เกาะติดเงินถอน 'แอลทีเอฟ' ต้นปีหน้า7พันล้าน

เกาะติดเงินถอน 'แอลทีเอฟ' ต้นปีหน้า7พันล้าน

นักวิเคราะห์คาดการณ์ "ต้นปีหน้า" เงินไถ่ถอนแอลทีเอฟ 7 พันล้านบาท

เดิมทีการลงทุนใน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อรับสิทธิในการลดหย่อนภาษี จะต้องถือครองไปต่อเนื่อง 5 ปีปฏิทิน ก่อนที่จะเริ่มมาเป็น 7 ปี ตั้งแต่ปีนี้

โดย บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า จากการคำนวณของฝ่ายวิจัยพบว่าต้นทุนของผู้ที่เข้าซื้อกองทุน LTF เมื่อปี 2556 ซึ่งจะมีสิทธิ์ไถ่ถอนกองทุนได้ในปี 2560 มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับดัชนี SET 1,400 จุด ซึ่งหากเทียบเคียงกับดัชนีระดับปัจจุบัน จะพบว่ามีกำไรจากการถือครองแล้วประมาณ 7.4% ทั้งนี้ จากการใช้โมเดลคำนวณพบว่าที่กำไรระดับนี้ น่าจะมีการไถ่ถอนกองทุน LTF ที่ครบกำหนดอายุต้นปีหน้า15.7% ของยอดสั่งซื้อทั้งหมดที่เกิดขึ้นปี 2556 ซึ่งอยู่ 46,000 ล้านบาท ดังนั้นคาดการณ์เม็ดเงินไถ่ถอนที่จะเกิดขึ้นต้นปีหน้าประมาณ7,300ล้านบาท

จากแรงกดดันการไถ่ถอนกองทุนนี้ ทำให้เราคาดว่าเดือน ม.ค. น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ดีอีกครั้งของหุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็ก เนื่องจากน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เพราะในอดีตกองทุน LTF ส่วนใหญ่เน้นลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ เมื่อประกอบกับกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund flow) ที่มีแนวโน้มว่าจะยังไม่ไหลเข้ามาในช่วงสั้น จึงประเมินว่าหากจะต้องเลือกถือหุ้นในพอร์ท หุ้นขนาดกลาง-เล็กก็น่าจะมีความปลอดภัยที่มากกว่า

ทั้งนี้ จำเป็นต้องเลือกหุ้นที่ระดับอัตราส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (PE) ที่ยังไม่สูง เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการเติบโตในอนาคต เพื่อป้องกันแรงกดดันที่อาจเกิดจากปรากฏการณ์ PE contraction ในช่วงถัดไป ซึ่งหุ้นเด่นสำหรับปีหน้าที่เข้าข่ายดังกล่าวได้แก่ น้ำตาลบุรีรัมย์ (BRR) ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (SMT) เอสวีไอ (SVI) และซีฟโก้ (SEAFCO)

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า เงินลงทุนต่างชาติยังคงไหลออก แต่มีแรงซื้อจากสถาบันในประเทศ ในสัปดาห์สุดท้ายของปี โดยวันศุกร์ที่ผ่านมาต่างชาติยังคงขายสุทธิหุ้นในภูมิภาคต่อเนื่องเป็นวันที่ 7 ด้วยมูลค่าราว 254 ล้านดอลลาร์ และเป็นการขายสุทธิทุกประเทศ ยกเว้นตลาดหุ้นอินโดนีเซียเพียงแห่งเดียวที่ถูกซื้อสุทธิราว 34 ล้านดอลลาร์ (ซื้อสุทธิเป็นวันที่ 4) สำหรับตลาดหุ้นไทย ต่างชาติยังคงขายสุทธิราว 18 ล้านดอลลาร์ หรือ 646 ล้านบาท (ขายสุทธิเป็นวันที่ 4) ต่างกับนักลงทุนสถาบันในประเทศที่ซื้อสุทธิราว 252 ล้านบาท

ช่วงโค้งสุดท้ายของปี แรงซื้อจากสถาบันในประเทศ ทั้ง LTF และ Window Dressing น่าจะเข้ามาช่วยประคองตลาดได้ อีกทั้งยังสอดคล้องกับสถิติย้อนหลัง 10 ปี พบว่าดัชนีหุ้นไทยในสัปดาห์สุดท้ายมักจะปรับขึ้น โดยมีผลตอบแทนเฉลี่ยราว 0.87% ส่วนทางด้านตราสารหนี้ไทย นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิราว 1.62 หมื่นล้านบาท สวนทางนักลงทุนต่างชาติที่ขายสุทธิราว 322 ล้านบาท

บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 5.86 จุดปิดที่ 1,509.98 จุด แรงซื้อนำโดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์และหุ้นกลาง - เล็กที่จะมีกำไรเติบโตดีในปี 2560 แต่มูลค่าการซื้อขายซบเซา เพราะหลายกลุ่มชะลอการลงทุนช่วงคริสต์มาสถึงปีใหม่ แต่กองทุน LTF & RMF ก็ยังทำงานอยู่ และคาดว่าจะมีแรงซื้อเข้ามามากขึ้นในสัปดาห์นี้ซึ่งเป็นโค้งท้ายสุดในการซื้อเพื่อหักภาษีปี 2559 แล้ว แม้จะมีแรงซื้อ LTF ในช่วงโค้งสุดท้าย แต่ความคึกคักอาจไม่มากเท่าปีก่อนๆ เพราะตั้งแต่ปีนี้ LTF ต้องถือครอง 7 ปีปฏิทินจากเดิมเพียง 5 ปีปฏิทิน