‘ARM’ vs ‘NVIDIA’ ใครเหนือกว่าใคร น้องใหม่-พี่ใหญ่ อุตสาหกรรมชิป

‘ARM’ vs ‘NVIDIA’ ใครเหนือกว่าใคร น้องใหม่-พี่ใหญ่ อุตสาหกรรมชิป

เมื่อตลาดหุ้น NASDAQ ของสหรัฐ มีน้องใหม่ IPO คือ หุ้น “ARM” ออกแบบชิปสมาร์ทโฟน น้องใหม่นี้จะแตกต่างจากพี่ใหญ่ “Nvidia” ที่ผลิตชิปสำหรับ AI อย่างไร ใครจะเหนือกว่าใคร

Key Points

  • มากกว่า 90% ของสมาร์ทโฟนที่มนุษย์ใช้ ส่วนชิปประมวลผลหรือ “มันสมอง” ของเครื่องล้วนถูกออกแบบโดยบริษัท “ARM” บริษัทจากสหราชอาณาจักร
  • สำหรับบริษัท Nvidia ด้วยราคาหุ้น 440 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 39 ล้านล้านบาท
  • เรเน ฮาส (Rene Haas) ซีอีโอของบริษัท ARM เขาเคยทำงานในตำแหน่งรองประธานและผู้จัดการทั่วไปด้านหน่วยธุรกิจผลิตภัณฑ์คอมพิวติงที่บริษัท Nvidia มา 7 ปี


ไม่นานมานี้ บริษัท “ARM” จากสหราชอาณาจักรที่ออกแบบชิป และขายลิขสิทธิ์แบบให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ และอยู่ในเครือของ SoftBank ได้นำบริษัทเข้าสู่ตลาดหุ้น NASDAQ สหรัฐแล้ว เปิดขายหุ้นสู่สาธารณะครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 51 ดอลลาร์ต่อหุ้นในวันที่ 14 ก.ย. และเพิ่มขึ้นเป็น 56.19 ดอลลาร์ จากนั้นปิดที่ราคา 63.59 ดอลลาร์ในวันเดียวกัน

ขณะเดียวกัน จากกระแสปัญญาประดิษฐ์ (AI) ส่งผลให้หุ้น “Nvidia” บริษัทออกแบบและผลิตการ์ดจอ (GPUs) เคยทำสถิติราคาสูงสุดที่ราว 500 ดอลลาร์ต่อหุ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ราว 440 ดอลลาร์

หุ้น ARM ที่เข้าตลาดหุ้นสหรัฐนี้จะสร้างประวัติศาสตร์คล้ายหุ้น Nvidia หรือไม่ และทั้งสองบริษัทมีความไม่เหมือนกันอย่างไร โดยเป็นการเปรียบเทียบด้านลักษณะธุรกิจ ภูมิหลังของประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) จุดเด่น และผลประกอบการของทั้งสองบริษัทนี้

‘ARM’ vs ‘NVIDIA’ ใครเหนือกว่าใคร น้องใหม่-พี่ใหญ่ อุตสาหกรรมชิป - การ์ดจอ Nvidia (เครดิต: AFP) -

  • ลักษณะธุรกิจ

บริษัท Nvidia เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางสำหรับผู้สร้างการ์ดจอ (GPU) ในวงการเกม และด้วยความก้าวหน้าของการ์ดจอ Nvidia ทำให้ถูกใช้คำนวณสมการทางคณิตศาสตร์อันซับซ้อน หรือก็คือการขุดบิตคอยน์นั่นเอง

นอกจากนั้น หลายบริษัท AI ยังใช้การ์ดจอ Nvidia ฝึก AI ด้วย ประมวลข้อมูลอันมหาศาล สร้างแบบจำลองความเป็นไปได้หลายกรณีอันซับซ้อนเหมือนโครงประสาทสมอง

ขณะที่บริษัท ARM เป็นผู้ออกแบบชิป และขายลิขสิทธิ์แบบให้กับบริษัทเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยมากกว่า 90% ของสมาร์ทโฟนที่มนุษย์ใช้ ส่วนชิปประมวลผลหรือ “มันสมอง” ของเครื่องล้วนถูกออกแบบโดยบริษัท “ARM” บริษัทจากสหราชอาณาจักร ซึ่งบริษัท Apple บริษัทเทคโนโลยีสมาร์ทโฟน เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุดของ ARM ที่นำแบบชิปนี้มาใช้ในมือถือ iPhone

‘ARM’ vs ‘NVIDIA’ ใครเหนือกว่าใคร น้องใหม่-พี่ใหญ่ อุตสาหกรรมชิป

- ชิปประมวลผลในสถาปัตยกรรมแบบ ARM (เครดิต: ARM) -

  • ความเป็นมาของซีอีโอ Nvidia VS ARM

ซีอีโอคนปัจจุบันของ Nvidia คือ เจนเซน หวง (Jensen Huang) ซึ่งเป็นผู้อพยพจากไต้หวัน และสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมจากมหาวิทยาลัย Oregon State และมหาวิทยาลัย Stanford  

หลังจากนั้น ตอนอายุเพียง 30 ปี หวงได้ก่อตั้งบริษัท Nvidia ร่วมกับเพื่อนอีก 2 คนคือ เคอร์ทิส พรีม (Curtis Priem) และคริส มาลาโชวสกี (Chris Malachowsky)

พวกเขาพัฒนาการ์ดจอ จนขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างโดดเด่นในช่วงปี 2542 Nvidia ออกการ์ดจอรุ่น GeForce ออกมา ที่ทั้งกราฟิก 3 มิติและลูกเล่นต่าง ๆ เหนือกว่าคู่แข่งอย่างบริษัท ATI Technologies, Matrox, Chips & Technology, S3 Graphics และ 3Dfx

‘ARM’ vs ‘NVIDIA’ ใครเหนือกว่าใคร น้องใหม่-พี่ใหญ่ อุตสาหกรรมชิป

- เจนเซน หวง ซีอีโอ Nvidia (เครดิต: AFP) -

ส่วนซีอีโอของ ARM คือ เรเน ฮาส (Rene Haas) ซึ่งจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่มหาวิทยาลัย Clarkson และจบปริญญาโท คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัย Stanford โดยก่อนที่จะเป็นซีอีโอของบริษัท ARM เขาเคยทำงานในตำแหน่งรองประธานและผู้จัดการทั่วไปด้านธุรกิจผลิตภัณฑ์ด้านการประมวลผลที่บริษัท Nvidia มา 7 ปี

‘ARM’ vs ‘NVIDIA’ ใครเหนือกว่าใคร น้องใหม่-พี่ใหญ่ อุตสาหกรรมชิป

- เรเน ฮาส ซีอีโอ ARM (เครดิต: ARM) -

  • เทียบจุดเด่น-รายได้ 2 บริษัท

สำหรับบริษัท Nvidia แต่เดิมในช่วงที่รู้จักในฐานะ “การ์ดจอเกม” มีรายได้เติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้บริษัทนี้เติบโตอย่างโดดเด่น คือ “ช่วงยุคทองของคริปโทเคอร์เรนซี” ซึ่งตรงกับช่วงปี 2564 จึงเกิดเหล่านักขุดบิตคอยน์มากมาย เพื่อล่าเงินบิตคอยน์หลักล้าน และการขุดแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้การ์ดจอ Nvidia จำนวนมาก เพื่อเพิ่มสมรรถนะการขุด 

ในปัจจุบัน แม้ราคาเหรียญคริปโทฯ เข้าสู่ยุคตกต่ำ แต่การเติบโตของ Nvidia กลับฟื้นกลับมา ด้วยการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่าง “ChatGPT” ที่สามารถตอบคำถามมนุษย์ได้อย่างสละสลวย และลักษณะการสื่อสารคล้ายมนุษย์อย่างยิ่ง 

การประมวลผลของ ChatGPT จำเป็นต้องพึ่งขุมพลังของการ์ดจอ Nvidia จำนวนมาก และสิ่งนี้ได้ทำให้บริษัท Nvidia เติบโตอย่างก้าวกระโดด ราคาทำสถิติสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนราคาหุ้นเคยขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ราว 500 ดอลลาร์ และลงมาที่ 440 ดอลลาร์ในปัจจุบัน ส่งผลให้บริษัทมีมูลค่ากว่า 1.1 ล้านล้านดอลลาร์หรือราว 39 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ บริษัทมีรายได้ 12 เดือน (สิ้นสุด 31 ก.ค.) เติบโตจากปีก่อนหน้า 9.9% อยู่ที่ 32,681 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.1 ล้านล้านบาท  

ขณะที่มีกำไรสุทธิ 12 เดือน (สิ้นสุด 31 ก.ค.) เติบโตจากปีก่อนหน้า 33.4% อยู่ที่ 10,325 ล้านดอลลาร์ หรือราว 368,375 ล้านบาท

ขณะที่บริษัท ARM เป็นบริษัทออกแบบชิป หรือส่วนมันสมองในสัดส่วนสูงถึง 99% ของสมาร์ทโฟนโลก หรืออาจเรียกได้ว่า “ผูกขาดธุรกิจออกแบบชิปสมาร์ทโฟน” ก็ว่าได้ อีกทั้งบริษัทที่มีมูลค่าแบรนด์สูงที่สุดในโลกอย่าง Apple ก็พึ่งพาสถาปัตยกรรมชิปจากบริษัท ARM จึงทำให้เหล่าบริษัทเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น Google บริษัทเสิร์ชเอนจินระดับโลก, Nvidia ผู้ผลิตชิปสำหรับเกมและปัญญาประดิษฐ์ (AI), Intel ผู้ผลิตชิปประมวลผลกลาง (CPU) และ TSMC ผู้รับจ้างผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต่างจับจ้องเป็นเจ้าของบริษัท ARM      

เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ARM เปิดขายหุ้นต่อสาธารณชนครั้งแรก (IPO) ที่ราคา 51 ดอลลาร์ต่อหุ้น และด้วยความที่บริษัทโด่งดัง และหุ้นเป็นที่ต้องการจากเหล่านักลงทุนอย่างมาก จึงทำให้ราคาล่าสุดของวันที่ 18 ก.ย.สูงกว่าราคา IPO มาอยู่ที่ 58 ดอลลาร์ต่อหุ้น จนบริษัทมีมูลค่าสูงถึง 81,920 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2.9 ล้านล้านบาท

ARM มีรายได้ 12 เดือน (สิ้นสุด 31 มี.ค.) ได้ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 1% มาอยู่ที่ 2,680 ล้านดอลลาร์ หรือราว 95,617 ล้านบาท

ขณะที่มีกำไรสุทธิ 12 เดือน (สิ้นสุด 31 มี.ค.) ได้ลดลงจากปีก่อนหน้าราว 5% มาอยู่ที่ 524 ล้านดอลลาร์ หรือราว 18,695 ล้านบาท

‘ARM’ vs ‘NVIDIA’ ใครเหนือกว่าใคร น้องใหม่-พี่ใหญ่ อุตสาหกรรมชิป - เทียบ Nvidia VS ARM (กราฟิก: กษิดิศ สิงห์กวาง) -

อ้างอิง: bangkokbiznewsarmftfortunemorningstarmacrotrendsbloombergreuters