จับโรงบรรจุก๊าซหุงต้มลักลอบส่งปั๊ม-รง.อุต

จับโรงบรรจุก๊าซหุงต้มลักลอบส่งปั๊ม-รง.อุต

ตำรวจจับโรงบรรจุก๊าซหุงต้มตัวแทนจำหน่ายปตท. ลักลอบขายก๊าซฯให้ปั๊ม - โรงงาน กรมธุรกิจพลังงานสั่งพักใบอนุญาต 1 ปี พร้อมสอบสวนถึงต้นตอ

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงผลการจับกุมผู้กระทำผิดลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ข้ามประเภท ว่า ได้มีการจับกุมรถบรรทุกแอลพีจีของโรงบรรจุก๊าซ บริษัท ซิตี้ เซอร์วิส แอนด์ โซลูชั่นส์ จำกัด หลังพบหลักฐานกระทำผิดอย่างชัดเจน โดยแทนที่จะรับแอลพีจีออกจากคลังปตท. และนำไปบรรจุลงถังก๊าซหุงต้ม แต่กลับนำไปจำหน่ายให้สถานีบริการแอลพีจีสำหรับรถยนต์ และโรงงานอุตสาหกรรม ในพื้นที่ จ.ชลบุรี

"รถบรรทุกก๊าซฯที่จับได้ มีขนาดบรรทุก 8 ตัน ได้กำไรจากส่วนต่างในการขายข้ามประเภทให้ปั๊มแอลพีจี 3 บาทต่อกก. และ โรงงานอุตสาหกรรม 11 บาทต่อกก. รวมเที่ยวละ 24,000 - 90,000 บาท หากเทียบระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งถือว่าเป็นโทษที่รุนแรง ไม่คุ้มกับการถูกจับกุม ดังนั้นจึงต้องการเตือนผู้ประกอบการที่ยังกระทำผิดอยู่ให้หยุดดำเนินการ เพื่อไม่ต้องรับโทษรุนแรง"

ด้าน น.ส.ศุภกานต์ วิทิตวโรดม ผู้อำนวยการส่วนการตรวจสอบ สำนักบริการธุรกิจ กรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า การจับกุมโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี บริษัท ซิตี้ เซอร์วิส ฯ เป็นการกระทำผิดครั้งที่ 2 โดยที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบพบว่าในปี 2555 โรงบรรจุแห่งนี้ลักลอบนำแอลพีจีภาคครัวเรือนไปจำหน่ายให้กับสถานีบริการแอลพีจีเพื่อเติมในรถยนต์ ความเสียหาย 2,000 ตัน ซึ่งคดีอยู่ระหว่างสอบสวน

"ครั้งแรกที่พบการกระทำผิดของบริษัทนี้ พบจากเอกสารที่รับแอลพีจีมากเกินกำลังบรรจุ ส่วนครั้งที่ 2 จับกุมรถบรรทุกก๊าซฯขณะกระทำความผิด สำหรับโทษในคดีนั้น หากทำผิดครั้งแรกจะยึดใบอนุญาต 1 ปี ครั้งที่ 2 จะเพิกถอนใบอนุญาตโรงบรรจุก๊าซฯ ซึ่งในกรณีนี้จะพักใบอนุญาต 1 ปีก่อน หากศาลตัดสินในคดีแรกว่ามีความผิดจริง จึงจะยึดใบอนุญาตต่อไป "

น.ส.ศุภกานต์ กล่าวว่า โรงบรรจุก๊าซฯแห่งนี้ รับจ้างบรรจุเป็นก๊าซหุงต้มให้กับ ปตท. ตามกฎหมายยังถือว่าน้ำก๊าซแอลพีจีเป็นของปตท. ซึ่งเจ้าหน้าที่ปตท. จะมีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน หากพบมีการกระทำความผิด ปตท.ก็อาจต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ค้ามาตรา 7 ด้วย

ขณะที่พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รองหัวหน้าชุดปฏิบัติการสืบสวนปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับน้ำมันเชื้อเพลิง กล่าวว่า สาเหตุที่คดีนี้มีความล่าช้า เนื่องจากเป็นความเสียหายของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ดังนั้นต้องสรุปให้ได้ว่าน้ำก๊าซแอลพีจีที่ออกจากคลังแล้วไปยังที่ใดบ้าง เพื่อให้ได้ตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้หน่วยงานรัฐได้รับเงินชดเชยที่ถูกต้องต่อไป

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าแม้ยังไม่ได้ตัดสินความผิดเป็นทางการของโรงบรรจุก๊าซแอลพีจี บริษัท ซิตี้เซอร์วิส ฯ แต่ปตท.มีบทลงโทษในเบื้องต้นแล้ว โดยหยุดจ่ายโอนน้ำก๊าซเป็นเวลา 1 เดือน พร้อมตัดปริมาณการจ่ายโอนน้ำก๊าซและปรับลดการจ่ายส่วนลดลงในเดือนถัดไป โดยปตท.พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐอย่างเต็มที่

ทั้งนี้ ปตท. ได้จ่ายก๊าซให้กับ บริษัท ซิตี้เซอร์วิส ฯ ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายของ ปตท. ประเภทโรงบรรจุก๊าซ ตั้งอยู่ที่ จ.สมุทรปราการ โดยได้รับโควตาตามประกาศกรมธุรกิจพลังงานเดือนละประมาณ 2.24 ล้านกก.และมียอดซื้อก๊าซแอลพีจีจาก ปตท. เดือนละ 1.9 ล้าน กก.