สื่อนอกจับตา 'ไทย' เล็งดูดยักษ์ EV ระดับโลกลงทุนก้อนโต ภายใน 4 ปี

สื่อนอกจับตา 'ไทย' เล็งดูดยักษ์ EV ระดับโลกลงทุนก้อนโต ภายใน 4 ปี

สื่อต่างประเทศจับตา "ไทย" ซึ่งได้ฉายา "ดีทรอยต์แห่งเอเชีย" ในแง่ของการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมัน แสดงความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็น "ฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) แถวหน้าของโลก" พร้อมตั้งเป้าดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติถึง 1 ล้านล้านบาท ใน 5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ ภายใน 4 ปี

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างคำสัมภาษณ์ของนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในวันนี้ (25 ต.ค.) ว่า ไทยได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อดึงดูดนักลงทุนรายใหญ่ให้มาลงทุนในอุตสาหกรรม EV และภาคส่วนอื่น ๆ ที่เป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจของไทย โดยกลุ่มผู้ผลิต EV จีน ถือเป็นเป้าหมายหลักของไทย

ทั้งนี้ บลูมเบิร์กระบุว่า แผนดึงดูดเม็ดเงินลงทุนก้อนโตจากยักษ์ใหญ่ EV ระดับโลก เป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศรวม 1 ล้านล้านบาท (ราว 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์) ใน “5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์” ของไทย ภายในระยะเวลา 4 ปี

นายนฤตม์กล่าวว่า อุตสาหกรรม EV และยานยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล, สำนักงานใหญ่ระดับภูมิภาค และอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถือเป็น 5 อุตสาหกรรมเชิงกลยุทธ์ที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นลำดับต้น ๆ

ข้อมูลจาก fDi Markets ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในขณะที่ไทยสามารถดึงดูดเงินลงทุนจากบริษัทจีนหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงบีวายดี, เกรท วอลล์ มอเตอร์ และเอสเอไอซี มอเตอร์นั้น ทิศทางด้านการลงทุนในอุตสาหกรรม EV ในปี 2565 แสดงให้เห็นว่า ไทยต้องเร่งดำเนินการอย่างมากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่สหรัฐ, ฮังการี, เม็กซิโก, อินโดนีเซีย และเยอรมนีได้รับเงินลงทุนจากมูลค่าทั้งหมดกว่า 1.06 แสนล้านดอลลาร์ ที่ลงทุนในโครงการ EV ทั่วโลกเมื่อปีที่แล้ว

ศูนย์ปฏิบัติการพิเศษเพื่อการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Special Operation Center For Strategic Investment) ซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯนั้น กำลังทำงานเกือบจะตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดึงดูดนักลงทุนที่มีศักยภาพสูง และจัดการประชุมระดับสูงให้กับรัฐบาล รวมทั้งคอยสนับสนุนนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับทริปการเดินทางไปต่างประเทศที่สำคัญ เพื่อพยายามทำข้อตกลงด้านการลงทุน

ทั้งนี้ หลังจากที่นายเศรษฐาเดินทางเยือนสหรัฐเมื่อเดือนที่แล้ว บีโอไอพยายามโน้มน้าวบริษัทรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงไมโครซอฟท์, กูเกิล และอเมซอน เว็บ เซอร์วิส ให้เข้ามาสร้างหรือเพิ่มฐานธุรกิจในประเทศไทยผ่านทางการลงทุนใหม่ ๆ

อ้างอิง: Bloomberg