให้ทุกคนช่วยกันออกความคิดเห็น ระดมสมอง ฉะนั้นเด็กไทยต้องกล้าแสดงออก และกล้าตอบโต้โชว์กึ๋น ในที่ประชุมให้มากขึ้น

ทว่า จุดแข็งที่เขามองเห็นในตัวเด็กยุคใหม่ นั้นคือ ชอบทำอะไรให้ง่ายๆ นั่นแหล่ะสิ่งที่องค์กรจะดึงมาใช้ได้

“ผมเอาจุดแข็งของเด็กยุคนี้มาใช้ นั่นคือ เขาอยากทำอะไรให้มันง่ายที่สุด ผมเลยบอกว่า น้องไปดูในกระบวนการเลยนะ อันไหนที่ยาก ซับซ้อน ไปหาวิธีการทำให้มันง่ายซะ จะตัดหรือเพิ่มอะไรก็ได้ ผมต้องการให้กระบวนการง่ายกว่าเดิม ซึ่งนั่นคือข้อดีของเด็กรุ่นนี้ เขาเก่งนะ แต่เราต้องเข้าใจเขาด้วย”

ส่วน ณรงค์เดช ย้ำว่า จุดอ่อนของเด็กไทยที่ต้องเร่งปรับปรุงโดน คือ ชอบเกี่ยงงาน จะทำแต่ในส่วนงานที่ตัวเองรับผิดชอบ ถ้ามีงานอื่นที่เห็นว่าไม่ใช่งานตัวเองก็จะปฏิเสธไม่ทำทันที ทั้งที่นั่นอาจเป็นวิธี “ลองใจ” ของเจ้านายก็ได้ รวมถึงไม่ค่อยมีความอดทน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ถือเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ต้องเติมเต็มก่อนทำงานในบริษัทญี่ปุ่น

ส่วนข้อดีของเด็กไทย ไม่ว่าจะเทียบกับเด็กชาติไหนในสายตาของคนญี่ปุ่น คือ วัฒนธรรมของคนไทยเข้ากับคนญี่ปุ่นได้ดี เรามีใจรักบริการ โอบอ้อมอารี ยืดหยุ่น เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และเคารพต่อผู้อาวุโส ซึ่งคนญี่ปุ่นเขาปลื้ม

ทว่าบุญเก่าแค่นั้น อาจไม่พออีกแล้วในโลกยุคต่อจากนี้..

“ทุกวันนี้เด็กอาเซียนเข้ามาทำงานในเมืองไทยเยอะมาก เขาอดทนมากกว่าเรา เพราะอยากมาทำงานที่บ้านเรา และอยากทำงานในบริษัทใหญ่ๆ ฉะนั้นเรื่องการพัฒนาตัวเองเขาค่อนข้างไวกว่าเรามาก ถ้าคนไทยยังช้า เราอาจจะเสียเปรียบเขาได้ ที่ผ่านมาเรามีข้อดีแล้ว คือ วัฒนธรรมเราเข้ากับญี่ปุ่นได้ดี และมีหลายอย่างที่เขาชอบเรา เพียงแต่เราต้องเพิ่มในสิ่งที่เรายังขาด ถ้าทำได้ก็จะชนะ แต่ถ้าไม่เร่งปรับตัว เราอาจจะโดนแซงได้”

ไม่อยากโดยแซงหน้าก็ต้อง รู้เขา รู้เรา และเท่าทันโลก เพื่อเป็นตัวเลือกที่ “ใช่” ในองค์กรญี่ปุ่น

---------------------

4 คุณลักษณะโดนใจ

  1. ขยัน เอาใจใส่ในหน้าที่ บูรณาการความรู้สู่การทำงานจริงได้ (50%)
  2. อดทนสูง และสู้งาน (16.66%)
  3. มีทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่นได้ดี (16.66%)
  4. ทำงานกับผู้อื่นได้ดี รู้จักบทบาทหน้าที่ กล้าคิด และรับผิดชอบ (16.66%)

----------------

หลากเรื่อง “ควรรู้” 

ในองค์กรญี่ปุ่น

 ไม่มีทางลัด ทางด่วน ในการกระโดดข้ามตำแหน่ง

๐ โตช้า แต่ชัวร์ ไปแบบมั่นคง เน้นจ้างงานตลอดชีพ

๐ ญี่ปุ่นรุ่นเก่ายังเน้นทำงานหนัก (Work hard) แต่รุ่นใหม่เน้นทำงานฉลาด (Work smart)

๐ คำว่า Work-Life Balance การสร้างสมดุลในชีวิตและการทำงาน เริ่มเข้ามาในองค์กรญี่ปุ่นรุ่นใหม่มากขึ้น

๐ ญี่ปุ่นรุ่นใหม่มีสไตล์การทำงานที่เป็นสากลมากขึ้น รับฟังความเห็น วัดกันที่ผลงาน แต่ยังเน้นทุ่มเทในการทำงาน

๐ เจ้านายญี่ปุ่นอายุ 40-50 ปี ขึ้นไป ยังเสพติดบุหรี่เป็นชีวิต ใครทำงานด้วยต้องทนควันบุหรี่ให้ได้

๐ วัฒนธรรมญี่ปุ่นมักจะให้เกียรติผู้หญิงน้อยกว่าผู้ชาย ฟังเสียงผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

๐ องค์กรญี่ปุ่นให้เกียรติต่อความเห็น ถ้าบอกว่าระดมสมอง จะฟังทุกเสียงไม่ว่าแค่พนักงานหน้าเครื่องหรือระดับผู้อำนวยการ

๐ ญี่ปุ่นอยากให้คนอยู่กับองค์กรไปนานๆ แต่ใช่ว่าจะทำงานเดิม ตำแหน่งเดิมไปตลอด แต่ต้องพัฒนาศักยภาพตัวเอง

๐ ญี่ปุ่นได้ชื่อว่า ทำงานเป็นทีมดีที่สุดในโลก ใครแตกแถวจะถูกรังเกียจและอยู่ในสังคมหรือองค์กรไม่ได้

๐ เด็กที่เรียนทางด้านไอที มักไม่สนใจทำงานในบริษัทญี่ปุ่น เพราะไม่โดดเด่น โตช้า ไม่อิสระ และกลัวถูกครอบงำ

๐ ญี่ปุ่นมีวัฒนธรรม มองพนักงานเป็นส่วนหนึ่ง เป็นเนื้อเดียวกับองค์กร จึงเน้นรักษาคน และเลี้ยงคน ไม่ให้ออกกันง่ายๆ

๐ มีวัฒนธรรมการทำงานที่ ‘ทุกคนรู้เท่ากันหมด’ โดยรู้งานตัวเองและรู้งานคนอื่นด้วย จึงสามารถช่วยเหลือกันได้

๐ มีวัฒนธรรม ไม่รับปัญหา ไม่สร้างปัญหาใหม่ และไม่ส่งต่อปัญหาไปให้หน่วยงานอื่น