นโยบายรัฐบาล 'เศรษฐา' ขาดกลไกดันเศรษฐกิจตัวใหม่

นโยบายรัฐบาล 'เศรษฐา' ขาดกลไกดันเศรษฐกิจตัวใหม่

รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องประกาศและผลักดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงดึงดูดให้กับประเทศไทย

การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 11-12 ก.ย.2566 นอกจากจะเป็นการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญเพื่ออธิบายและตอบคำถามต่อสมาชิกรัฐสภาเกี่ยวกับนโยบายที่จะใช้บริหารราชการแผ่นดินในช่วงปี 2566-2570 ยังเป็นการให้สัญญากับประชาชนอย่างเป็นทางการว่ารัฐบาลจะมีแนวทางในการแก้ปัญหาประเทศอย่างไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นนโยบายที่ตกผลึกร่วมของพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด

รัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข โดยยืนยันถึงความจำเป็นเพื่อดำเนินการนโยบายแจกเงินดิจิทัลให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปี ขึ้นไปทุกคน คนละ 10,000 บาท ซึ่งรัฐบาลคาดหวังว่าจะเป็นตัวจุดชนวนกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย การผลิตและการจ้างงาน รวมถึงรัฐบาลคาดหวังว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และรัฐบาลจะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาในรูปภาษี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการดำเนินนโยบายเงินดิจิทัลจะสร้างบรรยากาศการบริโภคให้คึกคัก แต่สิ่งที่น่ากังวลอยู่ที่การใช้งบประมาณสูงถึง 560,000 ล้านบาท โดยถ้าพิจารณาว่าเป็นเงินพิเศษที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นวงเงินที่สูงกว่าการออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้ปัญหาโควิด ในปี 2564 ที่วงเงิน 500,000 ล้านบาท ทั้งที่ปี 2564 เป็นปีที่ประเทศไทยอยู่ภาวะวิกฤติโควิด จึงไม่แปลกที่มีข้อเสนอให้รัฐบาลจ่ายเงินช่วยเหลือในวงจำกัด เช่น ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

นโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาครั้งนี้ มีความพยายามถึงการสร้างกลไกเพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจระยะยาว โดยรัฐบาลยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพ ซึ่งมีนโยบายผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ รวมถึงการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในประเทศเพื่อให้เป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ

รัฐบาลมีความจำเป็นที่ต้องสร้าง New growth engine ตัวใหม่นอกเหนือไปจากที่ระบุข้างต้นที่รัฐบาลจำเป็นต้องทำอยู่แล้วเพราะอยู่ในเทรนด์ของโลก โดยรัฐบาลจำเป็นต้องประกาศผลักดันเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเพื่อสร้างแรงดึงดูดให้กับประเทศไทย ไม่อย่างนั้นประเทศไทยจะตกขบวนและไม่สามารถยกระดับให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ซึ่งนายเศรษฐา เมื่อได้โอกาสเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วย่อมรู้ดีว่าจะทำอย่างไรเพื่อยกระดับประเทศให้ได้