'ซอฟต์พาวเวอร์' นั้น สำคัญไฉน

'ซอฟต์พาวเวอร์' นั้น สำคัญไฉน

ยุทธศาสตร์แผนงานต้องชัด ความเป็นรูปธรรมต้องเกิด ไม่ใช่มัวแต่พ่นคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์ ซอฟต์พาวเวอร์’ ขับเคลื่อนแบบฉาบฉวยไปเรื่อย...

“ซอฟต์พาวเวอร์” กลายเป็นคำพูดฮิตติดปาก เป็นหัวข้อถกเถียงสนทนากันอย่างกว้างขวาง เรียกว่าช่วงนี้ ใดๆ ในประเทศไทยล้วนซอฟต์พาวเวอร์

ท่ามกลางความสับสน งุนงง แบบไหน อย่างไรถึงเรียกว่า ซอฟต์พาวเวอร์ แต่ถ้ายึดตามที่รัฐบาลประกาศยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ จะอยู่ใน 5 กลุ่มหลัก หรือเรียกว่า 5F 1.Food (อาหาร) 2. Film (ภาพยนตร์) 3. Fashion (แฟชั่น) 4.Fighter (การต่อสู้) และ 5. Festival (งานเทศกาล) และก็อยู่ระหว่างการขับเคลื่อนอย่างค่อยเป็นค่อยไปแบบงงๆ 

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นั่งเป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ วางเป้าหมายเพิ่มรายได้ให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล หรือเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือนประมาณ 2 แสนบาทต่อปี หรือประมาณ 16,000 บาทต่อเดือน

มีการวางแผนขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์เพาเวอร์ แบ่งการทำงานเป็น 3 ระยะ ระยะ 100 วัน หรือภายใน 11 ม.ค.2567 เปิดให้ลงทะเบียนที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมทั้งแก้ไขกฎกระทรวง และจัดงาน Winter Festival

ระยะ 6 เดือนหรือภายใน 3 เม.ย.2567 จะเริ่มบ่มเพาะ  OFOS (One Family One Soft Power) รวมทั้งเสนอ พ.ร.บ.จัดตั้งThailand Creative Content Agency (THACCA)

มีการจัดเทศกาลWater Festival และจัดงานSoft Power Forum และ ระยะ 1 ปี หรือภายใน 3 ต.ค.2567 กำหนดเป้าหมายบ่มเพาะได้ 1 ล้านคน รวมทั้ง พ.ร.บ.จัดตั้ง THACCA ผ่านรัฐสภา มีการจัดงาน Film Festival และ Music Festival รวมถึงการสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ไปร่วมงานระดับโลก

รวมถึงล่าสุดการดันให้ เทศกาลงานสงกรานต์ เป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทย จะจัดเทศกาลในแบบตลอดทั้งเดือน จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายบนโลกโซเชียลมีเดีย ว่าหมายถึงการเล่นน้ำทั้งเดือนหรืออย่างไร 

ก่อนที่ นางสาวแพทองธาร จะออกมาย้ำอีกครั้ง ว่าการสาดน้ำตลอด 30 วันของเดือน เม.ย. คงเป็นไปไม่ได้ แต่จะเป็นการจัดกิจกรรม 77 จังหวัดทั่วประเทศ โดยในวันที่ 13-15 เม.ย. ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์ จะมีกิจกรรมเหมือนเช่นที่จัดขึ้นทุกปี ส่วนกิจกรรมที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งเดือน เป็นการดึงนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวไทยนานขึ้น นั่นคือจุดหมาย

หากรัฐบาลต้องการใช้ยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ แก้เกมพลิกฟื้นเศรษฐกิจในวันที่ เครื่องยนต์หลักสร้างรายได้เข้าประเทศยังสตาร์ทติดๆ ดับๆ

รัฐต้องหาแนวทางโปรโมต ประชาสัมพันธ์สื่อสารเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ แบบเข้าใจง่ายๆ และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดึงภาคเอกชนเข้าร่วมวางแผนเป็นขั้นตอน ตกผลึกความคิดให้เห็นไปในทางเดียวกันว่าจริงๆ แล้ว ซอฟต์พาวเวอร์ คือ อะไรกันแน่

เราเชื่อว่า เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ไม่ใช่เรื่องที่จะทำแค่ 1 ปี หรือ 4 ปีแล้วจบ แต่ต้องสะสมองค์ความรู้ไปเรื่อยๆ และต้องทำให้ต่อเนื่อง ยุทธศาสตร์แผนงานต้องชัด ความเป็นรูปธรรมต้องเกิด ไม่ใช่มัวแต่พ่นคำว่า ‘ซอฟต์พาวเวอร์ ซอฟต์พาวเวอร์’ ขับเคลื่อนแบบฉาบฉวยไปเรื่อย...