รัฐบาลระวังหน้าแตก ประกาศ ‘เทสล่า’ ลงทุนไทย

รัฐบาลระวังหน้าแตก ประกาศ ‘เทสล่า’ ลงทุนไทย

หากเทสล่าตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศออกไป ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าเทสล่าเปลี่ยนใจจะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาส ภาครัฐต้องอยู่ในกรอบกติกาของการเจรจาและรักษาความลับ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจผิดหวังเหมือนที่อินโดนีเซียเจอมาก่อนหน้านี้

บทบาทเด่นอย่างหนึ่งของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ที่การเจรจากับผู้บริหารบริษัทระดับโลก และมีการจัดกำหนดการเจรจากับบริษัทต่างประเทศในระหว่างเดินทางประชุมในต่างประเทศ เช่น สหรัฐ จีน ซาอุดีอาระเบีย ญี่ปุ่น โดยนำคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางไปร่วมคณะในการโรดโชว์ด้วย เช่น กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 

การเดินทางเยือนสหรัฐของนายกรัฐมนตรี 2 ครั้ง ได้พบกับผู้บริหารบริษัทระดับโลกหลายแห่ง โดยในจำนวนดังกล่าวได้หารือกับนายอีลอน มัสก์ ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเทสลา ผ่านการประชุมทางไกล ซึ่งในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมา เทสล่าที่ได้เจรจากับหลายประเทศในเอเชีย เพื่อเข้าไปลงทุน เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย ซึ่งนายเศรษฐา ออกมาแสดงความมั่นใจ 100% ว่าเทสล่าจะตัดสินใจลงทุนในประเทศไทยแน่นอน หลังจากได้ดูพื้นที่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม 3 แห่ง และต้องการพื้นที่การลงทุนครอบคลุมตลอดทั้งซัพพลายเชนถึง 2,000 ไร่

เมื่อเดือน พ.ค.2565 นายโจโค วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย พบหารือกับนายอีลอน มัสก์ ที่สหรัฐ หลังจากนั้นในเดือน ส.ค. 2565 ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าอินโดนีเซียต้องการให้เทสล่าเข้ามาลงทุนเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มขนาดใหญ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งทั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และโรงงานผลิตแบตเตอรี่ และรัฐบาลอินโดนีเซียจะสนับสนุนแร่นิกเกิลที่เป็นวัตถุดิบสำคัญของการผลิตแบตเตอรี่

ความคืบหน้าการเจรจาระหว่างเทสล่าและอินโดนีเซียเงียบลง ในขณะที่เทสล่าเริ่มเข้ามาทำการตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลเศรษฐาได้เจรจากับเทสล่าเข้มข้นขึ้น และล่าสุดผู้บริหารของเทสล่าเข้ามาดูพื้นที่การลงทุน ซึ่งในแวดวงการเจรจารู้ดีว่าช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการตัดสินใจ และการเข้ามาลงทุนในระดับ 5,000 ล้านดอลลาร์ เป็นสิ่งที่เทสล่าต้องใช้เวลาในการตัดสินใจอย่างรอบคอบ และถือเป็นความลับทางธุรกิจที่สำคัญ และคงไม่ต้องการให้รัฐบาลไทยประกาศออกไปก่อน

หากเทสล่าตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศออกไป ถือเป็นเรื่องดีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยจะขยายตัวขึ้น แต่ถ้าเทสล่าเปลี่ยนใจไม่เข้ามาลงทุนเหมือนที่อินโดนีเซียผิดหวัง จะทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสไปมาก ดังนั้นในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่เทสล่าจะตัดสินใจขั้นสุดท้าย เป็นหน้าที่ของภาครัฐต้องอยู่ในกรอบกติกาของการเจรจา และความลับทางธุรกิจถือเป็นเรื่องหลักที่รัฐบาลควรที่จะให้ความสำคัญ ไม่เช่นนั้นรัฐบาลอาจผิดหวังเหมือนที่อินโดนีเซียเจอมาก่อนหน้านี้