‘อรรถพล’ แจงผู้ถือหุ้น ปตท. เคลียร์ปมบริจาค 3 พันล้าน อุ้มกองทุนน้ำมัน

 ‘อรรถพล’ แจงผู้ถือหุ้น ปตท. เคลียร์ปมบริจาค 3 พันล้าน อุ้มกองทุนน้ำมัน

"อรรถพล" ซีอีโอ ปตท. แจงผู้ถือหุ้นในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 ถึงปมการมอบเงินบริจาคเข้ากองทุนน้ำมัน 3,000 ล้าน พร้อมยอมหั่นสัดส่วนก๊าซในอ่าวไทยมาช่วยลดภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้า 6,000 ล้าน

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 เมื่อวันที่ 12 เม.ย.2566 เป็นการประชุมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในระหว่างการประชุมมีการสอบถามหลายประเด็นจากผู้ถือหุ้น รวมถึงประเด็นที่รัฐบาลขอให้ ปตท.เข้ามาช่วยเหลือราคาพลังงาน

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ตอบข้อซักถามผู้ถือหุ้นประเด็นนำเงินไปช่วยเหลือกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 3,000 ล้านบาท เป็นเวลา 3 เดือน ว่า ปตท.อยู่ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ และอยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจให้ดี ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งคู่ค้า ลูกค้า และประชาชน เพื่อให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน 

ทั้งนี้ ปี 2565 ราคาพลังงานค่อนข้างสูง ปตท. ได้จัดสรรสนับสนุนงบประมาณดังกล่าวเพื่อช่วยบรรเทาภาระประชาชน เพราะมองว่าประชาชนถือเป็นลูกค้าที่สำคัญ ที่ซื้อพลังงานจาก ปตท.ผลประกอบการได้รับการสนับสนุนจากผลิตภัณฑ์ ยืนยันว่าการเข้าไปช่วยสนับสนุนมีความเหมาะสมและปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับอย่างเคร่งคัด

ส่วนประเด็นการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า 6,000 ล้านบาท นั้น แม้ว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ปตท. ช่วยเหลือ จึงได้มีการพูดคุยในส่วนนี้ โดย ปตท.ไม่ได้ให้เป็นเงินบริจาคสนับสนุน แต่ใช้วิธีนำผลต่างจากการบายพาสแก๊ส โดยนำก๊าซจากอ่าวไทยส่วนหนึ่ง คือ ต้องเข้าโรงแยกแก๊สเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นต้นปิโตรเคมี และนำมาผลิตไฟฟ้า โดยที่ผ่านมาตัวผลิตภัณฑ์แคบจุดคุ้มทุนรันโรงงานไม่เต็มที่ ความต้องการวัตถุดิบจากโรงแยกก๊าซน้อยลง จึงนำไปเพิ่มในส่วนของบายพาสแก๊สแทนเพื่อให้มีต้นทุนต่ำกว่าการนำเข้า LNG และคิดเป็นมูลค่า เป็นต้น

 สำหรับข้อสอบถามประเด็นในเรื่องของกำไรไตรมาส 3 ปี 2565 ลดลง นั้น จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผลดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2565 ราคาน้ำมัน ปิโตรเคมี สูงมาก มาจากปัจจัยสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งผลดำเนินงานไตรมาส 1-2 ปี 2565 ดีจริง และไตรมาส 3 ผลดำเนินงานลดลง ปัจจัยส่งผลกระทบในเชิงลบ ตามราคาน้ำมันตลาดโลกที่ลดลง 

อีกทั้ง โรงแยกก๊าซฯ ก็อิงราคาน้ำมันตลาดโลกเช่นกัน โดยไตรมาส 3 ค่าการกลั่นลดลง ปิโตรเคมีก็ลดลง โดยกลุ่ม ปตท.ขาดทุนจากสต็อกน้ำมัน และอีกปัจจัยสำคัญ คือค่าเงินบาที่อ่อนตัวลงถึง 2 บาท ต่อดอลลาร์

ทั้งนี้ กลุ่มปตท.มีกรอบนโยบายบริหารความเสี่ยงและความผันผวนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่มีความผันผวนด้วยการทำเฮดจิ้นในสัดส่วนไม่เกิน 50% ของปริมาณทั้งหมดเพื่อลดคามผันผวนของราคา โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงที่ราคาพลังงานมีความผันผวน กลุ่มปตท.ได้เข้าซื้อราคาในเปเปอร์มาเก็ตเพื่อชดเชย และลดความเสี่ยงในการค้าขาย โดยปีที่ผ่านมา มีการกระชากราคาพอสมควร อย่างที่ทราบจากปัจจัยสครามทางการเมืองต่างประเทศ โดยช่วงเดือน ก.พ. ราคากระชากสูงขึ้นมาก รวมถึงค่าการกลั่นที่สูงขึ้นด้วย และเกิดตัวเลขทางบัญชีที่ทำให้เกิดต้นทุน จากราคาที่กระโดดดังกล่าว
 
“ช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น จะเห็นว่า ค่าการกลั่น หรือราคาน้ำมัน ทำตัวเลขตามตลาด แต่ในความเป็นจริงไม่สามารถซื้อน้ำมันดิบได้ตามราคาในตลาด เพราะเกิดการคิดค่าพรีเมียม จึงมีผลต่างตรงนี้ โดยรวมการทำเฮจจิ้ง หรือประกันความเสี่ยงของปตท.เพื่อลดความผันผวนราคา แต่ราคาตลาดมีความผันผวน ปตท. จึงปรับให้มีความเหมาะสมอย่างระมัดระวัง พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อสามารถปรับพอร์ตการทำเฮจจิ้งได้ทัน”