เพนตากอนหวังพึ่ง'ฮอลลีวูด'พัฒนาทหารแห่งอนาคต

เพนตากอนหวังพึ่ง'ฮอลลีวูด'พัฒนาทหารแห่งอนาคต

เบื้องลึก "เพนตากอน"หวังพึ่ง'ฮอลลีวูด' พัฒนาทหารแห่งอนาคต

เหล่าดีไซเนอร์ที่ได้รับการเสนอชื่อชิงรางวัลออสการ์ ของบริษัท "เลกาซี เอฟเฟคส์" เป็นผู้ที่ออกแบบชุดในภาพยนตร์หลายๆ เรื่องที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชม รวมถึง เทอร์มิเนเตอร์ โรโบคอป กัปตันอเมริกา และไอรอน แมน

ผลงานดังกล่าว ทำให้ในปัจจุบันบริษัทที่มีความชำนาญในด้านเทคนิคพิเศษ หรือสเปเชียล เอฟเฟคท์ ได้รับเลือกให้เข้ามาร่วมในการทำงาน ที่ดูเหมือนจะเป็น "มิชชั่น อิมพอสซิเบิล" ซึ่งก็คือ การพัฒนาชุดแบบเดียวกับในภาพยนตร์เรื่องไอรอน แมน เพื่อปกป้อง และเสริมความสามารถให้กับหน่วยปฏิบัติการพิเศษของกองทัพสหรัฐ เป็นชุดที่จะห่อหุ้มร่างกายไว้ด้วยอาวุธ และมีความคล่องตัวสูง ที่จะช่วยให้ทหารสามารถแบกรับน้ำหนักได้หลายร้อยกิโลกรัม

ภาพ 3 มิติ ที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นต้นแบบการผลิตชุดเกราะสีแดง และทองให้กับ "โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์" นักแสดงชื่อดังของฮอลีวูด กำลังถูกประกอบให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับชุดหุ้มเกราะให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐ หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อเพนตากอน

เมื่อเร็วๆ นี้ เจ้าหน้าที่ทหารได้เข้ามาตรวจสอบแบบร่างชุด 3 แบบด้วยกัน ซึ่งถือเป็นขั้นตอนต้นๆ ในโครงการที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์บัญชาการปฏิบัติการพิเศษสหรัฐ ที่มีเป้าหมายเพื่อการสร้างชุดเกราะรุ่นใหม่ ภายในเวลา 4 ปี

คณะทำงานที่เข้าร่วมการพัฒนาตามคำร้องขอ ยังรวมถึง นักวิศวกรรมชีวภาพ ทหารผ่านศึก ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และนักวิจัยแคนาดา ที่กำลังวิจัยความลับต่างๆ ของเปลือกแมลง นอกเหนือไปจากกลุ่มผู้สร้างสิ่งของประกอบฉากในภาพยนตร์ บริษัทเทคโนโลยีขนาดเล็ก และเหล่ายักษ์ใหญ่จากอุตสาหกรรมกลาโหมสหรัฐ อย่าง เรย์ธีออน โค ล็อกฮีด มาร์ติน คอร์ป และเจนเนอรัล ไดนามิคส์

ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า หากประสบความสำเร็จ ชุดเกราะนี้จะช่วยพลิกโฉมการทำสงครามของสหรัฐไปอย่างสิ้นเชิง โดยนับเป็นเวลานานหลายปีมาแล้ว ที่กองทัพอเมริกันทุ่มเททำงานวิจัยอย่างหนัก เพื่อลดภาระน้ำหนักที่นายทหารแต่ละคนต้องแบกติดตัวไปด้วย ระหว่างที่อยู่ในเขตที่มีการสู้รบทั้งในอิรัก และอัฟกานิสถาน ซึ่งในบางภารกิจนั้น ทหารต้องแบกน้ำหนักติดตัวไปเกือบ 60 กิโลกรัม รวมถึง อาวุธ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และชุดเกราะ

เหล่านักพัฒนาบอกว่าชุดมนุษย์เหล็กนี้ อาจมีน้ำหนักมากถึง 181 กิโลกรัม ทำให้ชุดเกราะต้องมีระบบช่วยทดกำลัง เพื่อให้ทหารผู้สวมใส่ชุดนี้เคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว และว่องไว ซึ่งปัญหาในขณะนี้อยู่ตรงที่ว่า ชุดเกราะที่มีอยู่ยังทำเช่นนั้นไม่ได้

"แน่นอนว่า ฮอลลีวูดสามารถทำชุดไอรอนแมน ให้บาง เบา เคลื่อนไหวได้เร็ว และประหยัดพลังงานได้ในแบบที่เป็นไปไม่ได้ในความจริง ดังนั้นเราจึงต้องพยายามแก้ไขปัญหา และตั้งคำถามขึ้นมา ชุดของไอรอนแมน จะเป็นอย่างไร ถ้าหากมีอยู่จริง" นายรัส แอนโกลด์ ผู้ร่วมก่อตั้ง เอ็กโซ ไบโอนิคส์ บริษัทที่ริเริ่มในการออกแบบชุดตามโครงสร้างกระดูก เพื่อใช้ในการแพทย์ กล่าว

ปัญหาดังกล่าว ไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไรสำหรับเพนตากอน ในการพัฒนาชุดทำสงครามสำหรับอนาคต โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐทุ่มเงินไปแล้วหลายร้อยล้านดอลลาร์ ในการสร้างชุดต้นแบบ ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จตามแผนการที่วางไว้

จนถึงขณะนี้ ศูนย์บัญชาการปฏิบัติการพิเศษ ใช้จ่ายเงินไปกับโครงการดังกล่าวแล้วราว 10 ล้านดอลลาร์ และการที่ศูนย์นี้ ไม่ได้เป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหมอย่างเป็นทางการ จึงไม่มีการกำหนดงบประมาณที่ตายตัวไว้ให้ สถานการณ์ที่สร้างความวิตกให้กับสมาชิกสภานิติบัญญัติจำนวนหนึ่ง จนทำให้เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการทหารของรัฐสภา ก็เพิ่งขอให้มีการบรรยายสรุป เพื่อสร้างความมั่นใจว่า จะไม่ได้สูญเงินงบประมาณไปกับโครงการนี้อย่างเปล่าประโยชน์

นายแอนโกลด์ และทีมงาน มุ่งมั่นกับโครงการพัฒนานี้ อยู่ที่โรงงานของฟอร์ด มอเตอร์ โค สถานที่เดียวกันกับที่ใช้ผลิตรถถังในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยสำนักงานของทีมงานในยุคนี้ ให้ความรู้สึกเหมือนกับเป็นบริษัทเทคโนโลยี มีเพดานสูง พื้นที่ทำงานเปิดโล่ง และมีโต๊ะพูลให้เล่นคลายเครียด ขณะหุ่นยนต์ที่ออกแบบขึ้นมา ภายใต้ความร่วมมือกับล็อคฮีดมาร์ตินแขวนอยู่ ใกล้กับกล่องกระดาษเก็บชิ้นส่วนต่างๆ ที่ออกแบบมาสำหรับการผลิตชุดไอรอน แมน ก่อนหน้านี้

นักวิจัยเพนตากอน ประเมินว่า พวกเขาต้องใช้แบตเตอรี่น้ำหนักราว 165 กิโลกรัม สำหรับชุดเกราะในความคิดของนักพัฒนา โดยในขณะนี้ กำลังมองหาเครื่องยนต์ที่มีขนาดเล็กลง ที่ออกมาสำหรับใช้กับอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน มาใช้แทนแบตเตอรี่ดังกล่าว

ปัญหาเรื่องแหล่งพลังงานดังกล่าว ทำให้กองทัพสหรัฐตัดสินใจดึงนักวิจัยแคนาดาเข้ามาช่วยในการพัฒนาชุดเกราะที่ไม่ต้องใช้พลังงานให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ซึ่งช่องทางที่ทีมแคนาดากำลังพิจารณาอยู่ รวมถึง การศึกษานักมวยปล้ำซูโม่ เพื่อดูว่า คนที่หนักมากกว่า 200 กิโลกรัมอย่างนักซูโม่บางราย สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วได้อย่างไร

นายอลัน บูโชลด์ ผู้ก่อตั้งมาววาชิ โพรเทคทีฟ โคลธทิง อิงค์ บริษัทพัฒนาชุดเสื้อเกราะ ผ่านทางการศึกษาสัตว์ที่มีเปลือก หรือกระดองแข็ง อย่าง แมลง กุ้งมังกร และตัวนิ่ม บอกว่า เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายใหม่ของบริษัท ขณะที่เจ้าหน้าที่ในศูนย์บัญชาการปฏิบัติการพิเศษของสหรัฐ บอกว่า หากนักพัฒนาประสบความสำเร็จในการสร้างชุดเกราะข้างต้น อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการทำธุรกิจขึ้นมา และอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยทีเดียว

สำหรับชุดเกราะใหม่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนานี้ นักวิจัยตั้งเป้า ที่จะติดตั้งที่บังแสง เซนเซอร์ และอินเทอร์เฟซรูปแบบเดียวกับกูเกิล กลาส ไว้ภายในตัวหมวกนิรภัยเลย เพื่อช่วยให้ทหารตรวจจับภัยคุกคามได้ดีขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะติดตั้งมอเตอร์ทดกำลังไว้ เพื่อช่วยรับภาระน้ำหนักของชุด และส่วนประกอบที่เป็นอุปกรณ์ไฮเทค ที่ทำให้ชุดเกราะมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาร่วมร้อยกิโลกรัม

นอกจากนี้ ยังอาจจะมีการติดตั้งระบบทำความเย็นไว้ในตัวชุด เพื่อช่วยปรับอุณหภูมิภายในร่างกายให้กับผู้สวมใส่ เนื่องจากชุดเกราะแห่งอนาคตนี้ จะเป็นชุดเกราะแบบเต็มตัว เพื่อช่วยปกป้องให้ได้ทั้งร่างกาย ต่างจากแบบปัจจุบัน ที่เน้นการปกป้องเฉพาะอวัยวะสำคัญเท่านั้น