เศรษฐกิจไทย อาการน่าเป็นห่วง

เศรษฐกิจไทย  อาการน่าเป็นห่วง

ในปัจจุบันหากมีการใช้ พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทพื้นที่ทางการคลังจะเหลือเพียง 6% เท่านั้น ซึ่งหากเกิดวิกฤติก็จะไม่เพียงพอที่จะใช้รองรับได้ 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ จีดีพี ไตรมาสที่ 3 ปี 66 เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 ปีนี้ขยายตัวได้ 1.5% มีปัจจัยบวกจากการขยายตัวการบริโภคภาคเอกชน 8.1% การลงทุนรวมขยายตัวได้ 1.5% เป็นการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ 3.1% และการขยายตัวของที่พักบริการด้านอาหารที่ขยายตัวได้ 14.9% จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้น

ขณะที่ เศรษฐกิจไตรมาสที่ผ่านมา มีอัตราลดลงหลายเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ เช่น ส่งออกที่มูลค่าหดตัวลง 2% ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการชะลอตัวการค้าโลกมูลค่านำเข้าสินค้าหดตัว 10.7%

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐหดตัวลงเพราะเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ทำให้เศรษฐกิจไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ 1.9%  ขณะที่เศรษฐกิจไทยปี 66 จะขยายตัว 2.5% เป็นกรอบที่ สศช.คาดว่า เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัว 2.5-3.0%

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายปีนี้ คาดว่ามาจากการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว ภาคการผลิต อุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้น และฐานจีดีพีปีก่อนไม่สูงมาก จึงคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวมากขึ้น

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะขยายตัว 2.7-3.7% (ค่ากลาง 3.2%) ขยายตัวจากภาคส่งออกปีหน้าจะขยายตัว 3.8%

การขยายตัวในการบริโภคภาคเอกชนที่จะขยายตัวได้ 3.2% และการลงทุนภาคเอกชนปีหน้าจะขยายตัว2.8% ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐจะอยู่ที่ 2.2% สอดคล้องกรอบงบประมาณปี 2567 ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 7.5% จากกรอบงบประมาณปี 2566

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจปี 2567 ที่ขยายตัว 3.2% สศช.ไม่ได้รวมนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล เพราะมีขั้นตอนที่ต้องขอความเห็นข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งมีความไม่แน่นอนในวงเงินที่จะใช้ 

โดยเฉพาะเรื่อง Policy space เป็นเรื่องที่สำคัญที่จะใช้ในการรองรับวิกฤติ เนื่องจากก่อนหน้าที่ประเทศไทยจะเจอกับวิกฤตโควิด-19 หนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทยอยู่แค่ประมาณ 44% เท่านั้น ยังมีพื้นที่ทางการคลังที่จะรองรับวิกฤติอยู่ถึง 16% 

แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิดขึ้นมา จะเห็นว่าต้องมีการขยายเพดานหนี้สาธารณะจาก 60% เป็น 70% ต่อจีดีพี ขณะที่ในปัจจุบันหากมีการใช้ พ.ร.บ.กู้เงินฯ 5 แสนล้านบาทพื้นที่ทางการคลังจะเหลือเพียง 6% เท่านั้น ซึ่งหากเกิดวิกฤติก็จะไม่เพียงพอที่จะใช้รองรับได้ 

สศช.แนะรัฐบาลว่า ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่เหมาะสมสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ที่สำคัญเตรียมแผนให้ดีให้เพียงพอเพื่อรองรับความเสี่ยง เรามองว่าสิ่งที่ สศช.ส่งสัญญาณ รัฐบาลควรตระหนักและรับฟัง...