กำไร 10 เด้ง พลิกพอร์ตใหญ่"วิบูลย์ พึงประเสริฐ" (ตอน1)

กำไร 10 เด้ง พลิกพอร์ตใหญ่"วิบูลย์ พึงประเสริฐ" (ตอน1)

“วิบูลย์ พึงประเสริฐ” มุ่งสู่ตลาดหุ้น ตามคำเชิญเพื่อนมาร์เก็ตติ้ง ก้าวแรก ชีวิตลงทุนดัน “ติดลบ” ขาดทุนหุ้น BBL 70% วันนี้พอร์ต"หลักสิบล้าน"

“มาเล่นหุ้นกันเถอะกำไรเยอะดี”

เพื่อนมาร์เก็ตติ้งนายหนึ่งร่ายมนต์สะกด หวังเชื้อเชิญเงินในกระเป๋าของ “บูลย์-วิบูลย์ พึงประเสริฐ” ให้มาโลดแล่นในตลาดหุ้น แทนการนอนกินดอกเบี้ยแบงก์เฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์

“ชายกลางคนวัย 44 ปี” ในฐานะนักเขียนประจำคอลัมน์ Value Way ของหนังสือพิมพ์ “กรุงเทพธุรกิจ BIZ Week” และเจ้าของหนังสือ “คัมภีร์ VI ลงทุนหุ้นแบบเน้นคุณค่า (เขียนร่วมกับ “มนตรี นิพิฐวิทยา) เปิดเส้นทางการลงทุนในตลาดหุ้นให้ “บีสวีค” ฟังครั้งแรกว่า “ผมลงทุนในตลาดหุ้นมาแล้ว 16 ปี แต่เพิ่งปันใจมาเป็นนักลงทุนแนวเน้นคุณค่า หรือ Value Investor เมื่อ 12 ปีก่อน

พื้นเพเป็นคนจังหวัดขอนแก่น มีพี่น้อง 8 คน ผู้ชาย 7 คน มีผู้หญิงคนเดียวคือ คนที่ 6 “ผมเป็นลูกคนเล็ก ห่างจากพี่คนโต 19 ปี เขาเหมือนพ่อผมเลย” (หัวเราะ) ก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ คุณพ่อท่านทำธุรกิจเยอะแยะมากมาย เช่น ฟาร์มเลี้ยงหมู โรงงานสีข้าว โรงงานผลิตมันสำปะหลัง และโรงผลิตปอกระสอบ เป็นต้น แต่หลังเมืองไทยโดนพิษเศรษฐกิจ ท่านตัดสินใจขายกิจโรงงานสีข้าว ซึ่งเป็นธุรกิจสุดท้ายให้คนอื่นไป ตอนนั้นลูกๆโตหมดแล้วตัวผมเองอายุ 20 กว่าปีละหาเลี้ยงคุณพ่อได้แล้ว (ยิ้ม)

ตำแหน่งวิศวกรรมประจำโรงงานของ “โตโยต้า” ถือเป็น “งานกินเงินเดือนแห่งแรก” หลังเรียนจบคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (วศ.71) ในปี 2530 ถ้าจำไม่ผิดเราเรียนรุ่นเดียวกับ “ปรเมศวร์ มินศิริ” ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์สนุก เขาทำท่าคิด ก่อนเล่าว่า “ผมจบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา รุ่นเดียวกับ "หมอมุข-น.พ.ประมุข วงศ์
ธนะเกียรติ” อุปนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ด้วยนะ”

ทำงานในค่ายรถยนต์โตโยต้าได้เพียง 1 ปี ตัดสินใจออกไปเรียนต่อ MBA ประเทศสหรัฐอเมริกา 3 ปี โดยมีพี่สาวคนเดียวของครอบครัวคอยส่งเสียค่าเทอมให้ ส่วนเงินค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เราหาเองด้วยการทำงานตามร้านอาหารไทยสัปดาห์ละ 3 วัน ได้ค่าจ้างประมาณ 1,000 เหรียญ ตอนนั้นค่าเงินบาทอยู่ที่ 25 บาท หลายสิบปีก่อนของกินของใช้ค่อนข้างถูก แต่พวกค่าเซอร์วิสที่ต้องใช้แรงงานคนจะมีราคาแพง

เรียนจบปริญญาโทปุ๊บกลับเมืองไทยปั๊บ (ยิ้ม) ตอนนั้นน่าจะอายุราวๆ 26 ปี ตั้งแต่ก้าวขาไปเรียนในสหรัฐอเมริกา เรานับถอยหลังวันกลับเมืองไทยแทบทุกวัน “ผมไม่อยากอยู่ ไม่ชอบบรรยากาศ ที่สำคัญไม่มีตังค์” อยากเรียนจบเร็วๆ เพื่อมาหาเงินในเมืองไทย จำได้กลับมาเมืองไทยในปี 2538 ช่วงนั้นเศรษฐกิจเมืองไทยบูมมาก ไปสมัครงานที่ไหนได้หมด

งานแรกได้วุฒิปริญญาโท คือ ผู้จัดการโรงงานฟิลม์ พอดีคนรู้จักเขากำลังจะเปิดโรงฟิลม์ แถวปากช่อง เลยมาชวนเราไปทำ สุดท้ายทำได้ 2 ปี “ผมไม่ค่อยชอบบรรยากาศจุกจิกกวนใจ นิสัยพูดปั่นหูเจ้านาย เริ่มรู้สึกรำคาญ” จึงตัดสินใจลาออกทั้งๆที่ยังหางานใหม่ไม่ได้เลย บังเอิญตอนหนุ่มๆไฟแรง ไม่สนใจอะไรทั้งสิ้น (หัวเราะ)

สุดท้ายย้ายไปนั่งเก้าอี้ผู้ประสานงานโครงการ บริษัท เชลล์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าไปช่วงปี 2540 เชื่อมั้ยทำงานได้ 4 เดือน รัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาท บริษัทประกาศปลดพนักงานทุกปี เราโชคดีที่ไม่โดนจิ้มออกเขาคงเห็นว่า เราทำงานมั้งทำให้รอดตายทุกปี “ผมทำงานที่เชลล์มา 11 ปี ตำแหน่งสุดท้าย คือ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ตลอดระยะเวลาที่ทำงานที่นี่ ผมเปลี่ยนหน้าที่ทุกปี ทำงานที่นี่คุ้มค่ามาก”

ช่วงที่ทำงานใน “เชลล์ (ประเทศไทย)” เขาถือเป็นบริษัทขายน้ำมันอันดับ 2 รองจาก “ปตท.” แต่หลังวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 บริษัทตกไปอยู่อันดับ 3-4 เขาตัดงบการลงทุนไม่สร้างและปรับปรุงสถานีน้ำมัน แถมตัดงบโฆษณาอีกต่างหาก ขณะที่ปตท.ทุ่มการลงทุนทุกอย่าง เมื่อธุรกิจตกอยู่ในภาวะ “Downsize” หรือ องค์กรถูกลดขนาดให้เล็กลง ความไม่สนุกเริ่มเกิดขึ้น และถูกอารมณ์อยากทำงานในบริษัทที่มีการเติบโตต่อเนื่องเข้ามาแทนที่

แรกๆที่เข้ามาทำงานใน “เชลล์ (ประเทศไทย)” เขามีพนักงาน 1,100 คน และมีสถานน้ำมัน 1,200 แห่ง ตอนเราลาออกเหลือพนักงาน 600 คน และสถานีน้ำมัน 600 แห่ง ในแผนกที่เราทำงานอยู่มีคนทำงาน 5 คน สุดท้ายเหลือเราทำงานทุกอย่างเพียงคนเดียว ปัจจุบันน่าจะมีพนักงาน 300 คน และสถานีน้ำมัน 600 แห่ง

หลังลาออกไม่กี่เดือน ราวๆปี 2552 ได้ย้ายมาทำงานฝ่ายการลงทุนต่างประเทศใน “ปตท.เคมิคอล อินเตอร์เนชั่นแนล” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ “ปตท.เคมิคอล” (PTTCH) หลัง “ไก่-ธันวา เลาหศิริวงศ์” อดีตนายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) รุ่นที่ 1 และอดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ “ไอบีเอ็ม ประเทศไทย” แนะนำเราให้กับ “อดิเทพ พิศาลบุตร์” อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTTCH รู้จักเมื่อหลายปีก่อน

ปัจจุบันได้โยกมาทำงานใน “Nature Works Asia Pacific Ltd.” ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง PTTCG ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น "บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล" (PTTGC) และพันธมิตรจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เพิ่งจับมือกันเมื่อปี 2555 เขามีแผนจะสร้างโรงงานไบโอพลาสติกที่ทำมาจากพืชในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ล่าสุดอยู่ระหว่างการขอการสนับสนุนเรื่องต่างๆจากภาครัฐบาล

ตั้งใจจะทำงานที่นี่ไปเรื่อยๆ บริษัทร่วมทุนเพิ่งตั้งมีพนักงงานแค่ 3 คนเอง อารมณ์สนุกยังมีอยู่เต็มเปี่ยม มีคนถามเราเยอะมากว่า ยึดอาชีพนักลงทุนแนว Value Investor แล้ว ทำไมยังต้องทำงานประจำ จริงๆ การลงทุนแนว VI ไม่จำเป็นต้องนั่งเฝ้าตลาดหุ้น เราซื้อหุ้นมา 1 ตัว ตั้งใจถือยาว 2-3 ปี ฉะนั้นแทบไม่จำเป็นต้องเปิดกระดานหุ้นต่อให้ตลาดหลักทัรพย์ปิดดำเนินการ 3 ปี “ผมยังไม่เดือนร้อน”

ช่วงที่หยุดพักหลังลาออกจาก “เชลล์ (ประเทศไทย)” “ผมนอนอยู่บ้านออกแนวว่างมากไม่มีอะไรทำ เช้ามาเปิดคอมพิวเตอร์นั่งเฝ้าตลาดหุ้น ทำให้ค้นพบว่า ทำแบบนี้มันไม่เวิร์ค สู้ใช้เวลาในแต่ละวันไปทำงานประจำหาเงินดีกว่า ถือเป็นการสร้างคุณค่าให้กับตัวเอง

ได้บทเรียนอะไรบ้างจากการเปลี่ยนงานประจำบ่อยๆ เขาตอบคำถามนี้ว่า ได้เรียนรู้ระบบงานของแต่ละประเทศ อย่าง “เอสเอ็มอีขนาดเล็ก” ทุกอย่างมักขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเถ้าแก่เพียงคนเดียว “ใครลิ้นยาวได้เปรียบ” ทำนองนั้น (หัวเราะ)

ส่วนบริษัทฝรั่ง เขามีระบบจัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ส่วนตัวชอบระบบลักษณะนี้มาก เพราะทุกอย่างจะเป็นไปอย่างมีขั้นตอน ซึ่งแตกต่างจากระบบการทำงานของบริษัทญี่ปุ่น ใครอยากได้ตำแหน่งสูงๆ คุณต้องทำงานอย่างเดียว “ยิ่งอยู่นานยิ่งได้ตำแหน่งสูง”

คนไฟแรงมักทำงานในบริษัทญี่ปุ่นไม่ค่อยได้ เพราะการที่คุณคิดจะทำงานอะไรสักอย่างต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ใหญ่ทุกคน แม้กระทั่งเรื่องเล็กๆน้อย คุณยังต้องขอความเห็นชอบจากเขา ส่งผลให้ระบบการตัดสินใจล่าช้ามาก พักหลังๆเราจะเริ่มเห็นว่า สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่นมักสู้สินค้าจากเกาหลี และสหรัฐอเมริกาไม่ค่อยได้ ตราบใดยังช้าแบบนี้ไม่ทันคนอื่นหรอก ส่วนบริษัทสัญชาติไทย คงหนีไม่พ้นเรื่องเดิมๆ ทุกคนมุ่งหาคนมีอำนาจสูงสุด และนิยมใช้ระบบพวกพ้อง

ร่ายประวัติการทำงานมาเกือบชั่วโมง “ชายมาดสุขุม” เล่า “จุดเริ่มต้น” การลงทุนให้ฟังว่า ชีวิตการลงทุนเกิดขึ้นก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ช่วงย้ายมาทำงานใน “เชลล์ (ประเทศไทย)” บังเอิญมีเพื่อนคนหนึ่งทำงานเป็นมาร์เก็ตติ้งในบล.ธนสยาม ถือเป็น 1 ใน 36 ไฟแนนซ์ที่ปิดตัวไปในช่วงวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง”

เพื่อนชวนเราไปเล่นหุ้น ด้วยประโยคตาลุกวาวที่ว่า “มาเล่นหุ้นกันเถอะกำไรเยอะดี” สงสัยเขาเห็นเรามีเงิน เพราะช่วงนั้นมีโอกาสนำเงินเก็บบางส่วนไปลงทุนซื้อ “ตั๋วแลกเงิน” หรือ B/E ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 15-16 เปอร์เซ็นต์

เชื่อมั้ย!! “ผมแทบไม่ลังเลในการชักชวนครั้งนั้น” ตัดสินหอบเงิน 100,000 บาท ซึ่งเป็นเงินเก็บกินดอกเบี้ยแบงก์ 10 เปอร์เซ็นต์ ที่ได้จากการทำงานในช่วง 2-3 ปี มาเปิดพอร์ตกับเพื่อนทั้งๆที่ตัวเองไม่มีความรู้เรื่องหุ้นเลยสักนิด ช่วงนั้นตลาดหุ้นซื้อขายที่ SET INDEX 700 จุด ตลาดหุ้นเคยขึ้นไปยืน “จุดสูงสุด” ในปี 2538 ที่ระดับ 1,500 จุด

หุ้นตัวแรกที่ตัดสินใจซื้อชนิดไม่ปรึกษาใคร คือ หุ้น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เห็นบริษัทติด 10 อันดับแรกของหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าซื้อขายสูงสุด หรือ Top 10 Most Active Value เลยตัดสินใจซื้อ

ต้นทุนหุ้น BBLจำนวน 100 บาท ผ่านไป 2 วัน ขาย 104 บาท ได้กำไร 4 บาท “ดีใจมาก” จากนั้นซื้อหุ้นตัวเดิมอีกในราคา 106 บาท ผ่านไป 2 วัน ขาย 110 บาท ได้กำไร 4 บาท “ดีใจมากกว่าเดิม” ช่วงนั้นไม่มีสตอรี่อะไรดันหุ้นสักอย่าง เราคิดเพียงว่า หุ้นลดลงมา 50% แล้วคงถูกแล้วละมั้ง..

“ซื้อหุ้น BBL 2 ครั้ง ได้กำไร 2 ครั้ง แอบคิดในใจว่า ข้าเป็นเซียนหุ้นแล้วละ”

จากนั้นไม่นานตัดสินใจซื้อหุ้น BBL ครั้งที่ 3 ในราคา 120 บาท เชื่อหรือไม่!! จากนั้นไม่เคยเห็นราคา 120 บาท อีกเลย ราคาหุ้น BBL ไหลลงมาเรื่อยๆ ขณะที่ SET INDEX ทยอยลดลงต่อเนื่องเช่นกัน สุดท้ายดัชนีเหลือ 200 จุด
“ตลาดหุ้นดิ่ง ราคาหุ้น BBL รูดหนัก”

แต่เรายังไม่ยอมขายหุ้น BBL ทิ้ง เพราะตอนนั้นไม่มีความรู้ แถมไม่รู้จักคำว่า “ตัดขาดทุน” หรือ Cut Loss เพื่อนที่เป็นมาร์เก็ตติ้งไม่ได้โทรมาบอกให้รีบขาย เขาเองคงแทบจะเอาตัวไม่รอด เพราะโบรกเกอร์กำลังจะโดนปิด แถมเรายังไม่โทรไปถามเขาด้วย คราวนี้ราคาหุ้น BBL ไปกันใหญ่

ช่วงตลาดหุ้นลงหนัก “ผมหยุดลงทุนหุ้น 2-3 ปี” ปล่อยหุ้น BBL ไว้เฉยๆ สุดท้ายกลับเข้ามาในตลาดหุ้นอีกครั้งในปี 2545 ด้วยการขายหุ้น BBL ในราคา 30 บาท (หัวเราะ) “เงินแสนเหลือแค่ 30,000 บาท” ทำไปได้ เขา สถบ..
เหตุผลที่ตัดสินในขายหุ้น BBL ขาดทุน 70 เปอร์เซ็นต์ เพราะตั้งใจจะเปลี่ยนแนวการลงทุนมาเป็น “นักลงทุนเน้นคุณค่า” หลังมีเพื่อนคนหนึ่งนำกระดาษที่ซีร็อกซ์ “หนังสือ ศาสตร์แห่งบัฟเฟตต์” หรือ Buffettology ของ “วอร์เรน บัฟเฟตต์” มาให้ช่วยแปล เพราะหนังสือเป็นภาษาอังกฤษ

ตอนได้หนังสือเล่มนี้มาแปลใหม่ๆ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า “วอร์เรน บัฟเฟตต์” เป็นใคร รู้เพียงว่า “ผู้ชายคนนี้เล่นหุ้น” เราคิดว่า เล่นหุ้นคงใช้วิธีเดียวกับเรา นั่นคือ “ซื้อมาขายไปแล้วก็เจ๊ง” (หัวเราะ) พออ่านไปอ่านมา “วอร์เรน” ถือหุ้น 1 ตัว นาน 5 ปี 10 ปี 30 ปี เราแปลกใจมาก “มีแบบนี้ด้วยหรอ”

คราวนี้เริ่มรู้สึกสนใจเรื่องการลงทุนแนว VI มากขึ้น “ผมโทรสั่งหนังสือการลงทุนของบุคคลดังๆเล่มละ 400-500 บาท จากเวปไซด์ Amazon.com ประเทศสหรัฐอเมริกา” อาทิเช่น หนังสือของ “ปีเตอร์ ลินซ์” หนังสือของ “เบนจามิน เกรแฮม” และหนังสือของ “ฟิลลิป ฟิชเชอร์” เป็นต้น ตอนนั้นยังไม่มีหนังสือการลงทุนแนว VI ที่เป็นภาษาไทย ยกเว้นหนังสือ “ตีแตก” ของ “ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร”

ใช้เวลาอ่านหนังสือทั้งหมดประมาณ 3-4 เดือน เมื่อเริ่มรู้วิธีการคัดเลือกหุ้นแล้ว คราวนี้หอบเงิน 300,000 บาท ไปเปิดพอร์ตกับบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง หลังเพื่อนมาร์เก็ตติ้งคนเดิม (หัวเราะ) ย้ายไปทำงานที่นั่น เงินที่ได้จากการขายหุ้น BBL จำนวน 30,000 บาท รวมอยู่ในเงินเปิดพอร์ตครั้งนั้นด้วย (ยิ้ม)

หนังสือการลงทุนต่างประเทศสอนอะไรบ้าง “เซียนหุ้นหลักสิบล้าน” ตอบคำถามนี้ว่า หนังสือจะสอนนักลงทุนว่า คุณควรซื้อหุ้นเหมือนซื้อธุรกิจ คุณต้องเข้าใจธุรกิจ ต้องรู้ว่ารายได้มาจากไหน กำไรเท่าไร ค่าใช้เท่าไร ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเท่าไร คู่แข่งเป็นใคร ทำอย่างไรเขาถึงชนะคู่แข่ง เมื่อรู้โครงสร้างธุรกิจแล้ว คุณค่อยมาดูราคาหุ้นว่า วันนี้เหมาะสมแก่การลงทุนแล้วหรือยัง

กลยุทธ์การลงทุนรอบใหม่ “ผมเน้นกระจายเงิน 300,000 บาท ไปในหุ้น 3 ตัวในสัดส่วนเท่าๆกัน” ไล่มาตั้งแต่ หุ้น เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ซื้อมา 5 บาท สนใจหุ้นตัวนี้ เพราะอัตราส่วนราคาต่อกำไร หรือค่า P/E ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ค่า P/BV อยู่ในระดับต่ำเช่นกัน แถมบริษัทยังจ่ายเงินปันผลทุก ไตรมาส

ตัวที่สอง คือ หุ้น ผลิตไฟฟ้า (EGCO) สอยมา 30 บาท ตอนนั้นหุ้น EGCO มีอัตราส่วนราคาต่อกำไรประมาณ 5-6 เท่า ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยปีละ 5-6% ตัวสุดท้าย คือ หุ้น ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซื้อมา 110 บาท ช่วงราคาพาร์ 10 บาท ปัจจุบันแตกพาร์เหลือ 1 บาท

หลังวิเคราะห์หุ้น 3 ตัว มาสักระยะค้นพบว่า หุ้น CPF เข้าข่าย “หุ้น Community” ราคาหุ้นจะขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาวัตถุดิบมักเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลก ส่วนหุ้น EGCO ทุกครั้งที่ขยายงาน ด้วยการสร้างโรงไฟฟ้า บริษัทต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้าง แถมยังต้องขออนุญาตทำโครงการจากรัฐบาลอีก ส่งผลให้ผลตอบแทนต่อโครงการของ EGCO ถูกจำกัดโดยรัฐบาล เต็มที่บริษัทจะได้ผลตอบแทนแค่ 10-12% โอกาสที่บริษัทจะได้ผลตอบแทนสูงถึง 30-50 เปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้

ขณะที่หุ้น PTTEP มีมาร์จิ้นสูงถึง 35 เปอร์เซ็นต์ และมีอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) 30 เปอร์เซ็นต์ ที่สำคัญธุรกิจไม่ถูกจำกัดผลตอบแทนโดยรัฐบาล แถมธุรกิจยังเติบโตต่อเนื่องแทบไม่เคยเห็นบริษัทมีรายได้ลดลง ข้อดีเหล่านั้นบ่งบอกว่า ธุรกิจนี้ไม่มีคู่แข่ง ถือเป็นงานที่น่าสนใจมาก

“ตัวเลขสวยขนาดนี้” แต่ช่วงนั้นนักลงทุนหลายรายแทบไม่ได้ให้ตัวเลขการเติบโตของหุ้น PTTEP หลังเห็นว่า บริษัทต้องใช้เวลานานถึง 3-5 ปี กว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการบงกช และโครงการในประเทศพม่า

แต่หลังนั่งวิเคราะห์หุ้น PTTEP พบว่า หาก 2 โครงการเริ่มส่งเงินเข้าบริษัท ขณะที่อีก 10 ปีข้างหน้า (2545-2554) ราคาน้ำมันมีโอกาสพุ่งขึ้น 10 เท่า จากราคา 20 เหรียญต่อบาร์เรล (ในปี 2545) ฉะนั้นไม่เกิน 10 ปี ราคาหุ้น PTTEP ต้องพุ่งพรวดแน่นอน

“ผมถือหุ้น PTTEP ได้เพียง 6 ปี ราคาน้ำมันทะยานมายืน 140 เหรียญต่อบาร์เรล ราคาหุ้นเด้งจากต้นทุน 110 บาทต่อหุ้น มาอยู่ระดับ 220 บาทต่อหุ้น (คิดจากราคาพาร์ 10 บาท) ผมไม่รีรอรีบขายหุ้น PTTEP ทันที เรียกว่า โกยกำไรเร็วกว่า 4 ปี

“ได้กำไรจากการขายหุ้น PTTEP ประมาณ 1,000 เปอร์เซ็นต์”

นี่ยังไม่นับรวมผลตอบแทนจากเงินปันผลของหุ้น PTTEP ที่ได้มาตลอด 6 ปี เฉลี่ยปีละ 3 เปอร์เซ็นต์หุ้น PTTEP เพียงตัวเดียว ทำให้พอร์ตลงทุนของชายชื่อ “วิบูลย์” ขยับจาก “หลักแสน” เป็น “หลักสิบล้าน” ได้ภายในเวลาระยะเวลาไม่ถึง 10 ปี(ระหว่างนั้นมีการเติบเงินเรื่อยๆ)

เส้นทางการลงทุนแนว VI ของ “วิบูลย์ พึงประเสริฐ” จะมุ่งหน้าไปสู่หุ้นตัวไหนเป็นสถานีต่อไป ติดตามอ่านตอนจบในสัปดาห์หน้า บอกตรง “บุรุษมาดนุ่ม” รายนี้ “ไม่ธรรมดา”!!