สุรงค์ บูลกุล นักเจรจาพลังงานมืออาชีพ

สุรงค์ บูลกุล นักเจรจาพลังงานมืออาชีพ

“เจรจา” ไม่ใช่ “จำนรรจา” แต่คือ “ศาสตร์” นำความสำเร็จของการต่อรอง “สุรงค์ บูลกุล” นักเจรจาพลังงาน พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวหนังสือ

ในแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานไทย น้อยคนจะไม่รู้จัก “สุรงค์ บูลกุล” ผู้บริหารบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) ที่คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมนี้มานานกว่า 30 ปี  ตั้งแต่ยุคแรกก่อตั้ง “ปตท.” 

เขาจึงเป็นหนึ่งในผู้บริหารที่ร่วมเขียน “ประวัติศาสตร์” อุตสาหกรรมพลังงานไทย ตั้งแต่ยุคที่ปตท.ยังเป็น “รัฐวิสาหกิจ” จนแปรรูปเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) เป็นบริษัทจำกัด (มหาชน) ในปี 2546

แม้เจ้าตัวจะบริหารงานมาหลายตำแหน่งในปตท.อย่างที่เขาพูดอยู่เสมอว่า จะขอเป็น หางราชสีห์ (คนเล็กในองค์กรใหญ่) ดีกว่าเป็น หัวหมา (คนใหญ่ในองค์กรเล็ก) เพราะทำประโยชน์ได้มากกว่า

ทว่า สิ่งที่เป็น “ลายเซ็นต์” ทำให้ผู้คนจดจำเขาไม่ลืม คือ ความจัดเจนในการ “เจรจาพลังาน” ที่หาตัวจับได้ยาก ! 

ความสำเร็จในการเจรจา นำมาซึ่งการ "รักษาผลประโยชน์" ประเทศชาติ ที่เขาแอบภาคภูมิใจ และอยาก “ถ่ายทอด” ศาสตร์ หรือ เทคนิคการเจรจาสู่คนรุ่นถัดไป หลังเพิ่งเกษียนอายุงานในปี 2558

กลายเป็นหนังสือชื่อ “เจรจาสบายๆ สไตล์ สุรงค์” ที่นอกจากจะอัดแน่นด้วย เทคนิคการเจรจาแพรวพราวแล้ว เนื้อหาในเล่มยังเป็นเหมือน “เกร็ดนอกพงศาวดาร”

ที่หาอ่านได้ยาก อย่างเรื่องชีวิตแสบซ่าในวัยเด็ก โชคชะตาเล่นตลกทำให้ความชอบในวัยเด็ก กลายเป็นอาชีพในเวลาต่อมา 

ชีวิตวัยเรียนที่โลดแล่นในต่างประเทศ และประสบการณ์ “โหดมันฮา” ในวัยทำงาน โดยเฉพาะในช่วงที่เขาร่วมเจรจาในดีลต่างๆ ด้วยหลากเทคนิค แทคติก ที่อยากบอกเล่า

บทหนึ่งในหนังสือ ที่ว่าด้วยเรื่อง “การเจรจาบนมิติที่แตกต่าง” สุรงค์เล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่เขาได้รับมอบหมายให้เป็น “หัวหน้าทีมเจรจาซื้อก๊าซธรรมชาติฝั่งไทย” เพื่อยุติข้อพิพาทในการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ) แปลงสัมปทาน A18 ,ฺB17 และ C19 ราวปี 2545 ที่เต็มไปด้วยเรื่องดราม่า ​

เมื่อผู้ซื้อ (ปิโตรนาส และ ปตท.) ไม่สามารถรับซื้อก๊าซจากแหล่งดังกล่าวที่ลงทุนสำรวจและผลิตไปแล้ว กว่า 800 ล้านดอลล่าร์ในขณะนั้น โดยมีบริษัทปิโตรนาส ชาลิการี ,ปตท.สผ.และอมาราดา เอสส์ บริษัทสัญชาติอเมริกัน เป็นผู้สำรวจและผลิต เนื่องจากเกิดการประท้วงไม่ให้วางท่อส่งก๊าซผ่านอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา

จนปตท.อาจต้องจ่ายค่าปรับมหาศาลตามมา หากไม่สามารถรับซื้อก๊าซได้ตามกำหนดเวลา ตามสัญญา Take or Pay  (ไม่ซื้อก็ต้องจ่าย) เรียกว่าทะเลาะกับคู่กรณี (อมาราดา เอสส์) จนหน้าดำหน้าแดง จบด้วยการนัดเจรจากับแบบตัวต่อตัว (Face to Face) กับคู่กรณี กับโรงแรมแห่งหนึ่งย่านลาดพร้าว

ศาสตร์การเจรจาบนมิติที่แตกต่างที่สุรงค์งัดมาใช้ในครานั้น คือการ “กล่อม” (แลกในสิ่งที่ต่างฝ่ายต้องการ) โดยให้ อมาราดา เอสส์ รับซื้อก๊าซในปริมาณเพิ่มขึ้น เพื่อแลกกับการลดราคาก๊าซ โดยปตท.สัญญาว่าจะรับซื้อก๊าซ แม้ระยะเวลาการรับซื้อจะลากยาวออกไป 

จบจากดีลนั้น ทำให้ปตท.รัฐวิสาหกิจ (บริษัทของรัฐ) ในขณะนั้น ไม่ต้องเสียค่าปรับเป็นเงิน “หลายหมื่นล้านบาท”

ยังมีอีกหลายดีล ที่หาอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้ เช่น เบื้องหลังดีลการขายโรงกลั่นไทยออยล์ ที่เจรจาอย่างไรก็จบไม่ลง เนื่องจากคู่เจรจายืนกันอยู่คนละฟากฝั่งความคิด ที่เป็นเหมือน “เส้นขนาน” ที่ไม่อาจโคจรมาเจอกัน

นอกจากนี้ ยังมีหลายบทในหนังสือที่ชวนติดตามหามาอ่าน เช่น  บทที่ว่าด้วยเรื่อง แบบฝึกหัดนักเจรจา ,การพูดไร้สาระเพื่อหาสาระ ,เจรจาแบบผู้หญิงหรือนักการทูต,อย่าเปิดการเจรจาด้วยราคา,เจรจาแบบแม่ค้า,จังหวะการเข้าทำ,ลูกน้องเป็นผู้ร้าย เจ้านายเป็นพระเอก และเมื่อไหร่จะใช่ Plan B เป็นต้น

หนังสือเล่มนี้ ยังได้รับเกียรติจาก หม่อมหลวง ปนัดดา ดิสกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ,ดร.อำพน กิตติอำพน อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสุทธิชัย หยุ่น ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารและกองบรรณาธิการ บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมเขียนคำนิยม

หนังสือ “เจรจา สบายๆสไตล์ สุรงค์” ศาสตร์เจรจาพาที วิถีนักพลังงานมืออาชีพ เปิดตัวหนังสือในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้้งที่ 21 (BOOK EXPO THAILAND 2016)  ณ เวทีกิจกรรมเอเทรียม ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในวันพุธที่ 19 ต.ค. เวลา 19.00-20.00 น. และมีจำหน่ายในบูธเนชั่น M 51 โซน C1 ในงานมหกรรมหนังสือฯ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 13 - 24 ต.ค. 2559

---------------------------

ประวัตินักพลังงาน

2548 - 2551 : ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.

2551 - 2552 : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.

2552 - 2555 : รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ปฏิบัติงาน Secondment ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

2555 - 2557 : ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน ปตท. และประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

ปัจจุบัน          : ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

                   : นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย