เปิดผลวิจัย.. สถาบันป๋วย ปัจจัยนอกกดดัน 'เงินเฟ้อไทย'

เปิดผลวิจัย.. สถาบันป๋วย ปัจจัยนอกกดดัน 'เงินเฟ้อไทย'

เปิดผลวิจัย.. สถาบันป๋วย ปัจจัยนอกกดดัน 'เงินเฟ้อไทย'

พิม มโนพิโมกษ์” เศรษฐกรอาวุโส สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (สศป.) ทำบทวิจัยเรื่อง “เงินเฟ้อต่ำ เพราะราคาน้ำมันลดเท่านั้นจริงหรือ?” โดยอธิบายถึงสาเหตุที่เงินเฟ้อไทยต่ำ ซึ่งไม่ได้เกิดจากราคาน้ำมันอย่างเดียว แต่เป็นผลจากการที่ประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย มีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ผ่านกระแสโลกาภิวัฒน์ที่ทวีความรุนแรงนับตั้งแต่ปี 2543 ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยอ่อนไหวกับปัจจัยภายนอกประเทศมากขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

พิม บอกว่า ปรากฎการณ์ “เงินเฟ้อต่ำ” ทั่วโลกในขณะนี้ ดูเหมือนถูกขับเคลื่อนโดยราคาน้ำมันเป็นอย่างมาก แต่จริงๆ ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อน เงินเฟ้อ “เริ่มต่ำ” ลงตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยช่วงปี 2533-2543 เงินเฟ้อไทยเฉลี่ยที่ 5% แต่หลังปี 2543 เป็นต้นมา เงินเฟ้อไทยลดลงมาเฉลี่ยที่ 2.5%

ปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยเงินเฟ้อโลกในช่วงปี 2533-2543 มีค่าเฉลี่ยที่ 15% แต่หลังปี 2543 เป็นต้นมาค่าเฉลี่ยของเงินเฟ้อโลกลดลงเหลือเพียง 4% เท่านั้น

นอกจากนี้ ยังพบว่าหลังปี 2543 เป็นต้นมา “ค่าความผันผวน” ของเงินเฟ้อในแต่ละประเทศก็ปรับ “ลดลง” ด้วย ที่สำคัญยังพบด้วยว่า เงินเฟ้อในแต่ละประเทศ เริ่มมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันมากขึ้น

คำถาม คือ อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นระดับเงินเฟ้อที่ต่ำลง ความผันผวนที่น้อยลง รวมทั้งการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อในแต่ละประเทศ ซึ่งไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น?

พิม บอกว่า ก่อนตอบคำถาม ต้องย้อนไปดูทฤษฎีที่ขับเคลื่อนเงินเฟ้อก่อน ซึ่งมาจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ 1.การคาดการณ์เงินเฟ้อ และการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งในกรณีนี้ประเทศที่มีกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อชัดเจน จะช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของคนได้ดีกว่า

2.อุปสงค์ในประเทศ เพราะเวลาที่ผู้ผลิตจะผลิตสินค้า มักจะดูอุปสงค์เป็นสำคัญ หากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้ผลิตก็จะผลิตสินค้าลดน้อยลงด้วย เพื่อที่จะขายสินค้าได้ และ 3. อุปทาน ซึ่งส่วนมากมาจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ราคาน้ำมัน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อราคาสินค้าในประเทศ

พิม บอกว่า ถ้าย้อนดูปัจจัยแรก คือ เรื่องนโยบายการเงิน กรณีของประเทศไทยพอจะอธิบายได้ว่า หลังปี 2543 เป็นต้นมา ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) นำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้ จึงอาจอธิบายได้ว่า เงินเฟ้อที่ลดลง เกิดจากผู้ดำเนินนโยบายการเงินมีประสิทธิภาพ และช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อได้ดี อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ

อย่างไรก็ตามคำอธิบายนี้ “พิม” ยอมรับว่าไม่สามารถอธิบายถึง เงินเฟ้อของอีกหลายประเทศที่อยู่ในระดับต่ำและเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันได้ เพราะแต่ละประเทศก็มีการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันไป

ส่วนปัจจัยเรื่อง “อุปสงค์” อันนี้คล้ายกัน คือ อุปสงค์ส่วนเกินของแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน โดยขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ซึ่งไม่เหมือนกัน บางประเทศเศรษฐกิจดี บางประเทศไม่ดีนัก จึงไม่สามารถอธิบายได้ว่าเงินเฟ้อแต่ละประเทศทำไมจึงเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น

สำหรับปัจจัยด้าน “อุปทาน” พบว่า หลังปี 2543 มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างหนึ่ง คือ กระแสโลกาภิวัฒน์มีความรุนแรงขึ้น เป็นช่วงที่ประเทศในตลาดเกิดใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการค้าโลกมากขึ้น เช่น จีน ที่เริ่มเปิดประเทศและมีการค้าขายกับทั่วโลกมากขึ้น ทำให้สินค้านำเข้า-ส่งออกของหลายประเทศมีอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ถ้าดูอัตราการค้าขายของโลกเป็นสัดส่วนต่อผลผลิตรวมของโลก ช่วงปี 2543 เร่งขึ้นเป็น 2.5 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก”

สำหรับประเทศไทยช่วงปี 2543 เป็นต้นมา มีอัตราการเปิดของประเทศเพิ่มขึ้น โดยวัดจากการค้าขายหารด้วยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ที่เพิ่มขึ้นจนสูงกว่าระดับ 100% เทียบกับ ช่วง 10 ปีก่อนหน้า(2533-2543) ที่อัตราการเปิดของประเทศอยู่ระดับ 70%

พิม บอกว่า งานวิจัยที่ศึกษา พบว่าผลของ “กระแสโลกาภิวัฒน์” มีผลต่อเงินเฟ้อใน 2 ช่องทางหลัก คือ ช่องทางตรงและช่องทางอ้อม

ช่องทางตรง เช่น จีนซึ่งมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ เมื่อเปิดการค้าเสรีมากขึ้น ทำให้จีนส่งออกสินค้าราคาถูกขายทั่วโลก สมมติว่า เดิมประเทศไทยผลิตรองเท้าขายคู่ละ 300 บาท พอจีนเปิดประเทศทำให้มีผู้นำเข้ารองเท้าจากจีนมาขายในประเทศ และขายในราคาเพียง 100 บาท ซึ่งก็ส่งผลต่อเงินเฟ้อในประเทศไทยโดยตรง จึงเรียกได้ว่าเป็นผลทางตรงจากกระแสโลกาภิวัฒน์

ส่วนช่องทางอ้อม การที่จีนเปิดประเทศและส่งออกสินค้าในราคาที่ถูกลง ผู้ประกอบการในประเทศไทย จึงมีแรงกดดันในเรื่องของราคา ทำให้ผู้ประกอบการรองเท้าในไทยต้องแข่งขันมากขึ้น ต้องหาวิธีทำให้ราคารองเท้าถูกลงเพื่อจะแข่งขันกับจีนได้ โดยอาจต้องยอมลดกำไรของตัวเองลง เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาด หรือไม่ก็หาวิธีการผลิตรองเท้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ในยุคของโลกาภิวัฒน์ที่แต่ละประเทศเปิดตัวเองมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการจากสหรัฐหรือยุโรป สามารถไปตั้งโรงงานผลิตในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำได้ ส่งผลให้ราคาสินค้าในประเทศเหล่านั้นถูกลงตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อเงินเฟ้อที่ปรับลดลง

“กระแสโลกาภิวัฒน์ ทำให้เงินเฟ้อในหลายประเทศเคลื่อนไหวไปทิศทางเดียวกันมากขึ้น เพราะประเทศต่างๆ เชื่อมโยงกันมากขึ้น การแพร่กระจายของประเทศหนึ่ง อาจกระทบกับประเทศอื่นได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือการที่หลายๆ ประเทศ นำเข้าสินค้าจากจีนหรือใช้สินค้าอันเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงของสินค้าเหล่านั้น จะกระทบต่อหลายประเทศไปพร้อมๆ กันด้วย”

ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมเงินเฟ้อของหลายประเทศทั่วโลกหลังปี 2543 เป็นต้นมา จึงอยู่ในระดับต่ำลง และมีการเคลื่อนไหวที่เป็นไปในทางเดียวกันมากขึ้น

สำหรับกรณีของประเทศไทย พบว่า หลังปี 2543 เป็นต้นมา “เงินเฟ้อ” มีความอ่อนไหวจากปัจจัยภายนอกที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ที่เข้ามามีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าสินค้าที่ถูกลง ผลพลอยได้จากเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตที่เพิ่มขึ้น หรือ การแข่งขันที่สูงขึ้น และปรากฎการณ์นี้ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นกับในอีกหลายประเทศทั่วโลกด้วย