ไทยออโตทูลส์แนะเอสเอ็มอีไทยพัฒนา'คน-เทคโน'

ไทยออโตทูลส์แนะเอสเอ็มอีไทยพัฒนา'คน-เทคโน'

ไทย ออโต ทูลส์แนะเอสเอ็มอีเร่งพัฒนาบุคลากร เทคโนโลยี รับมือการแข่งขัน หลังผู้ผลิตชิ้นส่วนญี่ปุ่นแห่ลงทุน

นายพยุง ศักดาสาวิตร ประธานกลุ่มบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด ผู้ผลิตแม่พิมพ์และชิ้นส่วนยานยนต์ เปิดเผยว่า แม้ว่าช่วงนี้จะเกิดการลงทุนของกลุ่มยานยนต์ญี่ปุ่นในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเฉพาะอินโดนีเซีย ที่เป็นคู่แข่งรายใหญ่ หรือมาเซียที่พยายามดึงญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนมากขึ้น แต่ยังมั่นใจว่าไทยจะยังคงเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของอาเซียนอย่างเหนียวแน่น ส่วนการผลิตในอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นการป้อนตลาดในประเทศมากกว่า ขณะที่การลงทุนในไทยเป็นการลงทุนทั้งป้อนตลาดในประเทศและส่งออก

และที่ผ่านมาเห็นได้ว่ากลุ่มชิ้นส่วนของญี่ปุ่น โดยเฉพาะเอสเอ็มอี มีแผนเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดีในการส่งเสริมภาคลงทุนและอุตสาหกรรม แต่ขณะเดียวกันก็มีผลเสียเกิดขึ้น คือ ผลกระทบต่อผู้ผลิตชาวไทย โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอีที่เสียเปรียบในด้านเงินทุน จึงเห็นว่าผู้ประกอบการไทย ควรจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพด้านบุคลากร และเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย

"ผู้ประกอบการจะต้องมีวินัยในองค์กร และความแข็งแรงด้านการเงิน เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดให้ได้"

สำหรับความเคลื่อนไหวของชิ้นส่วนญี่ปุ่น นายนาโอกิ อิโนอุเอะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แฟ็กทอรี เน็ตเวิร์ก เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอฟเอ็นเอ ระบุว่าเอสเอ็มอีญี่ปุ่นสนใจเข้ามาลงทุนในเอเชีย โดยมีไทยเป็นเป้าหมายแรก ตามด้วย อินโดนีเซีย และอินเดีย เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อการส่งออก

การขยายการลงทุนของญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายส่งเสริมของภาครัฐที่ต้องการให้เอสเอ็มอีออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น และเห็นว่าไทยเป็นเป้าหมายสำคัญ เนื่องจากมีการผลิตจำนวนมาก มีนโยบายส่งเสริมโดยตลอด และกำลังจะมีการผลิตรถในโครงการอีโค คาร์ เฟส 2 อีกด้วย

ทั้งนี้แม้ช่วงที่ผ่านมาไทยจะมีปัญหาเกิดขึ้นหลายอย่าง ทั้งสถานการณ์ภายในประเทศ และภัยธรรมชาติ แต่เอสเอ็มอีญี่ปุ่น ก็เห็นว่าความเสี่ยงนั้นเกิดขึ้นได้ทุกประเทศ แต่การลงทุนไม่ควรมองระยะสั้น แต่ต้องมองระยะยาว และมองถึงภาพรวมของอุตสาหกรรม

นายพยุง กล่าวว่า สำหรับโครงการรถยนต์อีโคคาร์ เฟส 2 เชื่อว่าจะมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์อย่างมาก โดยเฉพาะการกระตุ้นในอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่ชะลอตัวในช่วงนี้ เนื่องจากยอดขาย และภาคการผลิตลดลง

"ไทยจะต้องพัฒนารถยนต์อีโคคาร์ให้เป็นโปรดักท์แชมป์เปี้ยนให้เหมือนกับที่เคยทำกับรถปิกอัพมาก่อนหน้านี้ เพื่อเพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านการส่งออกรถยนต์รายใหญ่ที่ปัจจุบันอยู่อันดับ 3 ของโลก"

อย่างไรก็ตามในมุมมองของภาคชิ้นส่วน เห็นว่านโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมของภาครัฐเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้มีการเติบโตแบบเป็นธรรมชาติ ไม่เช่นนั้นจะเหมือนกับครั้งที่ผ่านมาซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนปรับตัวไม่ทัน

นายพยุง กล่าวว่า สำหรับภาพรวมตลาดชิ้นส่วนยานยนต์ช่วงที่ผ่านมา ชะลอตัวตามอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ได้รับผลกระทบจากการบริโภคในประเทศหรือกำลังซื้อที่ลดลง ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ตกต่ำ โดยเฉพาะราคาข้าวที่อยู่ในระดับเกวียนละ 7,000-8,000 บาท ราคายางพารากิโลกรัมละ 40 บาท ทำให้เกษตรกรมีรายได้ลดลง และไม่นำเงินออกมาซื้อรถยนต์โดยเฉพาะรถปิกอัพ อย่างไรก็ตามชิ้นส่วนยังชะลอตัวน้อยกว่าตลาดรถยนต์คือประมาณ 20-25% เนื่องจากยังมีตลาดส่งออกชดเชย

"ตลาดรถยนต์ไทยปีนี้คาดว่าหดตัวลง 40% หรือกว่า 8 แสนคัน ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 1.2 ล้านคัน แต่ภาคการส่งออกยังคงเป็นไปตามเป้าหมาย 1.2 ล้านคัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมชิ้นส่วน อย่างไรก็ตามคาดว่าตลาดรถยนต์ปลายปีนี้จะดีขึ้น จากการมีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ออกสู่ตลาด"

ในส่วนรายได้บริษัทคาดว่าปีนี้จะทำได้ 1,600-1,700 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามในปีหน้าเชื่อว่าจะเพิ่มบขึ้น 2,000 ล้านบาท หลังจากได้รับคำสั่งผลิตชิ้นส่วนให้กับรถยนต์รุ่นใหม่ที่จะเปิดตัวในช่วงปลายปีและปีหน้า