ช.การช่างย้ำปีหน้าประมูลรถไฟทุกเส้น

ช.การช่างย้ำปีหน้าประมูลรถไฟทุกเส้น

"ช.การช่าง" ชี้ปี60 “ปีทองธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง” คาดงานภาครัฐมีมากกว่า 4-5 แสนลบ. หวังส่วนแบ่งประมูล 15-20 % จากมูลค่าโครงการงานรัฐทั้งหมด

นายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจก่อสร้างในปีหน้า คาดว่าจะมีงานภาครัฐออกมาประมาณ 4 -5 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่ามีมูลค่ามากที่สุดที่เคยมีการเปิดประมูลทั้งในโครงการลงทุนรถไฟทางคู่หรือรถไฟฟ้า ซึ่งถือว่าเป็นปีทองอีกปีหนึ่งของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และบริษัทก็มั่นใจว่ามีศักยภาพในการเข้าประมูลในทุกโครงการโดยคาดหวังจะได้รับงานในปีหน้าประมาณ 15-20 %จากโครงการทั้งหมด

โดยผลการดำเนินงานในปีหน้าบริษัทตั้งเป้าหมายจะมีรายได้ 3.5 หมื่นล้านบาท จากงานในมือที่รอรับรู้รายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน และบริษัทจะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ในระดับ 8-10%

"ในปีหน้าเป็นปีทองของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เพราะการประมูลงานของภาครัฐนั้นออกในระดับที่สูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เป็นผลจากการศึกษาโครงการของภาครัฐในช่วงที่ผ่านมา ทำให้งานประมูลต่างๆ ออกมาในจังหวะนี้ ซึ่งในแง่ของศักยภาพของบริษัท เรามีความพร้อมที่จะเข้าร่วมประมูลในทุกโครงการที่ภาครัฐเสนอ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบการก่อสร้าง หรือการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน"

ปัจจัยเสี่ยงปีหน้า "ค่าเงินผันผวน-ดอกเบี้ยขึ้น" 

ทั้งนี้ปัจจัยที่บริษัทมองว่ามีความท้าทายอย่างมากในปีหน้า คือความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากในการก่อสร้างนั้น บริษัทมีการนำเข้าวัสดุจากต่างประเทศ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนย่อมมีผลกับต้นทุนการดำเนินธุรกิจ ส่วนอัตราดอกเบี้ยนั้นจะมีผลกับต้นทุนทางการเงินในอนาคต ดังนั้นหากจะมีการระดมทุนเพิ่มเติม บริษัทอาจใช้การพิจารณาว่าจะเป็นการกู้ยืมเงินหรือเป็นการออกตราสารหนี้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความคุ้มค่า โดยปัจจุบันบริษัทมีต้นทุนการเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 3.8 % ถือว่าอยู่ในระดับต่ำอยู่แล้ว

ปีนี้รายได้เกินเป้าหมายแตะ4.5 หมื่นล.

สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะมีรายได้จากการก่อสร้างทั้งปีประมาณ 4.2 - 4.5 หมื่นล้านบาท เกินเป้าหมายที่ 3.5 หมื่นล้านบาท โดยผลการดำเนินงานใน 9 เดือนแรก บริษัทมีรายได้ 38,985 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ทั้งสิ้น 71,287 ล้านบาท มีโครงการอยู่รอลงนามภายในสิ้นปีนี้ 26,982 ล้านบาท ไม่นับรวมโครงการที่บริษัทเป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุดในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่รอการพิจารณา ใน 3 สัญญามูลค่ารวม 45,900 ล้านบาท ทำให้บริษัทมั่นใจว่าจะมีงานในมือที่รอรับรู้รายได้ทะลุ 1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ความคืบหน้าการเจรจาการเดินรถในส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินนั้น บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับทางภาครัฐอยู่ ซึ่งใกล้จะได้ข้อยุติ สาเหตุที่ต้องใช้เวลาการเจรจาค่อนข้างมาก เนื่องจากสัญญามีความซับซ้อน โดยทางภาครัฐมีความต้องการให้รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผู้ให้บริการรายเดียวตลอดสายเพื่อให้การใช้บริการมีความสะดวกและทำให้อัตราค่าโดยสารนั้นไม่สูงจนเกินไป

โดยที่ผ่านมาบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้บริการในส่วนแรกอยู่ จึงมีการเจรจากับภาครัฐบาล ซึ่งในรูปของการเก็บเงินค่าโดยสารนั้นน่าจะเป็นอัตราเดิมที่บริษัทให้บริการ คือค่าแรกเข้าระบบ 15 บาท และคิดค่าบริการในอัตรา 2 บาทต่อสถานี แต่จะไม่เกิน 42 บาท ซึ่งทางการเก็บค่าโดยสารเพียงครั้งเดียว ซึ่งอาจจะกระทบกับรายได้ที่หายไป ซึ่งภาครัฐอาจจะชดเชยให้บริษัทคิดเป็นรายปีส่วนการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินระหว่างสถานีบางซื่อ และ เตาปูนนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาเช่นกัน ซึ่งหากได้ข้อสรุป บริษัทสามารถให้บริการได้ภายใน 6 เดือน เมื่อเทียบกับหากให้รายอื่นเข้ามาอาจจะใช้เวลาเชื่อมต่อมากกว่า 1 ปี

เล็งลงทุนพลังงานน้ำในลาวเพิ่ม

นายปลิวกล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการรอรับข้อเสนอโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศลาว ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าจะมีขนาดการลงทุนอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเขื่อนไซยะบุรีที่มีมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

“ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนในประเทศลาวทั้งโครงการเขื่อนน้ำงึม 2 และโครงการเขื่อนไซยบุรี ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งทางประเทศลาวนั้นต้องการให้บริษัทมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทำให้เขาอยู่ระหว่างการหาโครงการมาให้เราพิจารณาเข้าลงทุน ซึ่งคาดว่าเร็วๆนี้จะมีความชัดเจน”

โดยหากทางการลาวเสนอโครงการมาบริษัทก็ต้องมีพิจารณาการลงทุนอีกครั้งว่าจะมีความคุ้มค่าหรือไม่ ซึ่งในแง่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่บริษัทมีศักยภาพในการลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะใช้บริษัทลูกอย่าง บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) CKP เข้าลงทุนหรือเป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทลูก หรือการเปิดรับพันธมิตรจากภายนอกซึ่งบริษัทเปิดกว้างในทุกทาง

สนใจรับเหมาก่อสร้างประเทศเพื่อนบ้าน

ด้านน.ส. สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า นอกจากการลงทุนในประเทศไทยแล้ว บริษัทยังมองหาความเป็นไปได้ที่จะเข้าไปทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในต่างประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มลุ่มน้ำโขงที่บริษัทมองว่ามีโอกาสที่จะเติบโตของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใน 10 -20 ปีข้างหน้าจะมากกว่าประเทศไทย โดยประเทศที่บริษัทให้ความสนใจและเข้าไปทำรายการศึกษาอยู่ คือประเทศพม่า ส่วนจะได้ข้อสรุปเมื่อใดนั้นยังไม่สามารถบอกได้

“บริษัทมีความสนใจในการรับงานก่อสร้างในต่างประเทศอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาเราได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วในการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งเป็นโครงการระดมภูมิภาคได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี ซึ่งแสดงถึงความพร้อมของบริษัทที่จะลงทุนในกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี”

นายประเสริฐ มริตตนะพร กรรมการบริหาร บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในแง่เงินทุนการดำเนินโครงการนั้น บริษัทมองว่าปัจจุบันบริษัทยังมีศักยภาพในการรองรับงานก่อสร้างอยู่ โดยตามเงื่อนไขของบริษัทยังสามารถระดมทุนได้อีกประมาณ 3 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ในปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะมีการระดมทุนเพิ่มเติม ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าจะระดมทุนในรูปแบบใด เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกจะเป็นขาขึ้น จึงต้องมีพิจารณาว่าระหว่างการออกหุ้นกู้กับการกู้เงินจากสถาบันการเงินส่วนไหนจะมีความคุ้มค่ามากกว่ากัน โดยในปีนี้บริษัทได้มีการออกระดมทุนด้วยการหุ้นกู้ระยะยาว อายุ 10 ปี 8 เดือน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุน