พลิกโฉมธุรกิจไทยด้วย‘ดิจิทัล4.0’

พลิกโฉมธุรกิจไทยด้วย‘ดิจิทัล4.0’

โมเดลปฏิรูปเศรษฐกิจที่เรียกว่า “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล กำหนดการขับเคลื่อนในลักษณะ “Innovative Driven Economy”

โดยเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญใน 3 มิติคือ 1.เปลี่ยนจากการผลิตสินค้า “โภคภัณฑ์” ไปสู่สินค้าเชิง “นวัตกรรม” 2.เปลี่ยนจากการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม และ 3.เปลี่ยนจากการเน้นภาคการผลิตสินค้าไปสู่การเน้นภาคบริการ หรือ “Smart Enterprise” ที่การแข่งขันไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดของธุรกิจ แต่เป็นการนำนวัตกรรมและไอเดียมาสร้างเป็นโมเดลธุรกิจที่เพิ่มคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ

อุไรพร ชลสิริรุ่งสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น บริษัท มายรัม (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “นวัตกรรมด้านดิจิทัล” เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจตามแนวนโยบายประเทศไทย 4.0 หากมองย้อนหลังไปพบว่าดิจิทัลได้แปลงรูปจากการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ทั่วไปในยุค “ดิจิทัล 1.0” มาเป็นแพลตฟอร์มของการตลาดยุคดิจิทัลที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถสื่อสารและสร้างคอนเทนท์ผ่านช่องทางโซเชียลในวงกว้างในยุค “ดิจิทัล 2.0”

    สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ดิจิทัลอยู่กับผู้คนผ่านระบบการสื่อสารในลักษณะคลาวน์คอมพิวติ้ง ที่ข้อมูลเกือบทุกลักษณะถูกจัดเก็บและสามารถถูกเรียกผ่านแพลตฟอร์มทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นออนไลน์เซอร์วิส ออมนิ แชนแนล (Omni-Channel) การดูหนังฟังเพลงหรือแม้กระทั่งการสอบถามข้อมูลจากระบบดิจิทัลสมองกลอัจฉริยะผ่านโมบาย อย่าง Siri หรือ Watson ในยุค “ดิจิทัล 3.0”

    ดังนั้นการเปลี่ยนผ่านของดิจิทัลไปสู่ยุค“ดิจิทัล 4.0” จึงเป็นความสามารถในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจของผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์บนความพร้อมขององค์กรและทรัพยากร โดยการประยุกต์ใช้นวัตกรรมข้อมูลเชิงลึก (Analytics) เพื่อรองรับการใช้งานของผู้บริโภคและฝ่ายปฏิบัติงานขององค์กร การออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง (User-Centered Design) การทำงานและการสื่อสารของอุปกรณ์ในลักษณะ Machine-2-Machine หรืออินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ตลอดจนการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเพื่อรองรับความต้องการของธุรกิจและองค์กร สู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและคุณค่าให้กับสินค้าและบริการอย่างก้าวกระโดด

 

นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจ

“ประเทศไทย 4.0” เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยไปสู่ “Value-Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ซึ่งมุ่งเป้าหมายใน 5 กลุ่มเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ประกอบด้วย 1. เทคโนโลยีการเกษตร (Agritech) เทคโนโลยีอาหาร (Foodtech) 2. เทคโนโลยีสุขภาพ (Healthtech) เทคโนโลยีการแพทย์ (Meditech) 3.เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotech) 4.อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เทคโนโลยีด้านการเงิน (Fintech) เทคโนโลยีด้านการศึกษา (Edutech) และมาร์เก็ตเพลส 5. เทคโนโลยีการออกแบบ (Designtech) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (Traveltech) ธุรกิจไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Business) และการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการ (Service Enhancing)

    อุตสาหกรรมคงต้องบุกเบิกและพัฒนาความพร้อมในการสร้างนวัตกรรมหรือประยุกต์ใช้นวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจและสร้างผลลัพธ์ตามเป้าหมาย ตัวอย่าง การใช้หุ่นยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมที่กลุ่มบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และโมบายในประเทศจีนนำมาใช้ในการกระบวนการผลิต โดย 35 บริษัทผู้ผลิตจากไต้หวันได้ใช้เงินวิจัยและลงทุนกับนวัตกรรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์กว่า 4 พันล้านหยวน ทำให้สามารถแทนที่การใช้แรงงานคนจาก 110,000 คนลงเหลือ 50,000 คน ช่วยลดต้นทุนการบริหารจัดการ เพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันและลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ

    ดังนั้นนอกจากเงินลงทุนกับการพัฒนานวัตกรรมหรือการประยุกต์ใช้นวัตกรรมแล้ว องค์กรต้องมีความพร้อมด้านทรัพยากรบุคคล ความสามารถในการปรับกระบวนการทำงานและความรวดเร็วในการบริหารจัดการธุรกิจ ตลอดจนการใช้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อเพิ่มโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือสร้างโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์การแข่งขัน

 

มุ่ง‘ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม’ 

อุไรพร  กล่าวว่าวิสัยทัศน์ของผู้บริหารในการสร้างความรู้และความเข้าใจกับดิจิทัลหรือนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นโจทย์ที่ “ท้าทาย”ขององค์กรในยุคดิจิทัล4.0 สำหรับองค์กรจำนวนมากในประเทศที่มีความพร้อมทางเทคโนโลยีได้ก้าวข้ามสู่ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น (Digital Transformation)” เน้นการดำเนินงานที่มุ่งเป้าไปถึงความสำเร็จในการสร้างความสัมพันธ์และความพึงพอใจของธุรกิจและลูกค้าผ่านกระบวนการออกแบบที่คำนึงถึงผู้ใช้งานเป็นศูนย์กลาง 

โดยการปรับกระบวนการทำงานเพื่อให้รองรับการใช้งานข้อมูล การทำงานร่วมกันของระบบและฟังก์ชั่นที่ช่วยการทำงานของพนักงาน ตลอดจนการเข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของตลาดและลูกค้าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือโมเดลธุรกิจที่ขยายฐานไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ได้อย่างถาวร  เช่น การทรานส์ฟอร์มของจีอี (GE) ในการเป็นผู้นำด้าน Digital Power Plant และ Digital Wind Farm ที่ผู้บริหารระดับสูงกำหนดวิสัยทัศน์และขับเคลื่อนองค์กรไปสู่โมเดลธุรกิจใหม่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงเป้าหมาย

 

ขับเคี่ยวกลยุทธ์การตลาดยุคดิจิทัล4.0

ความแข็งแกร่งของ “แพลตฟอร์ม”ขนาดใหญ่เช่น เฟซบุ๊ค กูเกิล แอ๊ปเปิ้ลและไลน์ มีอิทธิพลต่อการเข้าถึงผู้บริโภคและลูกค้ามากขึ้นทุกวัน 

จาก“โซเชียล มีเดีย”ที่เน้นการสื่อสารระหว่างเพื่อน เปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มในการโฆษณาและกำลังทรานส์ฟอร์มไปเป็นแพลตฟอร์มในการขายออนไลน์ ทำให้แบรนด์และพันธมิตรของแพลตฟอร์มเหล่านี้ต้องวิ่งตามให้ทันต่อการล้วงลึกของข้อมูลที่แพลตฟอร์มสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ได้ 

ส่งผลต่อกลยุทธ์การตลาด สื่อสารและการขาย ตลอดจนการแย่งชิงลูกค้าจากแบรนด์อื่น!!

    นวัตกรรม IoT จะเปิดกว้างให้สิ่งของสามารถสื่อสารกันเองและสื่อสารไปยังผู้บริโภค การปรากฎตัวของแบรนด์หรือการสร้างกิจกรรมต่างๆ ตรงไปยังอุปกรณ์เหล่านี้ย่อมมีความเป็นไปได้มาก อาทิ การส่งโปรโมชั่นไปยังตู้เย็น หรือคอนโซลของรถยนต์ การสั่งซื้อสินค้าอัตโนมัติจากเครื่องต้มกาแฟหรือการส่งคูปองไปยังลูกค้าที่เลือกชมสินค้าในโชว์รูมผ่านแอพที่กำลังจะขยายตัวอีกมาก

    ดังนั้นยุคดิจิทัล 4.0 จึงเป็นยุคของการแข่งขันด้านวิสัยทัศน์ ไอเดีย ข้อมูล ความเร็วและบุคลากร ที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและธุรกิจให้รุกหน้าไปพร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐและจากการร่วมมือของพันธมิตรในเครือข่ายต่างๆ 

คงถึงเวลาแล้วที่องค์กรต้องประยุกต์ใช้ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่น”ให้เหมาะสมและทันการณ์