ออมสินเปิด5ภารกิจยึดหลักพอเพียงทำธุรกิจ

ออมสินเปิด5ภารกิจยึดหลักพอเพียงทำธุรกิจ

"ออมสิน"เปิดแผนงานปี 60 มุ่งเน้น 5 ภารกิจหลัก นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ออกผลิตภัณฑ์"สินเชื่อ-เงินฝาก" พร้อมลุยแก้ไขหนี้นอกระบบ

"ออมสิน"เปิดแผนงานปี 60 มุ่งเน้น 5 ภารกิจหลัก นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ออกผลิตภัณฑ์"สินเชื่อ-เงินฝาก" พร้อมลุยแก้ไขหนี้นอกระบบ ผ่อนปรนเกณฑ์เปิดให้กลุ่มเอ็นพีแอลกู้ได้ แต่รัฐต้องชดเชยเงินต้น

นายชาติชาย พยุหานาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ปี 2560 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อและเงินฝากจะมีการเติบโต 1-1.5 เท่าของจีดีพี หรือมีการเติบโต 3-4.5% จากปีนี้ ส่วนกำไรจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียวกับปีนี้ ที่คาดมีกำไร 2-2.1 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ กำไรปีนี้ลดลงจากปีก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องจากธนาคารมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 6 พันล้านบาท จากการนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ หรือกองทุนแบงก์รัฐ โดยปีนี้ธนาคารต้องนำส่งเต็มปี คิดเป็นเงิน 3.5-3.6 พันล้านบาท จากปีก่อนหน้านำส่งแค่ครึ่งปี 1.7-1.8 พันล้านบาท

นอกจากนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังให้ธนาคารกันสำรองเพิ่มในบางตัว เพื่อความปลอดภัยและความแข็งแรงของธนาคาร รวมเป็นเงิน 3 พันล้านบาท เฉพาะ 2 ตัวนี้ คือนำส่งเข้ากองทุนแบงก์รัฐ และการกันสำรอง ทำให้ค่าใช้จ่ายธนาคารเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 6 พันล้านบาท หากไม่นับรวม 2 ตัวนี้ กำไรของธนาคารก็คงจะมากกว่าปีที่แล้ว

สำหรับแผนงานปี 2560 ธนาคารจะมุ่งเน้นใน 5 เรื่องหลักๆ ได้แก่ 1. การส่งเสริมการออม เพราะภารกิจของธนาคารคือการเป็นสถาบันการเงินเพื่อการออม 2. การน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำธุรกิจของธนาคาร ทั้งเรื่องเงินฝาก และสินเชื่อ เช่นบัตรเครดิต ที่มีธีม สุขแบบไทย ใช้แบบพอเพียง การทำสินเชื่อบ้านพอเพียง โดยหากลูกค้ากู้บ้านที่ไม่ใหญ่ หรือมีราคาแพงเกินตัว ก็จะมีดอกเบี้ยอัตราพิเศษให้

3.การนำดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำธุรกิจ โดยปรับเป็นดิจิทัลแบบไทยๆ หรือที่เรียกว่าดิจิไทยแบงกิ้ง มุ่งเน้นตอบโจทย์ทุกกลุ่มลูกค้า เช่นกลุ่มที่มีความรู้สูง รายได้สูง ก็ต้องการเทคโนโลยีเข้ามารองรับ เพิ่มความสะดวกสบาย ก็ต้องต่อยอดพัฒนา ดิจิทัลแบงกิ้ง ให้มีผลิตภัณฑ์ หรือช่องทางการบริการที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมารองรับ ส่วนลูกค้าฐานรากอาจพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือช่องทางการบริการแบบง่ายๆ ผ่านกองทุนหมู่บ้าน เป็นต้น ดังนั้นจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่แบบเบสิค ไปจนถึงแบบสุดโต่ง เพื่อให้ทุกกลุ่มลูกค้าได้ใช้

4.การส่งเสริมเอสเอ็มอีสตาร์ทอัพ ผลักดันให้เกิดนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตและบริการ โดยตั้งเป้าให้ได้ 100 กิจการ และ 5.การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ โดยปีหน้าเป็นปีที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้เห็นชอบโครงการแก้หนี้นอกระบบในภาพรวมไปแล้ว ขณะนี้รอมติเรื่องการชดเชยให้กับออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นโครงการพีเอสเอ ในส่วนที่ต้องปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้

“ออมสินต้องผ่อนปรนเกณฑ์การปล่อยกู้ ไม่อย่างนั้นอาจกู้ไม่ได้ โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่มารองรับการแก้ไขหนี้นอกระบบ เช่น ให้ปล่อยกู้ให้กับคนที่เป็นเอ็นพีแอลได้ เป็นต้น แต่รัฐบาลต้องเข้ามาชดเชยเงินต้นให้ ซึ่งขณะนี้รอสรุปแบบไฟนอลว่า เงื่อนไขที่จะผ่อนปรนให้มีอะไรบ้าง ถ้ามีเงื่อนไขผ่อนปรน รัฐต้องชดเชย แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขผ่อนปรน รัฐไม้ต้องชดเชย”