'หอการค้าไทย'เผยดัชนีคอร์รัปชั่นไทยดีสุดในรอบ 6 ปี

'หอการค้าไทย'เผยดัชนีคอร์รัปชั่นไทยดีสุดในรอบ 6 ปี

"ม.หอการค้า" เผยสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยปรับตัวดีขึ้นในรอบ 6 ปี เชื่อปมสินบน "โรลส์รอยซ์" จะไม่กระทบการประเมินคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย ว่า จากการสำรวจเดือนธันวาคม 2559 จากกลุ่มตัวอย่าง 2,400 ตัวอย่าง พบว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นลดลงและดีที่สุดจากการสำรวจในรอบ 6 ปี ส่วนคาดการณ์ดีขึ้นในรอบ 6​ ปีเช่นกัน แต่เริ่มมีสัญญาณบางอย่างที่รัฐบาลและประชาชนจะต้องระวัง คือ ความรุนแรง เพราะผู้มีประสบการณ์ จะต้องเริ่มจ่ายเพิ่มขึ้นกว่าปี 2558 ซึ่งนับเป็นสัญญาที่ต้องระมัดระวังและรัฐบาลต้องป้องกัน เพราะโครงการลงทุนต่าง ๆ จะเริ่มเดินหน้า

สำหรับดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 55 เทียบกับเดือนมิถุนายน 2559 ดัชนีอยู่ที่ระดับ 53 ถือว่าสอบผ่านระดับความรุนแรงน้อยถึงปานกลาง ปรับตัวดีขึ้นจากการสำรวจรอบที่ผ่านมา ส่วนดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในอนาคตเดือนธันวาคม 2559 อยู่ที่ระดับ 57 ส่วนเดือนมิถุนายน 2559 อยู่ที่ระดับ 56 ถือว่า อยู่ในระดับทรงตัว สาเหตุสำคัญที่สุดของการเกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นในไทย คือ เจ้าหน้าที่ขาดคุณธรรมและไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณและการใช้ดุลพินิจเฉพาะจุดที่เอื้อต่อการทุจริต จะเห็นได้ว่าภาพรวมปัญหาโครงสร้างการคอร์รัปชั่นเปลี่ยนไปจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สำหรับรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด คือ การให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัลต่าง ๆ

ด้านทัศนคติของประชาชนมากถึงร้อยละ 95 ปฎิเสธรัฐบาลคอร์รัปชั่น ซึ่งปรับตัวดีขึ้นสูงสุดในรอบ 2​ ปี โดยสังคมไทยตระหนักรู้เรื่องปัญหาคอร์รัปชั่นดีที่สุดในรอบ 6 ปี ความสามารถที่จะทานทนต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น คนฮ่องกงต้องการให้เหลือ 0 แต่ของไทยในช่วง 5-6 ปีมานี้อยู่ที่ระดับ 3 เดือนธันวาคม 2559 ลดลงเหลือ 2.27 ซึ่งดีที่สุดในรอบ 6 ปีเช่นกัน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งเป้าหมายจะให้เหลือ 0 ภายใน 5 ปีนับจากนี้ไป เพราะตอนนี้สังคมไทยยังมีคนไทยกลุ่มเล็ก ๆ มองเรื่องคอร์รัปชั่นและทำประโยชน์ให้สงคมเป็นเรื่องที่รับได้

ส่วนกรณีข่าวโรลส์รอยซ์ จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่ของภาครัฐไทยนั้น เชื่อจะไม่กระทบการประเมินคะแนนภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทยที่จะประกาศเร็ว ๆ นี้ เพราะเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลไปก่อนแล้ว แต่จะกระทบภาพลักษณ์มากกว่า ภาครัฐต้องเร่งแก้ไขไม่ให้กระทบต่อการประเมินภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นไทยในการประเมินครั้งต่อไป

ด้านประสิทธิภาพการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น พบว่าภาพรวมการทำงานของ ป.ป.ช.ดีขึ้นในรอบ 2 -3 ปี ได้คะแนน 5.33 คะแนน ภาคเอกชน 5.21 คะแนน สื่อมวลชน 5.39 ได้คะแนนสูงสุด ภาคประชาชนได้คะแนน 5.42 แสดงว่าร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชันมีมากขึ้น ด้านการมีส่วนร่วมในการป้องกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น ประชาชนร้อยละ 85 ต้องการร่วมกันต่อต้านการคอร์รัปชั่น สำหรับเรื่องสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการด่วนที่สุด เพื่อต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น คือ บังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด มีมาตรการลงโทษอย่างเด็ดขาด ทำงานอย่างโปร่งใส สร้างจิตสำนึกให้กับประชาชน การสร้างแนวร่วมภาคสังคมดูแลแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น

ส่วนความเสียหายของการทุจริตคอร์รัปชั่นประเมินจากงบประมาณประเภทจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยราชการ พบว่า ผู้ประกอบการทำธุรกิจกับภาครัฐจะต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษแก่ข้าราชการ นักการเมืองที่ทุจริต เพื่อให้ได้สัญญานั้น พบว่าอัตราการจ่ายลดลงในรอบ 2 ปี จ่ายเฉลี่ยร้อยละ 1-15 สถานการณ์ดีที่สุดในรอบ 6 ปี หากคำนวณจากงบประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท รัฐจะสูญเสียวงเงิน 120,000​ ล้านบาท สามารถประหยัดงบประมาณลงได้ จากเดิมจะสูญเสียระดับ 200,000 – 300,000 ล้านบาท ส่วนผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์ มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพีในระดับ 0.42-1.27 การลดการเรียกเงินสินบนทุก ๆ ร้อยละ 1 ​ส่งผลให้คอร์รัปชั่นลดลง 10,000 ล้านบาท