‘ท่องเที่ยว’ ส่งเสียง ‘รัฐบาลก้าวไกล’ จับตา ‘คูปองเมืองรอง’ แก้รายได้กระจุก

‘ท่องเที่ยว’ ส่งเสียง ‘รัฐบาลก้าวไกล’  จับตา ‘คูปองเมืองรอง’ แก้รายได้กระจุก

'ภาคท่องเที่ยว' จับตานโยบาย 'คูปองเมืองรอง' ของพรรคก้าวไกล หลัง 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' ว่าที่นายกฯ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้บนเวทีเสวนา จัดโดยเนชั่นกรุ๊ป เดือน ก.พ. 66 ก่อนเลือกตั้ง ว่าเป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วน ดึงนักท่องเที่ยวไป 'เที่ยวเมืองรอง' มากขึ้น

“จะมีประโยชน์อะไร ถ้าการท่องเที่ยวของประเทศไทย รายได้จากตลาดต่างประเทศ 2 ล้านล้านบาท กระจุกแค่ 5 จังหวัด หรือคิดเป็น 74% ของรายได้ แต่ที่เหลือไม่ได้รับประโยชน์อะไร”

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวไว้เช่นนั้นบนเวทีเสวนา “อนาคตประเทศไทย Economic Drives #เศรษฐกิจไทย...สตาร์ทอย่างไรให้ก้าวนำโลก” จัดโดย โพสต์ทูเดย์ x เนชั่นกรุ๊ป เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2566 ก่อนการเลือกตั้ง

บนเวทีดังกล่าว พิธา ได้กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจเร่งด่วน “100 วันแรก” เกี่ยวกับ 3 อุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย ทั้งภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และ “ภาคการท่องเที่ยว” ในช่วงถาม-ตอบท้ายงานด้วยว่า

“เป็นเวลานานที่รัฐบาลใช้งบประมาณจำนวนมากในการพยายามโปรโมตเมืองรอง อย่างที่ผมบอกว่ารายได้การท่องเที่ยวกว่า 74% กระจุกแค่ใน 5 จังหวัด เพราะฉะนั้นอีกกว่า 70 จังหวัดไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการที่นักท่องเที่ยวจีน 4-5 ล้านคนจะกลับมาในปีนี้หลังจากจีนเปิดประเทศ ผมเสนอว่าให้มี “คูปองเมืองรอง” ที่ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจอยากไปเมืองรอง เช่น แพร่ แม่ฮ่องสอน สตูล พัทลุง และเมืองอื่นๆ ที่นักท่องเที่ยวไม่ได้คิดที่จะไปตั้งแต่แรก เพราะการคมนาคมอาจจะไม่ดีพอ”

‘ท่องเที่ยว’ ส่งเสียง ‘รัฐบาลก้าวไกล’  จับตา ‘คูปองเมืองรอง’ แก้รายได้กระจุก

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2566 หลังชนะการเลือกตั้ง พิธา ได้โพสต์บน Instagram pita.ig ระบุว่า ตลอดการหาเสียง ลงพื้นที่ตอนเป็น ส.ส. ผมเห็นที่เที่ยวในประเทศไทยเยอะมาก และมีสถานที่น่าสนใจมากกว่าที่นักท่องเที่ยวไปกันเยอะๆ เสียอีก ผมอยากเห็นการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวจากโควิดครั้งนี้ คนมาเยอะขึ้นกว่าเดิม อยู่นานกว่าเดิม กระจายไม่กระจุกแค่หัวเมือง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

“ทั้งนี้ทั้งนั้น มีแนวทางใหม่ๆ segment ใหม่ๆ เยอะ แต่ เดินทางลำบาก แรงงานไม่พอ อุปสรรคทัวร์ไกด์ ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ก็ต้องแก้ไขไปด้วย แก้ทั้ง demand & supply”

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า นโยบายที่คิดเพื่อการท่องเที่ยวล้วนเป็นเรื่องดี ทาง สทท. ต้องการให้ พิธา ขยายความเกี่ยวกับไอเดีย “คูปองเมืองรอง” ให้ชัดเจนมากขึ้นว่าจะกระตุ้นนักท่องเที่ยวไปเมืองรองอย่างไร? เพราะเป็นนโยบายที่ดูเหมือนง่าย...แต่ไม่ง่าย! และเพื่อให้นโยบายคูปองเมืองรองมีประสิทธิภาพมากขึ้น มองว่าต้องร่วมคิดร่วมทำกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด

‘ท่องเที่ยว’ ส่งเสียง ‘รัฐบาลก้าวไกล’  จับตา ‘คูปองเมืองรอง’ แก้รายได้กระจุก

 

อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า อยากเห็นรัฐบาลใหม่ส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวในอนาคตทั้งฝั่งดีมานด์และซัพพลาย โดยเมื่อดูฝั่งซัพพลาย จะพบว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอี จึงต้องการให้รัฐบาลใหม่ออกมาตรการสนับสนุนทางการเงินและบุคลากร รวมถึงแก้ไขกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ ผลักดันให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

“ท่องเที่ยวคือเครื่องมือหลักในการสร้างรายได้และกระจายรายได้ แต่ปัญหาเชิงโครงสร้างรายได้ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในตอนนี้คือสัดส่วนรายได้กว่า 84.5% กระจุกอยู่ใน 7 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ที่ผ่านมามีการพูดถึงเรื่องกระจายรายได้สู่เมืองรองมาหลายปี แต่ท่อในคือยังไม่มีแผนงานที่ดีพอ แอตต้ามองว่าต้องยกระดับท่าอากาศยานตามเมืองต่างๆ รวมถึงการออกมาตรการอำนวยความสะดวกเรื่องวีซ่า เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าสู่เมืองรองมากยิ่งขึ้น”

‘ท่องเที่ยว’ ส่งเสียง ‘รัฐบาลก้าวไกล’  จับตา ‘คูปองเมืองรอง’ แก้รายได้กระจุก

 

ชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. กล่าวเพิ่มเติมว่า หนึ่งในปัญหาเร่งด่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ต้องการให้รัฐบาลใหม่คิกออฟดำเนินการแก้ไขทันที คือ “ปัญหาแรงงาน” ต้องยกให้เป็น “วาระแห่งชาติ” ทาง สทท.ขอเสนอแนะ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การพัฒนาฝีมือแรงงานท่องเที่ยวด้วยวิธี Upskill & Reskill ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลก้าวไกลที่ต้องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน โดย สทท.เตรียมจับมือกับกรมการท่องเที่ยวและกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงกับความต้องการของตลาดการท่องเที่ยว

“ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องการกดค่าแรง แต่ สทท.มองว่าควรขึ้นค่าแรงแบบขั้นบันได และขึ้นกับทักษะฝีมือแรงงานด้วย ทางภาครัฐจึงต้องมาช่วยเอกชนพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน ทั้ง Upskill และ Reskill ให้สอดรับกับค่าแรงที่จะมีการปรับขึ้น”

และ 2.การนำเข้าแรงงานต่างด้าวภาคท่องเที่ยว สทท.ขอเสนอให้เปิดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องคอยหลบเลี่ยง หรือซุกปัญหาไว้ใต้พรม โดยขอให้กระทรวงแรงงานสำรวจความต้องการจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกจังหวัด ว่าต้องการแรงงานต่างด้าวมากน้อยแค่ไหน

‘ท่องเที่ยว’ ส่งเสียง ‘รัฐบาลก้าวไกล’  จับตา ‘คูปองเมืองรอง’ แก้รายได้กระจุก

 

ด้าน มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า กรณีพรรคก้าวไกลมีนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาทต่อวัน โดยจะมีนโยบายช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่ไปด้วย ขอเสนอให้มีการลดภาษีให้ธุรกิจเอสเอ็มอีหักลดหย่อนได้ 2 เท่า เป็นเวลา 2 ปี น่าจะช่วยภาคธุรกิจได้ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ยังเผชิญปัญหาเงินทุนในการปรับปรุงสถานประกอบการเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไป

“ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 มากว่า 3 ปี แม้การฟื้นตัวดีขึ้นแต่ยังคงกระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก แต่โรงแรมขนาดเล็กไม่ได้ฟื้นตัวตามภาพรวมมากนัก”

ทีเอชเอ อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ในเรื่องชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ที่ต้องสอดคล้องกับ “ภาวะเศรษฐกิจ” และ “ความเป็นจริง” ขณะเดียวกันอยากให้ประเมินการปรับขึ้นในแต่ละอุตสาหกรรมหรือภาคบริการที่แตกต่างกัน เพราะแต่ละประเภทงานไม่ได้ใช้ทักษะหรือความสามารถที่เหมือนกัน ค่าจ้างแรงงานจึงไม่สามารถให้ในอัตราเดียวกันได้

“การปรับขึ้นค่าแรงอยากให้ประเมินในช่วงที่เศรษฐกิจดีขึ้นกว่านี้แล้วจึงทยอยปรับขึ้น ปัจจุบันการท่องเที่ยวยังไม่ได้ฟื้นตัวเท่าที่ควร นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไม่ได้มากเท่าคาดการณ์ไว้ โดยเฉพาะตลาดจีนกลับมาเที่ยวไทยน้อยกว่าคาด ธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวได้เพียง 70% เท่านั้น เทียบก่อนวิกฤติโควิด จะกลับได้เท่าปี 2562 ต้องรอปี 2567 ธุรกิจบางส่วนอาจต้องรอถึงปี 2568 ซึ่งไกลกว่าเดิมอีก”

‘ท่องเที่ยว’ ส่งเสียง ‘รัฐบาลก้าวไกล’  จับตา ‘คูปองเมืองรอง’ แก้รายได้กระจุก