ย้อนรอย ‘5 แบรนด์ไทยโบราณ’ อายุรวมกว่า 500 ปี ปรับตัวรับโลกยุคใหม่อย่างไร

ย้อนรอย ‘5 แบรนด์ไทยโบราณ’ อายุรวมกว่า 500 ปี ปรับตัวรับโลกยุคใหม่อย่างไร

เปิดความเป็นมา “5 แบรนด์ไทยโบราณ” ที่ยังอยู่ยืนยงถึงปัจจุบัน ได้แก่ สมุนไพรตรากิเลน ยานัตถุ์หมอมี ยาสีฟันวิเศษนิยม ยาแก้ไอตราตะขาบ และสบู่นกแก้ว โดยหลายแบรนด์มีอายุทะลุ 100 ปี พวกเขามีวิธีปรับตัวอย่างไรกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน

Key Points:

  • ยาแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว” มีที่มาของตะขาบมาจากการที่ชาวจีนเชื่อว่า แม้ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษ แต่สามารถใช้พิษนี้ขจัดพิษได้ในการรักษาแบบจีนโบราณ จึงนำมาตั้งเป็นรูปแบรนด์
  • เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บริษัทโอสถสภาจึงปรับ “อุทัยทิพย์” ด้วยการผสมกับน้ำผลไม้ต่าง ๆ อาทิ น้ำเลมอน น้ำสตรอว์เบอร์รี น้ำลูกพีช จนกลายเป็น “เครื่องดื่มม็อกเทล”
  • ยาสีฟันวิเศษนิยมเกิดขึ้นจาก นางผิน แจ่มวิชาสอนได้รับตำรายาโบราณจาก ท่านจมื่นสิทธิแสนยารักษ์ เนื่องจากท่านจมื่นเห็นว่า นางผินมีความกตัญญู และขยันขันแข็งทำมาหากิน จึงถ่ายทอดตำรายานี้ให้


ในช่วง 100 ปีของเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ได้ผ่านวิกฤติต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หรือในชื่อวิกฤติต้มยำกุ้ง, วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551 มาจนถึงวิกฤติครั้งล่าสุดอย่างโควิด-19 แต่กลับมีบางบริษัทที่สามารถอยู่รอดและเติบโตจนถึงทุกวันนี้ บางแบรนด์อายุยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษและบางแบรนด์มีอายุเก่าแก่ทะลุ 100 ปี ซึ่ง “5 แบรนด์ไทยโบราณ” ที่น่าสนใจ ได้แก่

1. สมุนไพรตรากิเลน มีอายุเก่าแก่กว่า 133 ปี (ถือกำเนิดปี 2434)  

2. ยานัตถุ์หมอมี มีอายุเก่าแก่กว่า 126 ปี (ถือกำเนิดปี 2441)  

3. ยาสีฟันวิเศษนิยม มีอายุเก่าแก่กว่า 103 ปี (ถือกำเนิดปี 2464)  

4. ยาแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว มีอายุเก่าแก่กว่า 89 ปี (ถือกำเนิดปี 2478)  

5. สบู่หอมนกแก้ว มีอายุเก่าแก่กว่า 77 ปี (ถือกำเนิดปี 2490)  

สำหรับ 5 แบรนด์ไทยโบราณซึ่งมีอายุรวมกันกว่า 500 ปีเหล่านี้ มีความเป็นมาอย่างไร และพวกเขามีกลยุทธ์ปรับตัวกับยุคสมัยใหม่แบบใดบ้าง ดังนี้

  • 1. สมุนไพรไทยจีนตรากิเลน (อายุกว่า 133 ปี)

เมื่อเอ่ยถึง “ตรากิเลน” สามารถย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของบริษัท “โอสถสภา” ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชั้นนำของประเทศได้ด้วย และเป็นเจ้าของตรากิเลน ซึ่งเริ่มต้นมาจากร้านขายยาสมุนไพรเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า “เต๊ก เฮง หยู” แถวสำเพ็ง ผลิตภัณฑ์แรกที่ร้านผลิตออกมา คือ ยากฤษณากลั่นในชื่อตรา “กิเลน” สำหรับรักษาโรคปวดท้องและท้องเสีย

สรรพคุณตัวยานี้กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เมื่อได้รับการแนะนำในพระราชนิพนธ์ “กันป่วย” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งร้านเต๊ก เฮง หยู (หรือในชื่อบริษัทโอสถสภาในปัจจุบัน) ได้วางจำหน่ายยาสมุนไพรต่าง ๆ ภายใต้ตรากิเลน ไม่ว่าจะเป็น ยาอมโบตัน (ช่วยให้ชุ่มคอ) ยาธาตุ 4 (แก้อาการปวดท้อง) อุทัยทิพย์ (แก้ร้อนในกระหายน้ำ) ทัมใจ (บรรเทาอาการปวดหัว ปวดฟัน) เป็นต้น

ย้อนรอย ‘5 แบรนด์ไทยโบราณ’ อายุรวมกว่า 500 ปี ปรับตัวรับโลกยุคใหม่อย่างไร

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป บริษัทโอสถสภาจึงปรับผลิตภัณฑ์ของตัวเองให้เข้ากับคนรุ่นใหม่มากขึ้น เริ่มจาก “อุทัยทิพย์” น้ำยาสีแดงที่ใช้หยดผสมน้ำ ดื่มให้รู้สึกสดชื่น บริษัทดัดแปลงด้วยการผสมกับน้ำผลไม้ต่าง ๆ อาทิ น้ำเลมอน น้ำสตรอว์เบอร์รี น้ำลูกพีช จนกลายเป็น “เครื่องดื่มม็อกเทล” ซึ่งดัดแปลงมาจากค็อกเทล แต่ไม่ใส่แอลกอฮอล์ โดยน้ำอุทัยทิพย์ที่หยอดลงไปนี้ ช่วยเพิ่มสรรพคุณแก้ร้อนในกระหายน้ำได้อีกด้วย

นอกจากนั้น อุทัยทิพย์ที่ใช้เป็นเหมือน “เครื่องสำอาง” ตั้งแต่สมัยก่อน ในการทาปาก ปัดแก้มให้แดงระเรื่อ บริษัททำการแตกแบรนด์อุทัยทิพย์ เป็นแบรนด์ใหม่ในชื่อ “ยูทิป” ด้วยฉลากที่ดูทันสมัยพร้อมดึง จรินทร์พร จุนเกียรติ ผู้ชนะการประกวดเวที UTAITIP FRESHY IDOL 2007 มาเป็นพรีเซนเตอร์

อีกทั้งบริษัทอาศัยกระแส “ออเจ้าฟีเวอร์” ด้วยการดึงแม่การะเกด หรือ “เบลล่า- ราณี” มาร่วมสร้างวิดีโอตอนพิเศษ ในชื่อว่า “บิงซูหรือจะสู้ชมพูพริ้ง” เพื่อโปรโมตความโดดเด่นของ “อุทัยทิพย์” ในเรื่อง ซึ่งสกัดจากพฤกษาธรรมชาติ 32 ชนิด อันได้แก่ ฝาง, ดอกคำฝอย, หญ้าฝรั่น ฯลฯ จนอุทัยทิพย์กลายเป็นที่รู้จักในหมู่แฟนละครบุพเพสันนิวาส

  • 2. ยานัตถุ์หมอมี (อายุกว่า 126 ปี)

ยาผงที่ใช้สูดเข้าจมูกนี้ มีอายุเก่าแก่กว่า 126 ปี (ถือกำเนิดปี 2441) โดยใช้เพื่อบรรเทาอาการหวัด คัดจมูก ปวดศีรษะ และอาการโรคริดสีดวงจมูก

จุดเริ่มต้นของยานี้เกิดขึ้นจาก บุญมี เกษมสุวรรณ หรือที่รู้จักกันในนาม “หมอมี” ได้ลาออกจากงานราชการในตำแหน่งประจำห้องปรุงยา ณ กองโอสถศาลา เพื่อเปิดร้านยาของตัวเองในชื่อว่า “ห้างขายยาบุญมี ดิสเปนซารี” ในปี พ.ศ. 2441 (สมัยรัชกาลที่ 5) หรือ “บริษัท หมอมี จำกัด” ในชื่อปัจจุบัน โดยยาที่จำหน่ายก็มีตั้งแต่ยานัตถุ์ ยาตรีนิสิงเห (ปรับสมดุลฮอร์โมนและประจำเดือนในสตรี) ยาอุทัย (แก้ร้อนในกระหายน้ำ) และยาปัถวี (บรรเทาอาการปวดเมื่อย)

ย้อนรอย ‘5 แบรนด์ไทยโบราณ’ อายุรวมกว่า 500 ปี ปรับตัวรับโลกยุคใหม่อย่างไร

ในปัจจุบัน เศกสุข เกษมสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (รุ่นที่ 3) ของบริษัทหมอมี มองว่า ผลิตภัณฑ์ยาโบราณของตัวเองกำลังอยู่ในช่วง “ขาลง” แล้ว โดยเฉพาะยานัตถุ์ ที่ใช้การเป่าผงยาเข้าจมูก ค่อนข้างมีภาพลักษณ์โบราณและมีความนิยมที่ลดลงเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตาม มีบางผลิตภัณฑ์ที่บริษัทสามารถปรับฉลากและการโฆษณาให้ทันสมัยขึ้นได้ นั่นคือ “ยาอุทัย” ที่วัยรุ่นชอบใช้ เป็นยาที่ดื่มง่าย เข้ากับวิถีชีวิตคนยุคนี้ เพราะเพียงผสมในน้ำดื่มครั้งละ 4-5 หยด ช่วยแก้ร้อนในกระหายน้ำ

อีกทั้งบริษัทชูจุดเด่นด้าน “สารจากธรรมชาติ” ของยาอุทัยที่สามารถใช้ทาแก้มและเป็นรองพื้น โดยไม่เป็นอันตรายกับใบหน้า ซึ่งเป็นดั่งเครื่องสำอางจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

ไม่เพียงเท่านั้น จากแต่เดิมที่ยาสตรีโบราณถูกมองว่าเหมาะสำหรับผู้สูงอายุ หรือสตรีหลังคลอดบุตร บริษัทก็ปรับรูปผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เข้ากับยุค พร้อมตั้งชื่อใหม่ที่ดูอินเตอร์ว่า “เฟมินี่” โดยมีส่วนผสมจากว่านชักมดลูก, เมล็ดข้าวบาร์เลย์งอก, เมล็ดท้อ ฯลฯ ในการช่วยปรับฮอร์โมน และบรรเทาอาการปวดท้องเนื่องจากประจำเดือนมาไม่ปกติ

  • 3. ยาสีฟันวิเศษนิยม (อายุกว่า 103 ปี)

ในสมัยก่อน สิ่งที่คนไทยใช้ทำความสะอาดฟันไม่ใช่ยาสีฟันฟลูออไรด์ที่เป็นอย่างทุกวันนี้ แต่เป็นกิ่งข่อย หรือเปลือกหมาก ต่อมาได้มีการพัฒนาเป็นยาสีฟันแบบผงสมุนไพรขึ้น โดย “วิเศษนิยม” ถือเป็นยาสีฟันสมุนไพรตำรับโบราณ “รายแรก” ของไทย   

จุดเริ่มต้นมาจากเมื่อปี 2464 ที่คลองบางหลวง ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ย่านฝั่งธนบุรี นางผิน แจ่มวิชาสอน ได้รับตำรายาโบราณจาก ท่านจมื่นสิทธิแสนยารักษ์ แพทย์แผนโบราณประจำโรงเรียนบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เนื่องจากท่านจมื่นเห็นว่า นางผินเป็นผู้มีความกตัญญู และขยันขันแข็งทำมาหากิน จึงถ่ายทอดตำรายานี้ให้

แต่แรกนั้น นางผิงได้ปรุงยาสีฟันจากตำราที่ได้ มาแจกจ่ายแก่ผู้ปกครองและนักเรียนฟรี รวมถึงยังแจกจ่ายในงานลูกเสือด้วย เมื่อผู้คนลองใช้แล้ว ก็พบกับความวิเศษที่ทำให้ฟันของพวกเขาสะอาดอย่างเป็นที่ประจักษ์ จึงเรียกร้องให้นางผิงผลิตออกมาขาย จนกลายเป็น “ยาสีฟันวิเศษนิยม” จนถึงทุกวันนี้

ย้อนรอย ‘5 แบรนด์ไทยโบราณ’ อายุรวมกว่า 500 ปี ปรับตัวรับโลกยุคใหม่อย่างไร

สำหรับยาสีฟันวิเศษนิยม มีส่วนผสมของ ดินสอพอง เกลือจืด พิมเสน สมุนไพร​ เมนทอล และเครื่อง​หอมต่าง ๆ

เมื่อมองกลับมาปัจจุบัน ทุกวันนี้ตลาดยาสีฟันแข่งขันกันอย่างดุเดือด ทายาทรุ่นที่ 4 อย่าง คุณต้น พิเศก อินทรครรชิต จึงปรับโฉมแบรนด์วิเศษนิยม ในชื่อใหม่ว่า “IVISN (ไอวิศน์)” โดย I ที่แปลว่า ฉัน ผสมกับ VISN (VISET-NIYOM) คำย่อของวิเศษนิยม จนกลายเป็น IVISN เพื่อเข้าถึงคนยุคปัจจุบัน

แบรนด์ใหม่นี้ ไม่ใช่สูตรวิเศษนิยมดั้งเดิม แต่คุณต้นได้ทดลองสูตรใหม่กับครอบครัวมากว่า 3 ปีจนได้ส่วนผสมหลักจากธรรมชาติ 3 อย่าง คือ

1. น้ำไผ่จากเทือกเขาฮักโกดะ ช่วยป้องกันแบคทีเรีย และลดกลิ่นปาก แต่ไม่ทำลายสมดุลแบคทีเรีย

2. สารสกัดทับทิมเกาหลี ช่วยเพิ่มคอลลาเจนในช่องปาก และบำรุงเหงือก

3. พิมเสนธรรมชาติแท้ บรรเทาแผลในช่องปาก และให้ความรู้สึกสดชื่น พร้อมป้องกันอาการเสียวฟัน

สามารถสรุปสั้น ๆ คือ เป็นการผสมระหว่าง “ตำรับไทยเดิม” อย่างพิมเสน กับ “สารสกัดธรรมชาติจากญี่ปุ่นและเกาหลี” เพื่อทำให้ยาสีฟันวิเศษนิยมมีความเป็นสากล และเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น

  • 4. ยาอมตราตะขาบ 5 ตัว (อายุกว่า 89 ปี)

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จุ้ยไซ แซ่ซิ้ม ซึ่งอพยพมาจากจีนและเคยเป็นเด็กช่วยปรุงยาในร้านหมอจีนมาก่อน ได้คิดค้น “ยาแก้ไอตราตะขาบ 5 ตัว” ในกรุงเทพฯขึ้น โดยที่มาของตะขาบมาจากการที่ชาวจีนเชื่อว่า แม้ตะขาบเป็นสัตว์มีพิษ แต่สามารถใช้พิษนี้ขจัดพิษได้ในการรักษาแบบจีนโบราณ จึงนำมาตั้งเป็นรูปแบรนด์ ส่วนเลข 5 เป็นเลขมงคลของชาวจีน ไม่ว่าจะเป็น 5 เจดีย์ หรือ 5 มังกร พร้อมใส่รูปตัวเขาเองหรือจุ้ยไซที่ตรงกลางของซองยา

ย้อนรอย ‘5 แบรนด์ไทยโบราณ’ อายุรวมกว่า 500 ปี ปรับตัวรับโลกยุคใหม่อย่างไร

สำหรับ “ยาอม” ตราตะขาบในตอนนี้ อาจมีภาพลักษณ์อันเก่าแก่ บริษัทจึงร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อออกผลิตภัณฑ์ “สเปรย์แก้ไอ” ตราตะขาบ 5 ตัวขึ้นมาแทนเม็ดแบบเดิม ซึ่งตอบโจทย์การพกพาง่าย ดูล้ำสมัยกว่าการรับประทานแบบเม็ดที่คล้ายยาลูกกลอน อีกทั้งสเปรย์นี้ยังมีสรรพคุณยับยั้งแบคทีเรียในลำคอที่เป็นสาเหตุอาการคออักเสบ ได้มากกว่า 99.9% ภายใน 5 นาทีด้วย

ไม่ได้หยุดอยู่เท่านั้น เมธา สิมะวรา ทายาทรุ่น 3 ของแบรนด์ตะขาบ 5 ตัว เคยให้สัมภาษณ์กับกรุงเทพธุรกิจว่า อาจต่อยอดน้ำยาแก้ไอเป็นซอฟต์เจล โดยอัดน้ำยาเข้มข้นนี้เข้าไปในเจลาติน เมื่อผู้บริโภคอมแล้วตัวยาจะเข้าไปแตกในปากและไม่ทำให้ลิ้นดำ ช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและตอบโจทย์ความต้องการของต่างประเทศด้วย

  • 5. สบู่หอมนกแก้ว (อายุกว่า 77 ปี)

ความเป็นมาของสบู่แบรนด์นี้ เริ่มต้นจาก วอลเตอร์ เลโอ ไมเยอร์ นักธุรกิจชาวสวิส และเป็นประธานกรรมการของห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โก ห้างสรรพสินค้าชื่อดังตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (ก่อนจะถูกเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดีซื้อในปี 2544) รู้สึกชื่นชอบกลิ่มหอมสมุนไพรไทย จึงตัดสินใจก่อตั้งบริษัท รูเบียอุตสาหกรรม เพื่อผลิตสบู่หอมขึ้น โดยนำเข้าวัตถุดิบมาจากฝรั่งเศส ผสมกับสมุนไพรไทยและดอกไม้ไทยนานาพันธ์ รวมถึงตัวเขาก็ชื่นชอบนกแก้วไทยด้วย จนกลายมาเป็น “สบู่หอมตรานกแก้ว ซึ่งชูจุดเด่นด้านกลิ่นหอมที่ยากจะเลียนแบบ

ย้อนรอย ‘5 แบรนด์ไทยโบราณ’ อายุรวมกว่า 500 ปี ปรับตัวรับโลกยุคใหม่อย่างไร

ในปัจจุบัน สบู่นกแก้วได้ถูกปรับให้มีกลิ่นอันหลากหลายมากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นกลิ่นไม้หอม กุหลาบ กล้วยไม้ป่า บุปผชาติ ลีลาวดี ฯลฯ  พร้อมยังคงใช้ “กระดาษห่อ” ซึ่งแม้อาจดูเชย แต่ข้อดีคือ การส่งกลิ่นหอมออกมาง่าย และทำให้ผู้ใช้ย้อนนึกถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทหันมาขยายผลิตภัณฑ์ด้วยการทำ “ครีมอาบน้ำ” ซึ่งเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ แทนสบู่ ในสูตรต่าง ๆ โดยดึง “มิว” นิษฐา คูหาเปรมกิจ ดารานำจากละครดังเรื่อง อกเกือบหักแอบรักคุณสามี และสุภาพบุรุษจุฑาเทพ มาเป็นพรีเซนเตอร์

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องราวของ 5 แบรนด์ไทยโบราณ ไม่เพียงบอกเล่าตัวผลิตภัณฑ์ แต่ยังให้เรื่องราววิถีชีวิตคนไทยในอดีตด้วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาสีฟันแบบผง ยานัตถุ์สูดเข้าจมูก ยาอมแก้ไอคล้ายลูกกลอนจีน อุทัยทิพย์ที่ใช้แต่งหน้าในสมัยก่อน และสบู่หอมที่ทำให้ย้อนไปถึงห้างเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แอนด์โกตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อันน่าสนใจอย่างยิ่ง

อ้างอิง: กรุงเทพธุรกิจกรุงเทพธุรกิจ(2)กรุงเทพธุรกิจ(3)กรุงเทพธุรกิจ(4)mohmeemohmee(2)bangtakabbHatakamarbjcmanagerpositi,
osotspavisetorganic