"บูรณิศ ยุกตะนันทน์" บิ๊กสหการประมูล องค์กรอยู่ได้ด้วย ระบบ

"บูรณิศ ยุกตะนันทน์" บิ๊กสหการประมูล องค์กรอยู่ได้ด้วย ระบบ

มือฉมังกลยุทธ์การหาเสียงให้พรรคการเมือง ก่อนผันมาเอาดีทางธุรกิจ'บูรณิศ ยุกตะนันท์'ขอพิสูจน์ผลงานปั้นองคกรเก่าแก่'สหการประมูล'พลิก360องศา

ผละจากการช่วยงานพรรคการเมือง สู่สังเวียนธุรกิจ นักคิด-นักวางแผนกลยุทธ์ อย่าง "บูรณิศ ยุกตะนันทน์" หัวหน้าสำนักงานกรรมการผู้จัดการ สหการประมูล ย้อนให้ฟังว่า ที่รับตำแหน่งนี้ เพราะคำชวนของ "เทพทัย ศิลา" บอสใหญ่สหการประมูล บิ๊กธุรกิจประมูลรถยนต์ในไทย ที่ขอให้มาช่วยงาน หลังจากก่อนหน้านี้เคยเป็นที่ปรึกษาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ อีกขาธุรกิจของเทพทัย นานถึง 5 ปี  

"คุณเทพทัยเป็นดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ที่เขาค้อ มีที่ดินในมือกว่า 1,500 ไร่ ตอนนั้นผมเป็นที่ปรึกษาขายที่ดิน ทำกับแกอยู่ 5 ปี ก็ชวนมาทำงานด้วย แกทาบทามด้วยตัวเอง จากก่อนหน้านี้ก็ช่วยงานภาคการเมืองอยู่ 3-4 ปี พอมีการเว้นวรรคทางการเมือง ก็เข้ามาช่วยงานที่นี่" เขาเล่า

ทว่า แค่คำชวน กับคุ้นเคยกัน ไม่น่าจะมีน้ำหนักมากพอให้ตัดสินใจเปลี่ยนงาน หากไม่ "ศรัทธา" ในตัวผู้นำ  

"จะทำงานให้ใครต้องมีศรัทธาที่ตัวบุคคล ส่วนจะสังกัดพรรคการเมืองไหน หรือองค์กรไหน ผมว่าเป็นเรื่องรอง ผมเป็นคนมองตัวคนที่ทำงานด้วย ไม่เน้นมองสถาบัน และตกลงมาทำงานที่นี่ เพราะ "ศรัทธา" ที่มีต่อตัวผู้บริหาร"

โดยเขายกย่องว่า เทพทัย เป็นคนทำงานเร็ว และ Alert (ตื่นตัว) สูงมาก จึงเป็นแรงผลักให้เขาต้องตามเจ้านายให้ทัน 

นี่คือประการแรกสุดของการบริหารจัดการองค์กร ที่ว่าด้วยเรื่อง "ความสำเร็จเริ่มจากการมีผู้นำที่เคมีเข้ากัน" ในทัศนะของเขา

การเข้ามาทำงานในจังหวะที่องค์กร "เปลี่ยนผ่าน" จากธุรกิจครอบครัวสู่การเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ มีหลักกำกับธรรมาภิบาล ยังทำให้เขาต้องวางหมากใหม่ สอดคล้องกับมิติที่เคยหารือกับผู้ชักชวนมาทำงาน

สิ่งแรกคือ "การมุ่งขยายบริษัทในมิติกว้างขึ้น" มีพันธมิตรต่างชาติ รุกต่างแดน โดยเฉพาะการเจาะตลาดประมูลในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอยู่ระหว่างวางยุทธศาสตร์ 

และสองคือ "การพัฒนาระบบองค์กร" ทั้งภายในคุมทุกอย่างทั้งสต็อกรถยนต์ ตัดยอดขาย การทำบัญชี การเงินต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งภายนอกให้ลูกค้าสามารถคลิกเข้ามาดูรถยนต์ที่จะประมูลได้แบบละเอียดยิบ ทั้งยี่ห้อ ราคา สถานที่ประมูล ฯลฯ เป็นระบบของตัวเอง จากเดิมใช้ระบบการประมูลจากแคนาดา ถือเป็นแปลงภาพของสหการประมูลแบบ "ยกกระบิ"     

เขาบอกว่า ครั้งนี้ถือเป็นการปรับใหญ่ทั้งเรื่องไอที (ระบบ)  เรื่องคน ผังองค์กร วางโครงสร้างการบริหารใหม่หมด เพื่อตอบรับยุคดิจิทัล ซึ่งเดิมทีผู้บริหารมักลงลึกในรายละเอียดของงานมาก เรียกว่าระดับซีอีโอ เจ้าของบริษัทสั่งการตรงถึงพนักงานระดับปฏิบัติการ ทำให้เกิด "ช่องว่าง" ของโครงสร้างการบริหารที่กว้างมาก 

แต่จากนี้ไปองค์กรจะต้องมีมาตรฐานสากล ด้วยการ "วางระบบ" 

หากทุกอย่างเป็นไปตามแผน จะส่งผลให้บริษัทขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน 

"นี่เป็นการวางแบบ Conservative (อนุรักษนิยม) ต่อไปบริษัทจะอยู่ได้ด้วยระบบ ไม่ใช่อยู่ได้ด้วยคน หากผมหรือผู้ถือหุ้นไม่อยู่ บริษัทต้องวิ่ง ได้ด้วยตัวเอง เราจะพัฒนาไปสู่ระบบนั้น ไม่ใช่ผมเป็นหวัดอาทิตย์หนึ่งแล้วธุรกิจเจ๊ง"

แม้การมีผู้บังคับบัญชาสั่งการตรง จะไม่ใช่จุดอ่อน แต่เมื่อบริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แล้ว ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ เพราะวันนี้ธุรกิจไม่ได้เติบโตแบบมีเจ้าของเพียงคนเดียว หากแต่เกิดจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) รายล้อมองค์กร ช่วยกันผลักดันการเติบโต 

หนึ่งในนั้นคือการแสวงหา "พันธมิตร" มาร่วมธุรกิจ เพราะการเติบโตของสหการประมูล จะไม่จำกัดแค่ในประเทศอีกต่อไป เป้าหมายใหม่และใหญ่คือตลาดระดับ "Regional"  (อาเซียน) รับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเกิดขึ้นในปลายปี 2558 ซึ่งปัจจุบันประเทศเพื่อนบ้านต้องการ "รถยนต์" ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา ที่นั่งเคาะแป้นประมูลผ่านระบบออนไลน์ได้ไม่ต่างจากไทย เขาย้ำ  

"ที่เรามองตลาดหลักคือพม่า ปีนี้ได้เห็นแน่ เพราะมีโอกาสอยู่ในนั้นเยอะมาก รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ ล้วนเป็นที่ต้องการ แต่การซื้อรถไม่ง่ายเหมือนบ้านเราที่ไม่มีเงินก็ซื้อได้ พม่ากฎเหล็กเยอะ ความต้องการ กำลังซื้อมี แต่ซัพพลายน้อย ทุกวันนี้ที่นิยมมากคือซื้อรถใช้แล้วจากญี่ปุ่น ที่ใช้งานกว่า 10 ปี จึงอยากเห็นสหการประมูลเป็นตัวกลางกระจายรถสู่ประเทศเพื่อนบ้าน" 

ก่อนประกาศว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า สหการประมูลตั้งเป้าจะเป็น "ศูนย์รวม" รถยนต์ในภูมิภาคอาเซียน !  "ในเรื่องระบบประมูล อ็อกชั่น ระดับเอเชียเราชนะญี่ปุ่นไม่ได้ แต่การไปอาเซียนจะทำให้ได้"

การตั้งธงบุกต่างแดน มองย้อนกลับมาตลาดการประมูลรถยนต์ในประเทศปีนี้ สำหรับเขายังมองว่า "ดี"  จึงไม่กังวลกับการบริหารธุรกิจในจังหวะตลาดรถยนต์โดยรวมมีมรสุมรุมเร้า โดยเขาบอกว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี รถยนต์มือสองจะ "ลิงโลด" เพราะนั่นจะทำให้มีรถยนต์เข้าสู่ตลาดประมูลมากขึ้น จากการผ่อนชำระไม่ไหวและถูกยึดทรัพย์สินเพื่อนำมาขายทอดตลาด

ขณะที่สหการประมูลเป็นผู้นำในตลาดประมูลรถยนต์ โดยที่มีส่วนแบ่งตลาด 55% ของการประมูลรถยนต์ราว 2 แสนคันต่อปี   

เป็นโอกาสดีในวันสัมภาษณ์ เป็นคราวเดียวกับที่มีการประมูลรถยนต์  "บูรณิศ" จึงถือโอกาสทำหน้าที่บรรยายการประมูลไปในตัว โดยการประมูลรถยนต์เกิดขึ้นรวดเร็ว เจ้าหน้าที่เคาะราคาอย่างคล่องแคล่ว ขณะที่ผู้ร่วมประมูลแย่งเสนอราคากันพัลวัน รถคันแล้วคันเล่าต่อแถวเข้าประมูลและปิดการขายอย่างรวดเร็ว  

สะท้อนให้เห็น "ความต้องการ" ของตลาดห้วงเวลานี้ได้ไม่น้อย 

ตัวเลขรถยนต์ที่หมุนเวียนในตลาดการประมูล 2 แสนคัน ฟังดูไม่น้อย แต่ข้อเท็จจริงคือยังมี "โอกาสมหาศาล" เพราะหากพิจารณาทั้งระบบมีรถยนต์ในตลาดราว 3 ล้านคันต่อปี "บูรณิศ" เล่า  

ทว่า อุปสรรคสำคัญของการประมูลในไทย คือ "ความเชื่อมั่น" ของผู้บริโภค ที่คนไทยเคยชินกับการเห็นสินค้า ทดลองก่อนตัดสินใจซื้อ นั่นทำให้บริษัทต้องมุ่งพยายามสร้างระบบให้มีความน่าเชื่อถือในการประมูลให้เข้มข้นขึ้น 

ในฝั่งของลูกค้าที่นำรถมาประมูล ก็ต้องงัดมาตรการควบคุมความปลอดภัย ดูแลรถ 24 ชั่วโมง ที่สำคัญจะพัฒนาระบบให้ลูกค้าเจ้าของรถเฝ้าดูรถยนต์ได้แบบ "Real time" ผ่านมือถือ  

นอกจากประมูลรถแล้ว บริษัทยังขยายไลน์สินค้าเข้าร่วมประมูลมากขึ้น เช่น การประมูลสินค้าแบรนด์เนม แต่ทดลองสักระยะ ก็ต้องถอยเพราะกังวลกับสินค้า "ลอกเลียนแบบ" อาจกระทบสโลแกนของบริษัทที่ว่า "AUCTION OF TRUST" (ซื่อสัตย์ในการประมูล) แต่เพื่อการเติบโตก็ยังมองหาโอกาสประมูลสินค้านาฬิกา เพราะมาร์จิ้น (กำไร) งาม รวมถึงประมูลอสังหาริมทรัพย์

เขาบอกต่อว่า ที่โฟกัสไปที่อสังหาฯ เพราะเห็น "ซัพพลาย" กำลังล้นตลาด โดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยทำเลเกาะแนวรถไฟฟ้า และเมืองท่องเที่ยวทั้งหัวหิน พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต ถึงขนาดเทียบเคียงว่าอีก 2 ปี โครงสร้างอสังหาฯ จะย้อนกลับไปเสียหายเหมือนยุคฟองสบู่แตก 

"เราไม่อยากให้สหการประมูล ผูกพันกับรถยนต์อย่างเดียว แต่ต้องการเป็นผู้ประมูลอะไรก็ได้ทุกเรื่อง แต่บังเอิญว่ารถยนต์เป็นสินค้าหลักในหลายปีที่ผ่านมา หากทำรายได้จากอสังหาฯเสริมพอร์ตได้สัก 20% ก็ถือว่าเก่งมากแล้ว"

ขยายธุรกิจเชิงรุกขนาดนี้ เขาหวังว่าจะทำให้ธุรกิจปีนี้เติบโตในระดับ "ดีมาก" "ก้าวกระโดดมหาศาล" บูรณิศ ทิ้งท้าย