'ปตท.' เกาะติดนโยบายรัฐบาลใหม่ 'คุมราคาน้ำมัน-อุ้มค่าไฟ' ทำได้จริงแค่ไหน

'ปตท.' เกาะติดนโยบายรัฐบาลใหม่ 'คุมราคาน้ำมัน-อุ้มค่าไฟ' ทำได้จริงแค่ไหน

ผู้ถือหุ้น ห่วงนโยบายการเมืองกระทบผลดำเนินงาน ปตท.ทั้งทางตรงทางอ้อม ปตท.แจงเกาะติดนโยบายพรรคการเมืองใกล้ชิด ทั้งนโยบายคุมราคาน้ำมัน การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า ทำได้จริงแค่ไหน เผยเตรียมรับมือนโยบายรัฐบาลใหม่ หวังบริหารความคาดหวังผู้มีส่วนได้ส่วนเสียงอย่างสมดุล

Key Points

  • พรรคก้าวไกลอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาล โดยพรรคเพื่อไทยขอบริหารกระทรวงพลังงาน
  • ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยมีนโยบายลดราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าให้ประชาชน
  • ผู้ถือหุ้น ปตท.กังวลนโยบายการเมืองจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัททั้งทางตรงและทางอ้อม
  • นโยบายหาเสียงที่อาจมีผลต่อการดำเนินงาน ปตท. เช่น การกำหนดราคาน้ำมัน การช่วยเหลือค่าไฟฟ้า

การจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้มีความคืบหน้าหลังจากที่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้ร่วมแถลงจัดตั้งรัฐบาลกับ 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคเพื่อไทยรวมพลังและพรรคพลังสังคม รวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 313 เสียง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการแบ่งกระทรวง โดยมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทย ต้องการบริหารกระทรวงพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยได้หาเสียงด้วยนโยบายพลังงาน 3 ประเด็น คือ 

1.ปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า ทันทีก๊าซเพื่อลดภาระในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวันให้ประชาชน

2.การเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกและสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง

3.สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ “พรรคก้าวไกล” มีนโยบายด้านพลังงานไว้ 2 เรื่องหลักๆ คือ

1.การลดค่าไฟฟ้า โดยต้องยกเลิกการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุน ซึ่งจะส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย

2.ผลักดันให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ โดยการไฟฟ้าฯ ต้องใช้ระบบ NET METERING แทนการรับซื้อไฟ้ฟ้าโซลาร์เซลล์ด้วยระบบ Net-billing เพื่อลดความยุ่งยากในการขายไฟคืนให้การไฟฟ้าฯ ซึ่งจะจูงใจให้ประชาชนหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์กันมากขึ้น

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้ถือหุ้นของ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้กังวลนโยบายรัฐบาลใหม่ถึงผลกระทบต่อการดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อมของ ปตท.

รวมทั้งทำให้มีผู้ถือหุ้นตั้งคำถามต่อ ปตท.ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2566 ที่ประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และ ปตท.ได้สรุปรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ส่งให้ผู้ถือหุ้น โดยสรุปคำชี้แจงต่อคำถามดังกล่าวไว้ว่า

"สำหรับนโยบายหาเสียงที่อาจส่งผลต่อบริษัทฯ จะเป็นนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการหาเสียงด้านราคาพลังงาน เช่น การกำหนดราคาน้ำมันหรือการให้ความช่วยเหลือภาคไฟฟ้า"

ทั้งนี้ต้องติดตามว่านโยบายดังกล่าวจะสามารถนำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่ และจะมีผลกระทบอย่างไร เนื่องจากธุรกิจพลังงานในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจการค้าเสรีมากขึ้น

รวมทั้ง ปตท.จะเตรียมความพร้อมในการรับมือการบริหารความคาดหวังจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างสมดุล

นอกจากนี้ มีผู้ถือหุ้นได้แสดงความกังวลถึงการที่ ปตท.นำเงินกำไรจากค่าการกลั่นน้ำมันดีเซล เพื่อช่วยประชาชนเป็นเวลา 3 เดือน รวม 3,000 ล้านบาท รวมถึงวงเงิน 6,000 ล้านบาท ที่ให้รัฐบาลตรึงค่าไฟฟ้า จะมีผลต่อการดำเนินงานของ ปตท.

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ระบุในที่ประชุมผู้ถือหุ้นถึงประเด็นการช่วยเหลือราคาพลังงาน ประกอบด้วย การช่วยเหลือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวน 3,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน ว่า ปตท.อยู่ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้ดี ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งคู่ค้า ลูกค้า และประชาชน เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ปี 2565 ราคาพลังงานค่อนข้างสูง ปตท. ได้จัดสรรสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาภาระประชาชน เพราะมองว่าประชาชนถือเป็นลูกค้าที่สำคัญ ที่ซื้อพลังงานจาก ปตท. ที่ให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์จากกลุ่มปตท. ยืนยันว่าการเข้าไปช่วยสนับสนุนมีความเหมาะสมและปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งคัด

ส่วนประเด็นการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า 6,000 ล้านบาท นั้น แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ปตท. ช่วยเหลือ จึงได้มีการพูดคุยในส่วนนี้

ทั้งนี้ ปตท.ไม่ได้ให้เป็นเงินบริจาคสนับสนุน แต่ใช้วิธีนำผลต่างจากการบายพาสแก๊ส โดยนำก๊าซจากอ่าวไทยส่วนหนึ่ง คือ ต้องเข้าโรงแยกแก๊สเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นปิโตรเคมี และนำมาผลิตไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาตัวผลิตภัณฑ์แคบจุดคุ้มทุนรันโรงงานไม่เต็มที่ ความต้องการวัตถุดิบจากโรงแยกก๊าซน้อยลง จึงนำไปเพิ่มในส่วนของบายพาสแก๊สแทนเพื่อให้มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า LNG และคิดเป็นมูลค่า เป็นต้น

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ ปตท.กล่าวในที่ประชุมผู้ถือหุ้นว่า คณะกรรมการ ปตท.พยายามรักษาสมดุลให้การดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้ทุกฝ่ายเป็นอย่างดี