ไม่ต้องง้อมนุษย์! AI ‘ต่อรองสัญญา’ เองได้แล้ว ตรวจข้อพิรุธในเวลาไม่กี่นาที

ไม่ต้องง้อมนุษย์! AI ‘ต่อรองสัญญา’ เองได้แล้ว ตรวจข้อพิรุธในเวลาไม่กี่นาที

นับเป็น “ครั้งแรก” ของโลกที่ AI สามารถช่วยมนุษย์ต่อรองสัญญา โดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องได้ แถมยังรวดเร็ว ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น ถือเป็นภาพสะท้อนว่า “ความสามารถ AI” ได้พัฒนาการไปสู่อีกขั้นแล้ว

ชีวิตประจำวันของคนเราทุกวันนี้ เลี่ยงไม่ได้กับการทำสัญญา ไม่ว่าจะเป็น สัญญาว่าจ้าง สัญญาซื้อขาย สัญญาเช่าซื้อ ฯลฯ ซึ่งปัญหาหนักใจของใครที่ต้องทำสัญญา คือ รายละเอียดที่ซับซ้อน ทั้งยังต้องตรวจบรรทัดต่อบรรทัดว่า ร่างสัญญาที่เขียนรัดกุมเพียงพอไหม มีช่องโหว่ใดบ้าง เพราะถ้ามีช่องโหว่ขึ้นมา ก็สามารถชี้ชะตาแพ้ชนะคดีได้เลย หากเกิดการฟ้องร้องกัน ดังนั้น งานเอกสารสัญญาจึงใช้เวลาจำนวนมากในการร่างและตรวจสอบ

แต่ปัญหาจะทุเลาลง เมื่อ “Luminance” บริษัทด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ AI สัญชาติอังกฤษ เข้าใจปัญหาหนักอกดังกล่าว จึงพัฒนาระบบ AI แบบ LLM (Large Language Model) ที่ผ่านการเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมากขึ้นมา โดยอัลกอริทึมของ AI จะช่วย “เจรจาสัญญา” และ “ตรวจจับความผิดปกติ” ของสัญญาได้เองพร้อมทำสีแดงบริเวณจุดผิดปกติ โดยไม่ต้องมีมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้อง 

ยกตัวอย่างเช่น ในสัญญาระบุเป็นช่วงระยะเวลา 6 ปี ซึ่งขัดกับนโยบายบริษัท 3 ปี เมื่อ AI ตรวจพบก็จะทำการร่างใหม่ ใส่เงื่อนไขสัญญา 3 ปีแทน 6 ปีให้เลยโดยไม่ต้องร้องขอ

เจเกอร์ กลูไซนา (Jaeger Glucina) ผู้อำนวยการฝ่ายพนักงานและกรรมการผู้จัดการ ของ Luminance กล่าวว่า AI ตัวนี้จะช่วยลดงานด้านเอกสารจำนวนมากที่นักกฎหมายต้องทำในแต่ละวันลงได้

ไม่ต้องง้อมนุษย์! AI ‘ต่อรองสัญญา’ เองได้แล้ว ตรวจข้อพิรุธในเวลาไม่กี่นาที

- เจเกอร์ กลูไซนา (เครดิต: managementtoday) -

สำนักข่าว CNBC รายงานว่า ความสามารถ AI ดังกล่าวอยู่ในฟีเจอร์ระบบ Autopilot ของบริษัท ซึ่งมนุษย์สามารถตรวจกระบวนการทำงานของ AI ได้ทุกขั้นตอน พร้อมเก็บประวัติการปรับแต่งสัญญาโดยฝีมือ AI ไว้ให้มนุษย์ตรวจย้อนหลัง ที่สำคัญคือ การปรับเนื้อหาโดย AI ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น

ไม่ต้องง้อมนุษย์! AI ‘ต่อรองสัญญา’ เองได้แล้ว ตรวจข้อพิรุธในเวลาไม่กี่นาที - AI (เครดิต: Shutterstock) -

กลูไซนา ให้ข้อมูลต่อว่า ในโลกธุรกิจปัจจุบัน ทีมธุรกิจมักต้องรอสัญญารักษาความลับ (Non-disclosure Agreement) ให้เสร็จสิ้นก่อนจากทีมกฎหมาย ซึ่งทีมกฎหมายต้องใช้เวลามากถึง 80% ไปกับการร่างและตรวจสอบเอกสารสัญญา แต่หากสามารถทำให้ขั้นตอนด้านกฎหมายเร็วขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มรายได้ และเพิ่มโอกาสทางธุรกิจต่าง ๆ ให้มากขึ้นได้

นอกจากนี้ ระบบ Autopilot ของ Luminance จะค่อนข้างมีความถนัดด้าน “งานสัญญา” มากกว่าแชตบอต ChatGPT จากค่าย OpenAI ที่ได้รับการสนับสนุนโดย Microsoft เพราะ AI ตัวนี้ถูกสร้างสำหรับงานด้านสัญญากฎหมายโดยเฉพาะ ขณะที่ ChatGPT จะเป็นงานแบบทั่วไปมากกว่า

ปัจจุบัน บริษัท Luminance ยังไม่ได้เปิดเผยราคาซอฟต์แวร์ AI ตัวนี้ แต่บริษัทเปิดให้สมัครสมาชิกรายปีแทนสำหรับผู้สนใจใช้บริการ โดยลูกค้าของบริษัทในปัจจุบัน นอกจากบริษัทด้านกฎหมายแล้ว ก็มี Hitachi Vantara ผู้ให้บริการด้านโซลูชันดิจิทัล และ Koch Industries บริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐที่ประกอบธุรกิจหลายอย่าง เช่น การเกษตร สินค้าบริโภค พลังงานทดแทน อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ

อ้างอิง: cnbclinkedin