ธปท.หวั่นวิกฤตเงิน'รูเบิล'ฉุดเชื่อมั่น

ธปท.หวั่นวิกฤตเงิน'รูเบิล'ฉุดเชื่อมั่น

"แบงก์ชาติ" ห่วงวิกฤติเงิน "รูเบิล" กระทบความเชื่อมั่นนักลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ทำเงินทุนผันผวน

นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า วิกฤติค่าเงินรูเบิลของรัสเซีย ไม่น่ากระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกมากนัก เพราะเศรษฐกิจรัสเซียมีสัดส่วนเพียง 2% ของเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องจับตาในระยะต่อไป คือ ผลกระทบที่มีต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่ที่อาจทำให้นักลงทุนขาดความมั่นใจได้

“ในแง่ผลกระทบของวิกฤติการเงินรัสเซียจะไม่กระทบกับเศรษฐกิจโลก แต่อาจมีผลโดยตรงกับคู่ค้าสำคัญในยุโรป โดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี ที่มีสัดส่วนการค้าที่สูง แต่ในระยะถัดไปแบงก์ชาติ มองว่าผลกระทบน่าจะเกิดกับความเชื่อมั่นของเงินทุนเคลื่อนย้ายซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

อย่างไรก็ตามระยะสั้นเชื่อว่า ผลกระทบกับเงินทุนเคลื่อนย้ายคงมีไม่มากนัก เพราะโดยปกติแล้วช่วงปลายปีนักลงทุนจะไม่ค่อยปรับเปลี่ยนการลงทุน การทำธุรกรรมมักลดลง แต่ที่ต้องจับตาดู คือ ในช่วงต้นปีหน้า โดยเฉพาะเดือนม.ค. ซึ่งต้องดูว่าตลาดเกิดใหม่จะตอบรับในทิศทางใด

นายจิรเทพ กล่าวว่า สิ่งที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายในปีหน้า นอกจากปัญหาค่าเงินของรัสเซียแล้ว ยังมีเรื่องทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรํฐ(เฟด) และการดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงปริมาณ(คิวอี) ของธนาคารกลางญี่ปุ่น(บีโอเจ)เข้ามาด้วย

“ค่าเงินรูเบิลที่อ่อนลงในปัจจุบัน อาจเป็นรอบแรกของผลกระทบ ทำให้เราต้องจับตาในอนาคตว่าจะมีผลกระทบจากวิกฤติต่อภาคอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติมหรือไม่”นายจิรเทพกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่มีต่อตลาดเกิดใหม่นั้น หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว ประเทศตลาดเกิดใหม่ถือว่ามีพื้นฐานความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน โดยประเทศที่มีความเปราะบาง คือ ตุรกี และอาร์เจนตินา ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ แม้จะมีความเข้มแข็งทางภาคการเงิน แต่มีความเปราะบางในพื้นฐานเศรษฐกิจ ที่ยังมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

ส่วนพื้นฐานของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างในเอเชีย โดยมากแล้วถือว่ามีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง มีหนี้ต่างประเทศน้อย ระดับหนี้สาธารณะต่ำ และมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล

อย่างไรก็ตาม ธปท.ประเมินว่าผลกระทบจากรัสเซียที่ส่งต่อมายังเศรษฐกิจไทยจะไม่มากนัก เพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังรัสเซียเพียง 0.5 % มูลค่าการส่งออกทั้งหมด อาจกระทบบ้างกับภาคการท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวรัสเซียมีสัดส่วนคิดเป็น6.5% ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด โดยธปท.จะติดตามผลกระทบจากรัสเซียที่อาจมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยและธุรกิจที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงอื่นๆ

นายจิรเทพ กล่าวด้วยว่า การค้าขายกับประเทศรัสเซียหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณเตือนเนื่องจากการคำนวณราคาที่เหมาะสมของการค้าขายทำได้ยาก จากค่าเงินที่ผันผวน

ส่วนการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนรัสเซียที่ลงทุนในประเทศไทยนั้น การลงทุนดังกล่าวมีแผนการลงทุนระยะยาว 2-3 ปี ดังนั้นนักลงทุนจะไม่มองปัญหาในระยะสั้น แต่สนใจกำลังซื้อมากกว่า

สำหรับการปรับตัวของทัวร์รัสเซียที่ปรับเปลี่ยนวิธีการของที่พัก จากเดิมที่เข้าพักในโรงแรม ไปเป็นการเช่าพื้นที่คอนโดมิเนียมแบบปิดทั้งชั้น ซึ่งเรื่องนี้เราต้องติดตามการปรับตัวของภาคธุรกิจรัสเซียด้วย

นายจิรเทพ มองว่า การเกิดวิกฤติการเงินครั้งนี้เกิดจากพื้นฐานเศรษฐกิจรัสเซียที่ยังไม่พึ่งพากลไกการตลาดมากนักมีการลงทุนภาครัฐบาลในสัดส่วนที่สูงมากกว่า 60 % รวมถึงการถูกแซงชั่นจากกลุ่มประเทศยุโรป และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงรุนแรง โดยปัจจุบันรัสเซียมีสัดส่วนการส่งออกน้ำมันเป็นสินค้าส่งออก สูงถึง 60 % ของสินค้าทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ นาย ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน รองผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี2558มี 4 ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เพราะอาจมีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้ ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินรัสเซีย การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน การอ่อนค่าของค่าเงินเยน และราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ซึ่งการเติบโตในปีหน้านั้นจะต้องพึ่งพาการลงทุนของภาครัฐบาลเป็นหลัก และการอุปโภคบริโภคในประเทศ