กลิ่นทักษิโณมิกส์ ในรัฐบาลเศรษฐา

กลิ่นทักษิโณมิกส์ ในรัฐบาลเศรษฐา

สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ การลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับบริบทประเทศไทยที่มีจำนวนแรงงานลดลง การดึงการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

การก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2566 ได้ประกาศนโยบายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจครั้งใหญ่ รวมทั้งนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภามีแนวทางการบริหารเศรษฐกิจแบบ “ทักษิโณมิกส์” ของนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2544-2549 ซึ่งกำหนดคำนิยามครอบคลุมนโยบายเศรษฐกิจ 2 แนวทาง หรือ Dual Track Policy คือ การสร้างแรงผลักดันจากต่างประเทศ เช่น การส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุน และการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เช่นเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน

นโยบายการบริหารเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีทักษิณ เน้นการขับเคลื่อนผ่านนโยบายการคลัง ซึ่งจะเห็นว่ามีการใช้จ่ายผ่านงบประมาณรายจ่ายประจำปี การจัดทำงบกลางปีและการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ซึ่งทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในช่วงปี 2544-2549 ขยายตัวระหว่าง 4.2-7.2% โดยงบประมาณก้อนใหญ่ช่วงต้นรัฐบาลเป็นการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ซึ่งรัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท รวมงบประมาณที่ใช้ 70,000-80,000 ล้านบาท

แนวทางการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลเศรษฐา เป็นตาม 2 แนวทางดังกล่าว โดยระบุถึงความจำเป็นของการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศผ่านนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต ซึ่งอยู่ระหว่างการออก พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 500,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้แจกเงินดิจิทัล โดยรัฐบาลให้เหตุผลถึงเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำ และล่าสุดไตรมาส 3 ปี 2566 จีดีพีขยายตัวได้เพียง 1.8% และมีแนวโน้มที่ทั้งปีจะไม่ถึงเป้าหมาย 2.5%

การเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นอีกจุดเด่นของรัฐบาลทักษิณ ซึ่งก่อนหน้านั้นไทยมีเฉพาะข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) และในรัฐบาลช่วงดังกล่าวได้เปิดการเจรจาการค้าเสรีกับตลาดขนาดใหญ่คือ จีนและอินเดีย รวมถึงเปิดการเจรจากับตลาดใหม่ เช่น เปรู ในขณะที่รัฐบาลปัจจุบันประกาศนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก โดยให้ความสำคัญกับนโยบายการต่างประเทศเพื่อผลักดันการค้าและการลงทุนผ่านเอกอัครราชทูตไทยที่ประจำอยู่ทั่วโลก และผู้แทนการค้าไทย (ทีทีอาร์) ที่จัดตั้งขึ้นครั้งแรกในรัฐบาลทักษิณ

สิ่งที่รัฐบาลเศรษฐา ควรให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น คือ การลงทุนที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับบริบทประเทศไทยที่มีจำนวนแรงงานลดลง การดึงการลงทุนในกลุ่มเทคโนโลยีเป็นแนวทางที่ถูกต้อง รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่กำหนดเป็นพื้นที่ลงทุนกลุ่มมูลค่าสูงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องผลักดันต่อ และการสร้างจุดขายใหม่ให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะแลนด์บริดจ์ที่เป็นโครงการที่มีเริ่มต้นในรัฐบาลทักษิณเช่นเดียวกัน