'กรมการท่องเที่ยว' ผุดไอเดียแก้ปัญหาร้อน 'ทิ้งทัวร์'

'กรมการท่องเที่ยว' ผุดไอเดียแก้ปัญหาร้อน 'ทิ้งทัวร์'

‘กรมการท่องเที่ยว’ เปิดไอเดียแก้ปัญหา ทิ้งทัวร์-ไกด์นอมินี-ขบวนการธุรกิจสีเทา ดึงบริษัทนำเที่ยวรายใหญ่แบบ ‘โฮลเซล’ จดทะเบียนในระบบเป็นประเภทที่ 5 ต้องมีประสบการณ์เคยทำทัวร์ไทยเที่ยวนอก 2-4 ปี พร้อมชำระเงินจดทะเบียนเต็มจำนวน วางโมเดลเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท

นางศิริวรรณ พรเลิศวิวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาตรฐานธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า กรมการท่องเที่ยวมีแนวคิดแก้ปัญหาทิ้งทัวร์ ไกด์นอมินี และขบวนการธุรกิจสีเทา ด้วยการดึงบริษัทค้าส่งทัวร์รายใหญ่ (โฮลเซล) เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อหาผู้รับผิดชอบกรณีเกิดปัญหาและสามารถดำเนินการเอาผิดได้

โดยกำหนดประเภทธุรกิจนำเที่ยว (บริษัททัวร์) ขึ้นมาใหม่เป็นประเภทที่ 5 จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 4 ประเภท ซึ่งอาจจะนิยามบริษัทที่ขายทัวร์ให้กับบริษัทที่ทำทัวร์ด้วยกัน ว่า “ประกอบธุรกิจนำเที่ยวภายในราชอาณาจักรและภายนอกราชอาณาจักร รวมถึงการประกอบธุรกิจจัดโปรแกรมนำเที่ยวให้กับผู้ประกอบการนำเที่ยวรายอื่น” หากธุรกิจนำเที่ยวใดเข้าข่าย ก็จะจัดอยู่ในประเภทนี้ ทั้งนี้มีการกำหนดเป็นกฎหมายจำเป็นที่จะต้องกำหนดวงเงินหลักประกันและกำหนดโทษ

สำหรับการกำหนดคุณสมบัติบริษัททัวร์แบบโฮลเซล อาทิ

1.ต้องมีประสบการณ์ทำตลาดพาคนไทยไปต่างประเทศ (ทัวร์เอาต์บาวด์) ไม่น้อยกว่า 2-4 ปี ไม่ใช่เป็นรายใหม่แล้วจะมายื่นจดทะเบียนประเภทนี้ได้เลย

2.ยื่นขอจดต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น และต้องชำระเงินจดทะเบียนเต็มจำนวนเท่านั้น ซึ่งตั้งตุ๊กตาเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท

3.ต้องมีหนังสือรับรองการซื้อที่นั่งเที่ยวบินจากสายการบินไม่ต่ำกว่า 3 สายการบิน รวมที่นั่งไม่ต่ำกว่า 300 ที่นั่ง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปี 

นอกจากนี้ เพื่อให้เชื่อมโยงไปถึงมิติผูกพันระหว่างผู้รับผิด หากจะเขียนร่างโปรแกรมขายทัวร์ ต้องระบุในบรรทัดสุดท้ายด้วยว่า “บริษัท B ได้รับการส่งต่อจากบริษัท A” เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำหลักฐานดังกล่าวไปฟ้องร้องหรือเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการได้เมื่อเกิดปัญหา

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวอยู่ระหว่างการหารือของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กับกรมการท่องเที่ยวว่าข้อสรุปหลังจากนี้ จะดำเนินไปในทิศทางใด

นายอดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า จากแนวคิดของภาครัฐที่จะดูแลตลาดโฮลเซลโดยตรง เบื้องต้นจะมีการรับฟังความคิดเห็นก่อนในการนิยามเกี่ยวกับผู้ประกอบการทำตลาดโฮลเซล ซึ่งอาจจะมีการจดใบอนุญาตเฉพาะโฮลเซล และต้องวางหลักประกันไม่ต่ำกว่า 2 ล้านบาท ซึ่งประเด็นนี้ในอดีตเคยคุยกันมานานและหลายครั้งมาก จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าในอนาคตบริษัทใหญ่ควรทำตลาดที่กว้างขึ้น และวางหลักประกันที่มากขึ้น แต่เคยถูกคนต่อต้านว่าปลาใหญ่กินปลาเล็ก ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเรื่องนี้กรมการท่องเที่ยวจะต้องไปเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม

“ในต่างประเทศ เช่น จีน และไต้หวัน มีข้อกำหนดให้บริษัททัวร์แบบโฮลเซล ต้องวางหลักประกันเป็น 10 ล้าน เพราะมูลค่าการทำธุรกิจแบบนี้กระทบต่อคนวงกว้าง ดังนั้นบริษัทที่จะเข้ามาทำธุรกิจแบบนี้ ต้องมีหลักประกันความพร้อมในระดับหนึ่ง”