“เรื่องใหญ่” และ “ข่าวร้าย” หนี้ครัวเรือนพุ่ง 90% ของจีดีพี

“เรื่องใหญ่” และ “ข่าวร้าย” หนี้ครัวเรือนพุ่ง 90% ของจีดีพี

ภาระหนี้ในระดับสูง คือ ตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการนำไปใช้จ่าย อีกทั้งยังเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

นับว่าเป็น “เรื่องใหญ่” และเป็น “ข่าวร้าย” มากสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศ เมื่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไตรมาสที่ 4 และภาพรวมปี 2566 ว่า หนี้สินครัวเรือนไทยไตรมาสที่ 3 ปี 2566 มีมูลค่ารวม 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.3% ขยายตัวชะลอตัวลงจากไตรมาสเดียวกันของปี มีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) อยู่ที่ 90.9% ของจีดีพี

ส่วนคุณภาพสินเชื่อด้อยลงทุกประเภทสินเชื่อ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.52 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมเป็น 2.79% เพิ่มขึ้น 2.71% ในไตรมาสก่อน

ระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงมากขึ้นขนาดนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เพราะนั่นแปลว่า ไทยกำลังติดหล่มเศรษฐกิจที่ลึก จนทำให้การแก้ปัญหา หรือการพลิกฟื้นมีความยากมากขึ้น

ตัวเลข สศช.ชี้ด้วยว่า สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับขยายตัวถึง 15.6% ถือว่าขยายตัวในระดับสูงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ปี 2564 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับประเภทที่มีทะเบียนรถเป็นประกันซึ่งในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ขยายตัวเพิ่มถึง 40.2% สะท้อนให้เห็นการขาดสภาพคล่องของครัวเรือนที่รุนแรงขึ้น เนื่องจากเป็นสินเชื่อที่อนุมัติเร็วและง่าย แต่มีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น และเป็นแนวโน้มจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการกู้ยืมเงินเพื่อเติมสภาพคล่อง

ไม่เพียงเท่านั้น หนี้เสียของสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับยังขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมถึง 4% เพิ่มขึ้นจากปลายปีก่อนที่สัดส่วนเพียง 2.4% 

มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การติดตามการบังคับใช้หลักเกณฑ์ Responsible Lending และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมถึงการก่อหนี้ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่ขยายตัวในระดับสูงและมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น ไตรมาสที่ 3 ปี 2566

หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นย่อมส่งผลลบมากขึ้นต่อจีดีพีประเทศในระยะยาว ภาระหนี้ในระดับสูง คือ ตัวฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะรายได้ส่วนใหญ่ต้องเอาไปจ่ายคืนหนี้แทนการนำไปใช้จ่าย

อีกทั้งยังเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินหากลูกหนี้จำนวนมากชำระหนี้ไม่ได้พร้อมๆ กันอาจกระทบฐานะการเงินของเจ้าหนี้ เกิดปัญหาหนี้เสียในวงกว้างกลายเป็นวิกฤติ และอาจลุกลามไปสู่ปัญหาอื่น เป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องร่วมกันแก้ให้ได้..