"ปัญญาภิวัฒน์"สร้างคนค้าปลีก ตอบโจทย์ธุรกิจและสังคม

"ปัญญาภิวัฒน์"สร้างคนค้าปลีก ตอบโจทย์ธุรกิจและสังคม

“ปัญญาภิวัฒน์”คือผลผลิตจากแนวคิดที่ต้องการปลดล็อกปัญหาการศึกษาของไทยพร้อมตอบโจทย์ธุรกิจของเซเว่น อีเลฟเว่น

ในสมรภูมิค้าปลีก บริษัท ซี.พี.ออลล์ จำกัด (มหาชน) เรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จอย่างสูง ในการปลุกปั้นธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” จนสามารถปักธงเปิดสาขา ได้ทั่วทุกมุมเมืองของประเทศในเวลาอันรวดเร็ว ตามกลยุทธ์การล้อมวงแบบศาสตร์ของโกะ ที่ “ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซี.พี.ออลล์ โปรดปรานเล่นเป็นงานอดิเรก

หลังเปิดดำเนินการในปี 2531 พวกเขาเริ่มจากแค่ไม่กี่สิบสาขา ก่อนขยายมาเป็น 1,000 สาขา ในปี 2541 เรียกว่า เป็นการเติบโตถึง 10 เท่าตัว ในช่วง 10 ปีแรก กระทั่งปัจจุบันขยายไปแล้วถึงเกือบ 8 พันสาขา เป็นการขยายตัวเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 500 สาขาต่อปี กำไรเฉลี่ยปีละมากกว่า 20%

ทว่าผลจากเห็นโอกาสก่อนของ เซเว่นฯ และตะลุยขยายสาขาชนิด "ไม่หยุดยั้ง" ทำให้อดไม่ได้ที่จะถูกมองเป็น “ผู้ร้าย” ผู้เล่นรายใหม่ ที่เข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด จนทำให้ร้านค้าดั้งเดิม (Traditional Trade) หรือโชห่วย อยู่ไม่รอด และต้องปิดตัวลงไปก็หลายราย

ยิ่งในวันที่ วงการค้าปลีก เริ่มขยับเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคจากชุมชนไปสู่สังคมเมืองมากขึ้น ดูได้จากหลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง นับจากช่วงปี 2542 เป็นต้นมา เราได้เห็นโมเดิร์นเทรดเริ่มเข้ามามีอิทธิพลตอบสนองความต้องการผู้บริโภค เข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยการนำเทคโนโลยีการบริหารจัดการค้าปลีกสมัยใหม่เข้ามาใช้ ซึ่งแตกต่างไปจากวิถีโชห่วยแบบดั้งเดิม ที่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัว ไม่มีแนวคิดและเครื่องมือทันสมัย ทำให้อาจปรับตัวไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด เลยยากที่จะเดินหน้าต่อ ในโลกธุรกิจ ณ วันนี้

ความเก่งในเชิงรุก และบุกตลาดอย่างรวดเร็ว ด้วยความพร้อมทั้งทุน และวิทยาการจัดการสมัยใหม่ อย่างความรู้ในการจัดเรียงสินค้า การบริหารจัดการหน้าร้าน บริหารสต็อกสินค้า เหล่านี้ ล้วนเป็นบริบทในเชิงกลยุทธ์ที่สร้างเสริมให้ เซเว่น อีเลฟเว่น ได้เปรียบคู่แข่งในสนาม

ทว่า..ความเก่งอย่างเดียวไม่พอจะสร้างฐานธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้

เช่นเดียวกับ ตำราโกะ ที่ก่อศักดิ์ ซีอีโอซี.พี.ออลล์ เข้าใจ “หากเราต้องการชนะ เราก็จะเป็นผู้แพ้”

ฉะนั้นบนสมรภูมิค้าปลีกไทย จึงไม่ควรจะมีผู้แพ้-ผู้ชนะ แต่ควรมีเครือข่ายค้าปลีกที่แข็งแกร่งทั้งซัพพลายเชน ผนึกกำลังกันแบบ “สมประโยชน์”

นั่นเองเป็นที่มาของการ “คายความลับ” วิทยาการการจัดการองค์ความรู้ค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ของเซเว่น อีเลฟเว่น ที่ไม่เพียงเพื่อการพัฒนาธุรกิจ ทว่ายังถ่ายทอดไปถึง “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” ตั้งแต่ การพัฒนาคน พนักงาน ตลอดจนเครือข่ายธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

บนพื้นฐานของแนวคิดของการเป็นผู้รับผิดชอบต่อสังคม(Corporate Social Responsibility : CSR) พวกเขาเลือกใช้การร่วมมือแบบทวิภาคี กับอาชีวศึกษา เริ่มจากให้เด็กมาฝึกงานใน เซเว่น อีเลฟเว่น จนนำไปสู่การเทคโอเวอร์โรงเรียน กรุงเทพเทคนิคนนท์ ในปี 2547 แล้วใช้ชื่อว่า “โรงเรียนปัญญาภิวัฒน์ เทคโนธุรกิจ” ก่อนเปลี่ยนมาเป็น “วิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์” ในปัจจุบัน มีการเรียนการสอนที่เน้น วิชาการ 50% และฝึกงานอีก 50% ทั้งยังให้ทุนเด็กนักเรียนมากกว่าครึ่ง

ซึ่งรูปแบบดังกล่าว นับเป็นมิติใหม่ของวงการการศึกษา ในยุคที่มีค่านิยมของการเรียนสายสามัญมากกว่าอาชีวะ ซึ่งการพัฒนาการเรียนการสอนให้เด็กนักเรียนอาชีวะได้เข้าใจระบบการทำงาน ที่ “ตอบโจทย์ภาคธุรกิจ” อย่างแท้จริงนั้น นับเป็นรูปแบบการให้ ที่ “วิน-วิน” เพราะไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาการศึกษาที่ตอบโจทย์ธุรกิจมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเด็กที่ขาดโอกาสให้มีการศึกษา ทั้งมีรายได้ระหว่างเรียนด้วย

แนวทางนี้เองที่ทำให้ “เด็กอาชีวะ” มีทางเลือกในตลาดแรงงานมากกว่าเด็กสายสามัญ

ในปี 2550 พวกเขา เริ่มขยายการศึกษา ไปสู่ระดับอุดมศึกษา โดยมีการสอนทั้งระดับปริญญาตรีและโท ภายใต้ชื่อ “สถาบันปัญญาภิวัฒน์” (PIM) ก่อนขยายเป็นปริญญาเอกในไม่กี่ปีถัดมา

ซึ่งตลอดทศวรรษของการพัฒนาธุรกิจ ควบคู่การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ซี.พี.ออลล์ สามารถพัฒนาคนป้อนธุรกิจในเครือ จนกลายเป็น “มหาวิทยาลัยที่ตอบโจทย์องค์กรธุรกิจ” (Corporate University) แห่งแรกของไทย กระทั่งสามารถยกระดับการพัฒนาคนเพื่อป้อนสู่ธุรกิจอื่นด้วย

การสร้างคนจึงตอบโจทย์ทั้ง ธุรกิจ สังคม และประเทศชาติไปพร้อมกัน

ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่วันนี้มาเป็นอธิการบดีประจำสถาบันปัญญาภิวัฒน์ บอกเราว่า โลกในยุคปัจจุบันมีพลวัฒน์ของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการ “พัฒนาคน” จึงเป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จทางธุรกิจ และการสร้างคนให้มีความรู้ความสามารถเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของโลกได้นั้น ต้องมีการเรียนการสอนที่เน้นวิชาการควบคู่ไปกับการปฏิบัติ เพื่อสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน จึงจะตอบโจทย์โลกธุรกิจได้อย่างแท้จริง

“การศึกษาสำคัญมากต่ออนาคตของประเทศไทย ซึ่งเราจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงศึกษาเท่านั้นคงไม่ได้ แต่ภาคธุรกิจสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ เพราะประเทศไทยต้องเร่งสร้างคนที่มีคุณสมบัติครบ มีความสามารถรอบด้าน เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง เพื่อก้าวให้ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ผันแปรอย่างรวดเร็ว ทั้งจากมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่าง จีน ญี่ปุ่น อเมริกา และที่ใกล้ตัวมากที่สุดในภูมิภาคคือ รวมกลุ่มของเออีซี” เขาบอก

นั่นคือเหตุผลที่พวกเขามุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาองค์ความรู้ผู้เรียน สร้างคนที่เป็นเลิศในด้านการบริหารจัดการองค์ความรู้ให้สอดรับกับสถานการณ์ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น วิชาการ ภาษา และประสบการณ์ทางธุรกิจ พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของโลก

ด้าน “สุวิทย์ กิ่งแก้ว” รองกรรมการผู้จัดการ ซี.พี.ออลล์ ระบุถึงการลงทุนด้านการศึกษาของปัญญาภิวัฒน์ ที่มีการลงทุนไปนับพันล้านบาท กับโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เรียน โดยมีนักเรียนจบจากเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์ทั้งสิ้น 28,800 คน กำลังศึกษาอยู่ระดับปวช. 9,300 คน มีการสนับสนุนทุนปีละ 600-700 ล้านบาท ส่วนระดับสถาบัน PIM ที่เปิดมาแล้ว 7 ปี มีการผลิตนักศึกษาในระบบ 10,000 คน ให้ทุนไปแล้ว 7,100 ทุน รวมมูลค่าทุนปีละ 700 ล้านบาท โดยเด็กที่จบออกไปมีงานทำทุกคน ทั้งทำงานกับบริษัทในเครือ ตลอดจนไปอยู่กับบริษัทอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่อนาคตของพวกเขาก็ไม่ได้มืดมนอีกต่อไปแล้ว

พวกเขาบอกว่า ได้ขยายความร่วมมือจากภาคการศึกษาลงไปสู่ภาคชุมชนด้วย โดยตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ได้ร่วมมือกับเครือข่ายภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น หอการค้าไทย ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านค้าปลีกสมัยใหม่อย่างครบวงจร เพื่อช่วยกันพลิกโฉมโชห่วย หรือคนทั่วไปที่ต้องการเป็นเจ้าของกิจการค้าปลีก ให้เข้าสู่ธุรกิจด้วยความพร้อม ตามโมเดลกลยุทธ์ เซเว่น อีเลฟเว่น โดยเติมเต็มความรู้ทั้งด้าน บัญชี การขาย ธุรกิจค้าปลีก คอมพิวเตอร์เพื่องานอาชีพ ศิลปะการขายการจัดแสดงสินค้า การบริหารงานคุณภาพและเพิ่มผลผลิต เหล่านี้ ในมาตรฐานเดียวกันกับวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์

เพื่อไม่ใช่แค่ทำหน้าที่สร้างคนป้อนธุรกิจ หรือการมุ่งแสวงผลกำไรสู่ธุรกิจด้านเดียวเท่านั้น ทว่าเวลาเดียวกันยังต้องมีส่วนร่วมบ่มเพาะเครือข่ายห่วงโซ่ธุรกิจค้าปลีกของไทย ให้แข็งแกร่ง พร้อมสู้ศึกรอบด้าน ในวันที่ตลาดเปลี่ยน คู่แข่งดาหน้ามาจากทั่วสารทิศ รุมยื้อแย่งแย่งชิ้นเค้กก้อนใหญ่ ที่คาดกันว่า จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 7-8% ใน 5 ปี ข้างหน้า และมีมูลค่าตลาดรวมถึง 1.6 ล้านล้านบาท

ทว่าถ้าผู้เล่นของเรายังคงแข็งแกร่ง จากความช่วยเหลือของคนตัวใหญ่ ก็ไม่มีอะไรน่ากลัวอีกต่อไปในวันหน้า