BKD ได้เวลาผลัดใบ 'ณัฐนันท์ ประสงค์ชัยกุล'

BKD ได้เวลาผลัดใบ 'ณัฐนันท์ ประสงค์ชัยกุล'

สวมบทนักธุรกิจสาวไม่ถึงปี ทว่ากับสร้างกำไรโปรเจคไซด์เล็กทะลุ 50% 'ณัฐนันท์ ประสงค์ชัยกุล' ทายาทหนึ่งเดียว หุ้นใหญ่ 'บางกอก เดค-คอน'

'ไม่อยากทำงานกับแม่ เพราะชอบทะเลาะกันตามประสาแม่ลูก ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่เปลี่ยนมาทะเลาะเรื่องงานแทน สุดท้ายเมื่อเติบโต และความคิดตกผลึกที่ว่า การเข้ามาช่วยงานแม่ แม้จะเหนื่อยและเครียด แต่ความลำบากนั้น จะนำพาธุรกิจครอบครัวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน' 

'แป้ง-ณัฐนันท์ ประสงค์ชัยกุล' ผู้จัดการทั่วไป บมจ.บางกอก เดค-คอน หรือ BKD ควงคุณแม่ 'ฉลาม-นุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ' แจกแจงวิสัยทัศน์กับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' 

เมื่อทายาทคนเดียวของ 'ฉลาม-นุชนารถ' ในฐานะประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการ บมจ.บางกอก เดค-คอน ตัดสินใจแน่วแน่จะเข้ามาบริหารกิจการของครอบครัวในปี 2557

ผู้เป็นแม่ ตัดสินใจโอนหุ้นเพิ่มเติมให้ลูกสาว เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2559 จำนวน 13.68% ส่งผลให้มีหุ้นในมือ 22.89% ขณะที่ 'นุชนารถ' จะเหลือหุ้น 25.33%

สัญญาณนี้บ่งบอกว่า 'เจ้าแม่เก็งกำไรที่ดิน' กำลังจะหาจังหวะถอยไปนั่งทำงานหลังบ้าน!!!

ก่อน 'ณัฐนันท์' จะตัดสินใจนั่งทำงานเต็มเวลาใน BKD ย้อนกลับไปในช่วงอายุ 14 ปี เธอได้รับโอกาสเชิงบังคับ จากผู้เป็นแม่ให้เข้ามาช่วยงานด้านจัดซื้อ ทุกวันเสาร์และช่วงปิดเทอม แม้แม่จะวางรากฐานการบริหารธุรกิจมาตั้งแต่วัยเยาว์

แต่ทันทีที่เรียนจบคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตรนานาชาติ) เธอยืนยันหนักแน่นกับผู้ให้กำเนิดว่า จะออกไปแสวงหาความรู้ ตามบริษัทเอกชนต่างๆ แทนการเข้ามาเรียนรู้งานครอบครัว ซึ่งมารดาจำต้องยินยอมแต่โดยดี

อาชีพแอร์โฮสเตส สายการบินซิตี้แอร์เวย์ ประจำเที่ยวบินเช่าเหมาลำเมืองจีน คือ อาชีพมนุษย์เงินเดือนแห่งแรกในชีวิตของ 'สาววัย 25 ปี' เรียกว่า งานนี้ตอบโจทย์ชีวิตที่ต้องการออกไปท่องเที่ยว โดยไม่ต้องเสียเงินค่าตั๋ว ,ได้แต่งตัวสวยๆ และได้เงินเดือนสูงๆ แต่บินได้ไม่ถึงครึ่งปี จำต้องยุติบทบาท หลังการเมืองไทยวุ่นวาย ทำให้สายการบินซิตี้แอร์เวย์ ต้องหยุดการให้บริการในเมืองไทยชั่วคราว

แม้จะไม่ประสบความสำเร็จ จากอาชีพในฝันของหญิงสาว แต่เธอยังคงมุ่งมั่นที่จะออกไปทำงานนอกบ้านเหมือนเคย สุดท้ายตัดสินใจสมัครเป็นเซลล์ขายยา ตามคำแนะนำของคนรู้จัก นั่งรับเงินเดือน 50,000 บาท เกือบ 1 ปี เกิดความคิดที่ว่า

'ทำไมต้องมานั่งรอหมอตั้งแต่เช้ายันมืด เพื่อคุยเรื่องยาไม่ถึง 30 วินาที ทำไมต้องเหนื่อย ต้องเครียด ที่สำคัญการนั่งรอหมอไปวันๆ ทำให้สมองไม่ได้รับการพัฒนา และไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ตัวเองและครอบครัว'

สุดท้ายหญิงสาวที่มีทักษะภาษาอังกฤษดีที่สุดในออฟฟิค เปลี่ยนใจมานั่งทำงานใน BKD ด้วยการรับเงินเดือนมากกว่าอาชีพเซลล์ขายยา 1 เท่าตัว แม้จะไม่มีความรู้เรื่องการบริหารธุรกิจ และงานบัญชี เรียกว่า ทุกอย่างติดลบศูนย์ แต่งานชิ้นแรกของเธอ ก็สร้างความพอใจให้ผู้เป็นแม่ไม่น้อย

'โครงการตกแต่งภายใน ประเทศศรีลังกา มูลค่า 2 ล้านบาท' คือ งานที่ได้รับมอบหมายจากมารดา แม้มูลค่างานจะน้อย แต่เธอสามารถสร้างกำไรได้มากกว่า 50% ที่สำคัญปิดงานได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องผ่านมือผู้บริหารท่านอื่น

จากนั้นไม่นาน ก็ขยับไปทำงานในตำแหน่งนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) หน้าที่หลัก คือ ให้ข้อมูลบริษัทกับนักลงทุนและนักวิเคราะห์ รวมถึงเดินทางไปโรดโชว์ในต่างประเทศ

ผลงานโดดเด่นของลูกสาวคนเดียวของ “ฉลาม” คือ หุ้น BKD ไม่ใช่ม้านอกสายตากองทุนต่างชาติอีกต่อไป หลังความพยายามในการเดินสายโรดโชว์เพียงลำพัง ทำให้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี จากเหล่านักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ

บิสวีคเปิดบทสนทนา ด้วยการถามผู้เป็นแม่ว่า ให้คะแนนลูกสาวคนนี้เท่าไหร่? 'ฉลาม' ตอบว่า ตลอด 2 ปีที่เข้ามาเรียนรู้งาน หากพูดในแง่ของงานนักลงทุนสัมพันธ์คงต้องให้เต็มร้อย สะท้อนผ่านเสียงตอบรับที่ดีของเหล่านักลงทุน

แต่ถ้ามองในเรื่องการตลาด หรือการดูแลโครงการจนจบ เรื่องนี้คงต้องใช้เวลา เพราะงานค่อนข้างยาก และต้องใช้ประสบการณ์ ยิ่งมีข้อจำกัดในเรื่องของสุขภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง หลังน้องแพ้ไรฝุ่น ทำให้การลงพื้นที่อาจไม่ง่ายนัก ล่าสุดได้มอบหมายให้เข้าไปดูแลเรื่องการตลาดอย่างจริงจังแล้ว เป้าหมาย คือ ต้องสามารถตรวจงานได้ละเอียดเหมือนที่แม่ทำ (ยิ้ม)

'ภายใน 5 ปีข้างหน้า ตั้งใจจะถอยมานั่งเป็นที่ปรึกษา และให้เขาทำหน้าแทนเรา' 

ลูกสาวสวนกลับมารดาทันทีว่า 'น่าจะไหวนะ' ก่อนจะพูดต่อว่า องค์กรแห่งนี้ยังมีหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุง เพราะการทำงานบางอย่างสามารถทำให้เป็นระบบได้มากกว่านี้ เช่น การคิดค่าแรงช่าง ควรทำให้สมเหตุสมผลกว่าปัจจุบัน เป็นต้น

พับแผนลงทุนโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ถาวรหรือไม่ เธอตอบว่า นอกจากการลงทุนในโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์จะมีราคาสูงเฉลี่ย 10 เมกะวัตต์ มูลค่าเฉลี่ย 600 ล้านบาทแล้ว ยังมีความเสี่ยงเรื่องแผงโซล่าเซลล์ หากโรงงานที่สั่งซื้อปิดกิจการไป เราจะเดินหน้าโครงการต่อไปอย่างไร เรื่องนี้ต้องคิดให้ลึกๆ
แต่หากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นงานที่คุณแม่มีความถนัดตั้งแต่เด็ก น่าจะทำกำไรได้ดีกว่า สะท้อนผ่านความสำเร็จ ที่ดินกรุงเทพกรีฑา 20 ไร่ หลังบริษัทซื้อมาครอบครองเมื่อ 7 ปีก่อน ต้นทุนเฉลี่ย 87 ล้านบาท หากขายตอนนี้ราคาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 7 เท่า

ตอนนี้มีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์หลายราย ติดต่อขอซื้อที่ดินจากบริษัท แต่ตั้งใจจะขายในปี 2560 เพราะหากถนนที่ตัดผ่านหน้าที่ดินก่อสร้างแล้วเสร็จ ราคาที่ดินจะเด้งขึ้นทันทีประมาณ 20-30% นักเก็งกำไรที่ดิน เรียกว่า 'ราคาสะดุ้งถนน'

'ผู้จัดการทั่วไป' บอกว่า ปลายเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา บอร์ดอนุมัติให้บริษัทซื้อที่ดิน 28 ไร่ ในตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี มูลค่า 616.24 ล้านบาท ที่ดินแปลงนี้สวยมาก เพราะติดถนน และติดสถานีรถไฟฟ้าคูคต (สายสีเขียว) ทำให้มีคนมาขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าของเก่าเยอะมาก (ลากเสียงยาว)

จริงๆ เราดูดีลนี้มาตั้งแต่ปี 2558 ใจจริงอยากได้ที่ดินที่อยู่อีกฝั่งถนนจำนวน 60 ไร่ แต่ตอนนั้นสู้ราคาไม่ไหว เจ้าของเดิมจึงตัดใจขายแปลงนั้นให้อสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ชื่อดัง ตอนนั้นเจ้าของเปิดราคาขายตารางวาละเกือบ 50,000 บาท

'เราซื้อที่ดิน 28 ไร่ มาในราคา 52,000-53,000 บาทต่อตารางวา (รวมค่าโอนและค่านายหน้า) หลังตามตื้อขอซื้อที่ดินแปลงนี้จากเจ้าของเดิมหลายสิบรอบ'

ตอนนี้กำลังคิดว่าจะนำที่ดินแปลงนี้ไปพัฒนา หรือขายเก็งกำไร แต่จากการสำรวจสถิติพบว่า หากมีรถไฟฟ้าวิ่งผ่านที่ดิน ราคาที่ดินจะปรับขึ้นค่อนข้างมาก ยกตัวอย่าง ที่ดินแถวบางใหญ่ ราคาขยับขึ้นเฉลี่ยปีละ 1 เท่า จากตารางวาละ 50,000 กว่าบาท เป็น 150,000-250,000 บาทต่อตารางวา ภายใน 4-5 ปี ปัจจุบันที่ดินย่านบางใหญ่ไม่มีเหลือขายแล้ว

'ถ้าเก็บที่ดินไว้ 4-5 ปี คงได้กำไร 5 เท่า' 'ณัฐนันท์' ประเมิน

๐รับงานไซด์เล็กดัน 'มาร์จิ้น'

'เธอ' เล่าว่า บริษัทมีแผนจะปรับโมเดลการทำงานใหม่ ด้วยการหันมารับงานที่มีขนาดเล็กลง จากปัจจุบันที่เน้นรับงาน ตั้งแต่ขนาด 50-1,000 ล้านบาทต่อโครงการ เนื่องจากงานขนาดเล็กมีอัตรากำไรขั้นต้นสูงกว่า 30% ขณะที่งานขนาดใหญ่สามารถทำกำไรขั้นต้นได้เพียง 20%

สาเหตุที่ทำให้งานขนาดเล็กมีกำไรขั้นต้นสูง เพราะบริษัทไม่ต้องไปแข่งขันราคากับใคร ส่วนใหญ่ลูกค้าจะเชิญเข้าไปทำงาน ปัจจุบันงานขนาดเล็กยังมีสัดส่วนไม่ถึง 10% อนาคตจะมีสัดส่วนขยับเป็นเท่าไรคงต้องดูตลาดด้วยว่า มีงานให้ทำหรือไม่ แต่เบื้องต้นอยากเห็นสัดส่วนแตะระดับ 50%

นั่นแปลว่า เราต้องมีทีมงานเพียงพอต่องาน โดยเฉพาะผู้จัดการโปรเจค ปัจจุบันการดึงตัวผู้จัดการโปรเจคยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของธุรกิจนี้ และยิ่งรุนแรงมากขึ้น ตั้งแต่องค์กรเริ่มมีชื่อเสียง

วิธีแก้ไขปัญหา คือ ดันพนักงานตำแหน่งโฟร์แมนที่มีฝีมือดีขึ้นเป็นผู้จัดการโปรเจค ซึ่งการปรับระบบการทำงานเช่นนี้ จะทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ แม้คนเก่งจะถูกดึงตัว แต่เรายังมีคนเก่งปานกลางคอยสานงานต่อ บริษัทใหญ่ๆ หลายแห่ง ก็ทำเช่นนี้

'แม้ปัญหาแย่งตัวผู้จัดการจะไม่เคยหายไป แต่ในช่วง 30 ปีของการทำธุรกิจ BKD มีกำไรตลอด'

๐ ส.ค.นี้ เดินหน้าประมูลงานรัฐ

'หุ้นใหญ่อันดับสอง' แจกแจงว่า ตลอดปี 2559 จะมีงานทั้งของภาครัฐและเอกชนเปิดประมูลใหม่ประมาณ 4-5 งาน มูลค่าเฉลี่ย 3,000 ล้านบาท ตามแผนบริษัทต้องการชนะงานประมูล 50% หรือประมาณ 1,500 ล้านบาท

แบ่งเป็นงานรัฐ 70% และเอกชน 30% เทียบกับปีก่อนที่มีสัดส่วนงานรัฐ 80% และ เอกชน 20% ตามลำดับ หากไม่มีอะไรผิดพลาดภายในเดือนส.ค.นี้ อาจเข้าไปประมูลงานของหน่วยงานรัฐบาลแห่งหนึ่ง (แอบบอกชื่อโครงการนอกรอบ)

ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นกลุ่มสำนักงาน 68% หลังเซ็นสัญญาปลายปี 2558 รับงานงานตกแต่งศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มูลค่า 750 ล้านบาท ที่เหลือเป็นกลุ่มโรงแรมกว่า 16% กลุ่มมหาวิทยาลัย 2.7% กลุ่มห้างสรรพสินค้า 9.8% และกลุ่มอื่นๆ 3.66% (งานตกแต่งภายในหมู่บ้านจัดสรร ประเทศกัมพูชา เฟส 1 จำนวน 300 หลัง)

ตอนนี้ยังไม่มีแผนจะขยายงานต่างประเทศ หลังได้รับงานตกแต่งหมู่บ้านจัดสรร โครงการ ชิป หมง แลนด์ ประเทศกัมพูชา มูลค่า 1,000 ล้านบาท (5 เฟส จำนวน 900 หลัง) ล่าสุดดำเนินการตกแต่งไปได้เพียงครึ่งเฟส หลังการก่อสร้างโครงการล่าช้า คาดว่ากว่าโครงการจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งหมดคงใช้เวลา 5-6 ปี

'เคยเข้าไปแข่งราคาตกแต่งภายใน ประเทศพม่า แต่แพ้กระจุย เพราะการแข่งขันสูงมาก ส่วนงานประเภทที่อยู่อาศัย เราไม่ค่อยถนัด เพราะงานมีความยุ่งยาก และแก้งานบ่อย แม้จะได้กำไรสูงถึง 50% ก็ตาม'

'ว่าที่นายหญิงคนใหม่' ทิ้งท้ายว่า สิ้นไตรมาส 1 ปี 2559 บริษัทมีแบ็กล็อกประมาณ 1,500 ล้านบาท คาดว่าจะทยอยรับรู้รายได้เกือบทั้งหมดภายในปีนี้ ตามแผนวางเป้าหมายรายได้รวมในปี 2559 ว่า จะเติบโตกว่า 20% และอาจมีอัตรากำไรขั้นต้น และอัตรากำไรสุทธิอยู่ในระดับ 20% และ 10% ตามลำดับ

'แต่ทุกปีเรามักทำได้เกินเป้าหมาย'